เมื่อกระแส Green และความยั่งยืนเกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ทุกธุรกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานต้องปรับตัว หนึ่งในนั้นคือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ที่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ยังมาจากพลังงานถ่านหินเป็นหลัก ไหนจะปัจจัยโลกที่ทำให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น จึงทำให้ต้องเร่งปรับแผนธุรกิจ และแผนการลงทุนเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU เล่าว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำแผนต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ย. 2567 นี้ แต่เบื้องต้นยังมีเป้าหมายหลักคือการลดสัดส่วน EBIDTA ของถ่านหินให้ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่อยู่ราว 60% ขณะที่จะมุ่งเน้นรายได้จากธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างสมดุลในพอร์ตของบริษัทให้ดียิ่งขึ้น เช่น ธุรกิจก๊าซ พลังงานสะอาด แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ
นอกจากนี้แม้จะมีความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ และเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่น่าจะเติบโตราว 2-3% ยังคงมองว่าพลังงานเป็นธุรกิจต้นน้ำ เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นผลกระทบอาจน้อยกว่าธุรกิจอื่น ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 นี้ ยังมุ่งเน้นการดำเนินงานของธุรกิจให้ราบรื่น ผ่านการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และเดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) มีความคืบหน้าจากโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) ในสหรัฐฯ ที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (CSG) ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งใน Scope 1 2 และ 3
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทย่อยของบ้านปูในสหรัฐฯ BKV Corporation (BKV) ได้ขายสินทรัพย์ในธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำบางส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักในแหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 132 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโครงการ Ponder Solar โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ในแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเท็กซัส มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 2567 โครงการนี้ถือส่วนสำคัญที่ BKV จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 2 จากธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง
ส่วนผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 2,441 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 88,425 ล้านบาท) และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 650 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,547 ล้านบาท) ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 69 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,489 ล้านบาท) หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังปรับลดลง สาเหตุเพราะมีรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวมูลค่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน มุ่งควบคุมประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด โดยตั้งเป้าลดต้นทุนในธุรกิจเหมืองที่ 1.5 - 3.0 เหรียญสหรัฐต่อตัน และในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ 0.06 - 0.07 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ BKV ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลางกับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc. และ Kiewit Infrastructure South Co. โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้มาพร้อมกับก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลางของ BKV มาจากการดำเนินโครงการ CCUS และเมื่อได้รับการรับรองจาก American Carbon Registry แล้ว คาดว่าจะสามารถส่งมอบก๊าซดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี 2567
- กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน โดยในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ II ในสหรัฐฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้า 288 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นหลังการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple II ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ยังมีรายได้จาก โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย
- กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ในครึ่งแรกของปี 2567 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาใหม่เพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม กำลังผลิตรวม 1.9 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตที่ดำเนินการแล้วเพิ่มขึ้น 4.1 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ขณะที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop PPA) ในอินโดนีเซีย จำนวน 10 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มเดินหน้าสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่การก่อสร้างโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าตามแผนถึง 97%
ส่วนในไทยยังมีธุรกิจอีโมบิลิตี้ เช่น รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ส่วนธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ขยายระบบผลิตความเย็นของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี และมีการลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต
*หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่ 35.6601 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และ ไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ 36.7083 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สินนท์ ว่องกุศลกิจ “บ้านปู เน็กซ์” ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาด
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine