"ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" ท่ามกลางปีแห่งความท้าทาย - Forbes Thailand

"ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" ท่ามกลางปีแห่งความท้าทาย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ลุกลามและสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งการเงิน และการลงทุน โดยเฉพาะ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก

เริ่มตั้งแต่ต้นปีนี้ก่อนสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะแพร่ระบาดรุนแรง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงถึง 16.75 ล้านล้านบาท แต่หลังปะทะกับ COVID-19 ในช่วง 3 เดือนให้หลัง มูลค่าได้ปรับลดลงกว่า 4.5 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 12.25 ล้านล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 27 เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้ดัชนีหุ้นผันผวนรุนแรง นอกจากไวรัสที่กดดัชนีให้ลงลึกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนยังสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ด้วยการใช้มาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวหรือเซอร์กิต เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) เนื่องจากดัชนีลดลงแตะร้อยละ 10 ติดต่อกันถึง 3 ครั้งภายในเดือนเดียว โดยในวันที่ 13 มีนาคม ดัชนีหุ้นปรับระดับลงจนหลุด 1,000 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ 969.08 จุด “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างรุนแรง แต่ยังคงเป็นการปรับตัวลงที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก” ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัจจัยลบและภาวะกดดันจากสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีบทสรุป และการฝ่าด่านความท้าทายครั้งสำคัญ รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล สำหรับในปี 2563 นับเป็นปีที่มีความท้าทายต่อทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนจากหลายปัจจัยที่กระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ทั้งที่คาดการณ์ไว้แล้ว เช่น ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความเห็นต่างเรื่องการลดเพดานการผลิตน้ำมันระหว่างโอเปคกับพันธมิตร และปัจจัยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจและสภาวการณ์ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป ขณะเดียวกัน สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาที่กระทบต่อหลายด้าน ทั้งเป็นความท้าทายของภาคประชาชนและผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว รวมถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องซับซ้อนในอนาคต ด้วยความพร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอนที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยความท้าทายสำคัญอยู่ที่เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้เกิดวิธีการและช่องทางใหม่ตลอดจนรูปแบบธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีก โดยโลกจะเปลี่ยนไปจากในอดีต และรูปแบบการทำงานใหม่เกิดขึ้น เช่น Work From Home ภากรเล่าว่า อีกด้านของสถานการณ์โรคระบาดยังทำให้ได้เห็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพขึ้น เพราะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ยกตัวอย่างเรื่องการประชุม ที่เมื่อก่อนต้องเดินทางไปเจอกันเพื่อไปนั่งคุยปรึกษาหารือกัน แต่ปัจจุบัน ใช้การวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ได้ประสิทธิภาพเท่ากัน หรือดีกว่า ยิ่งในอนาคตเมื่อทุกคนเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการทำงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก็ยิ่งสะท้อนผลความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ “ผมมองว่า พวกเราในตลาดทุน ในฐานะหนึ่งในกลไกของระบบเศรษฐกิจ ต้องมาช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก นี่จะยังเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบและกลไกเก่าๆ โดยสิ้นเชิง” สำหรับตลาดทุนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องพิสูจน์ว่า จะก้าวผ่านวิกฤตปัจจัยที่เข้ามากระทบนี้ให้ได้ ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ด้านคือ การทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ (Efficiency) และการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตร (Partnership) โดยกฎระเบียบและการกำกับดูแลต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรู้เท่าทันเทคโนโลยี ระบบการศึกษา ซึ่งรวมถึงการพัฒนาคุณภาพของคนต้องรองรับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถดำเนินการและบริหารจัดการได้ต่อเนื่องด้วยระบบซื้อขายที่มีเสถียรภาพ ให้สภาพคล่องกับผู้ลงทุน สามารถซื้อขายได้เมื่อต้องการ ขณะเดียวกัน ก็สร้างความเชื่อมั่นถึงพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย และโอกาสการลงทุนที่ดี ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือและเสริมเสถียรภาพของตลาด สร้างความมั่นใจให้ผู้ร่วมตลาดทุนอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น การปรับปรุงเกณฑ์ชอร์ตเซลลิ่ง (Short Selling) การปรับเกณฑ์เซลลิ่ง แอนด์ฟลอร์ (Ceiling & Floor) และเซอร์กิต เบรกเกอร์ เป็นต้น "ประเด็นที่ทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญมากขึ้นคือ การบริหารความเสี่ยง หรือ Risk Management และเรื่องการสร้างการเติบโตไปด้วยกันทุกภาคส่วน หรือ Inclusive Growth ทุกคนทุกกลุ่มต้องรอดไปด้วยกัน”   สถานการณ์การลงุทนครึ่งปีหลัง 2563 ด้านสถานการณ์การลงทุนในครึ่งปีหลัง 2563 ภากรระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ เนื่องจากราคาหลักทรัพย์ทั่วโลกได้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ย 20-30% เปรียบเทียบกับราคาเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งหากมีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างประเทศและสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 คลี่คลายก็ถือเป็นโอกาสการลงทุนในระยะยาว “ถ้าธุรกิจที่ท่านคิดจะลงทุนเป็นธุรกิจที่มีอนาคตดี มีความสามารถในการทำกำไรดี ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะลงทุน ไม่ว่าจะอยู่ในแอสเสต หรือสินทรัพย์กลุ่มไหน เนื่องจากสินทรัพย์ทุกกลุ่ม ราคาปรับตัวลงหมด ต้นทุนที่ปรับตัวลดลงมาร้อยละ 20-30 นี้ ถือว่าเป็นราคาต้นทุนและเวลาที่น่าสนใจ” สำหรับการดำเนินงานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะจากสภาพการณ์ของโลก และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง จะส่งผลต่อมุมมองธุรกิจ ซึ่งนักลงทุนต้องวิเคราะห์การลงทุนให้รอบคอบ โดยเฉพาะทิศทางของธุรกิจที่ลงทุนให้สอดคล้องกับอนาคตของโลก “กำไรบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกจะปรับตัวลดลงหมด ไม่เฉพาะในประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าอยากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก็ควรเปรียบเทียบกับคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเชื่อว่าในปีนี้ เศรษฐกิจทั่วโลกจะปรับตัวช้าลง และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกจะถูกกระทบรุนแรง” ขณะที่โจทย์อนาคตสำหรับการลงทุนคือ โลกในอนาคตที่เปลี่ยนไปวิสัยทัศน์และการคาดการณ์ต้องแม่นยำ โดยเมื่อสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะคลี่คลาย ธุรกิจใดที่จะได้ประโยชน์ ซึ่งการฟื้นตัวของธุรกิจและแต่ละอุตสาหกรรมจะใช้ระยะเวลาไม่เท่ากันอย่างแน่นอนควรโฟกัสยังธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวเร็ว และบริษัทใดในกลุ่มธุรกิจนั้นที่สามารถปรับตัวได้เร็วที่สุด “ผมหวังว่า ปัจจัยผลกระทบจากโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างครั้งนี้ จะช่วยให้พวกเราใช้ความระมัดระวังในการลงทุน ในทุกวิกฤตมีโอกาส ต้องระมัดระวัง แต่อย่ามองโลกแง่ร้ายจนเกินเหตุ” ภากรกล่าวปิดท้ายถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งตลาดทุน ธุรกิจ และประชาชนเพื่อให้รอดพ้นจากเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ที่จะมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในอนาคต “การลงทุนในอนาคตต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น โลกในอนาคตจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในอัตราก้าวกระโดด ถ้าเรายังไม่ปรับตัว เราคงจะแข่งขันกับคนอื่นได้ยาก” บทความโดย ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อ่านเพิ่มเติม: หอการค้าญี่ปุ่น มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังกระเตื้อง  
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "Wealth Management & Investing 2020" ในรูปแบบ e-magazine ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย