บี แอนด์ จี พาร์ค B&G โชว์ศักยภาพผู้พัฒนาอาคารสำนักงาน "อินเตอร์เชนจ 21” ทำเลใจกลางย่านธุรกิจ ตั้งเป้าระดมทุนไตรมาส 3 หลังไฟลิ่งได้รับการอนุมัติจัดตั้งกองทรัสต์ BGREIT มั่นใจดีมานด์เติบโตท่ามกลาง โควิด-19
ประกาศความพร้อมเดินหน้าจัดตั้งกองทรัสต์ BGREIT เพื่อเข้าระดมทุนในโครงการอินเตอร์เชนจ 21 เป็นระยะเวลาประมาณ 25 ปี รวมมูลค่าเงินระดมทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 8.04 พันล้านบาท โดยมาจากการระดมทุนจำนวนไม่เกิน 6.54 พันล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวนไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในไตรมาส 3 ปี 2563 นี้ “เรามีนโยบายการลงทุนทรัพย์สินประเภทอาคารสำนักงานเกรด A พื้นที่สำนักงานให้เช่าและพื้นที่ค้าปลีก ในทำเลที่มีศักยภาพเติบโตสูง หรือลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ พร้อมสร้างแบรนด์ บี แอนด์ จี พาร์ค ให้เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลุ่มอาคารสำนักงานรวมถึงโรงแรมชั้นนำ” เทพฤทธิ์กล่าวถึงการลงทุนและการตอกย้ำแบรนด์ B&G ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ เช่น โรงแรมอวานี หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ วิลล่าส์ และธุรกิจอาคารสำนักงาน ได้แก่ โครงการอินเตอร์เชนจ 21 สำหรับจุดเด่นของโครงการอินเตอร์เชนจ 21 เป็นโครงการที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาและบริหารในส่วนอาคารสำนักงานและร้านค้าปลีกให้เช่าระดับเกรด A ในทำเล Super Prime Area ตั้งอยู่ใจกลางเขตเศรษฐกิจย่านอโศก-สุขุมวิท ซึ่งเป็นจุดตัดถนน 2 เส้นทางหลัก และยังเป็นจุดเชื่อมต่อที่สามารถเดินทางเข้าสู่ภายในอาคารจากระบบขนส่งมวลชนทั้ง 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้า BTS สถานีอโศก และรถไฟฟ้า MRT สถานีสุขุมวิท รวมทั้งยังตั้งอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และร้านอาหารชั้นนำ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จำนวนมาก นอกจากนั้น บริษัทยังได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาบริหารจัดการภายในอาคาร ทำให้ตัวอาคารได้รับรางวัลต่างๆ รวมถึงการออกแบบอาคารและการจัดสรรพื้นที่เช่าเพื่อรองรับและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เช่าได้หลากหลายธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น สถาบันการเงิน ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น ส่งผลให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาคารในโครงการอินเตอร์เชนจ 21 มีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยกว่าร้อยละ 95 ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ร้านค้าปลีก ปรับรูปแบบการให้บริการ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทำให้ทิศทางหรือแนวโน้มตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ และความต้องการเช่าพื้นที่ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ขนาดใช้สอยพื้นที่ที่เล็กลงเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการทำงานรูปแบบ Work from home ซึ่งผู้ประกอบการในหลายภาคธุรกิจ ได้ปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ โดยเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของพนักงาน ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้ามานั่งทำงานในออฟฟิศ รวมถึงการปรับพื้นที่การนั่งทำงานใหม่สำหรับพนักงานที่ยังมีความจำเป็นต้องเข้ามาปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการเตรียมความพร้อม และดำเนินการปรับตัวมาก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์ข้างต้น โดยมองว่ากลยุทธ์การกำหนดอัตราค่าเช่าเพื่อแข่งขันกับผู้ให้บริการสำนักงานให้เช่ารายอื่นๆ ไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะสมในปัจจุบัน แต่ควรใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการพื้นที่การปล่อยเช่าของอาคาร และการติดต่อกับผู้เช่าอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการที่เอื้อต่อการดำเนินกิจการต่อผู้เช่า เช่น ปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางและพัฒนางานระบบให้อาคารมีความทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของผู้เช่าพื้นที่ เพื่อดึงดูดให้ผู้เช่ายังคงเช่าพื้นที่และต่อสัญญาเช่ากับอาคารต่อไป “ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ มีมาตรการเชิงรุกช่วยเหลือผู้เช่าในการจัดสรรพื้นที่สำนักงานให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เช่าพื้นที่ ทำให้ทางอาคารมีความหลากหลายของธุรกิจที่เป็นผู้เช่ารายย่อย ส่วนผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทางบริษัทฯ ได้ช่วยเหลือผู้เช่าที่ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ข้างต้น และต้องหยุดดำเนินการประกอบธุรกิจ ทางบริษัทฯ จึงพิจารณายกเว้นการเก็บค่าเช่า หรือบางธุรกิจที่มีผลกระทบบ้างแต่ยังคงเปิดดำเนินกิจการได้ ทางบริษัทฯ จะพิจารณาปรับลดค่าเช่าจากอัตราตามสัญญาเช่าปกติเป็นรายกรณี เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้ผู้เช่าพื้นที่ให้ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยความช่วยเหลือดังกล่าวน่าจะสิ้นสุดเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบต่อผู้เช่าอย่างมีสาระสำคัญในการเช่าพื้นที่ และยืนยันว่าจะไม่ส่งกระทบต่อการลงทุนของกองทรัสต์ฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้” ทั้งนี้ ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสำนักงาน (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหน่วยทรัสต์ (ไฟลิ่ง) ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ บี แอนด์ จี (B&G Leasehold Real Estate Investment Trust: BGREIT) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีบริษัท บี แอนด์ จี รีท แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ B&G เป็นผู้จัดการกองทรัสต์ และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน อ่านเพิ่มเติม: “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ท่ามกลางปีแห่งความท้าทายไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine