อลิอันซ์ จับตาเลือกตั้งสหรัฐ จุดเปลี่ยนโลกเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย ตอกย้ำปัญหาดั้งเดิม ‘ความเหลื่อมล้ำ-หนี้สูง’ - Forbes Thailand

อลิอันซ์ จับตาเลือกตั้งสหรัฐ จุดเปลี่ยนโลกเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย ตอกย้ำปัญหาดั้งเดิม ‘ความเหลื่อมล้ำ-หนี้สูง’

ต้นเดือน พ.ย. 67 นี้ สหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลก ทั้งนโยบายภาษี การค้า ฯลฯ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย โดยกลุ่มอลิอันซ์ประเมินว่า ปี 2567 นี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.7% และในปี 2568 ที่ 3.2% ซึ่งไทยยังมีความเสี่ยงหลักคือ เรื่อง หนี้สาธารณะ และหน้ีครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงทางการต้องเร่งทำนโยบายที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการกระจายความมั่งคั่งในไทยที่ไม่สมดุล


    นายลูโดวิค เซอร์บราน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของกลุ่มอลิอันซ์ เปิดเผยว่า หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยและโลกที่ต้องจับตามองในระยะนี้คือ การเลือกตั้งของสหรัฐที่จะเกิดขึ้นใน 5 พ.ย. 2567 นี้ ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนด้านนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐและส่งผลต่อนโยบายการค้าทั่วโลก อาทิ

    กรณีที่หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าจะเห็นการตั้งกำแพงภาษีกับจีน ซึ่งอาจกระทบต่อการค้าโลก รวมถึงอาจกระทบต่อค่าเงินบาท จากนโยบายที่มุ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ขณะที่แนวทางนโยบายและมาตรการต่างๆ ของทรัมป์ที่จะออกมาในระยะต่อไปเชื่อว่า แม้ระยะสั้นอาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น แต่เมื่อเงินไหลเข้าระบบจำนวนมากและเงินเฟ้อสูงขึ้น (ภาคครัวเรือนรัดเข็มขัดลงค่าใช้จ่าย) ซึ่งจะทำให้ในระยะกลางอาจเห็นภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว กลายเป็นความเสี่ยงว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐชะลอลง อาจส่งผลกระทบต่อโลกอีกด้วย

    ทั้งนี้ อลิอันซ์ คาดว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับปานกลาง ที่ราว 2.8% ต่อปี โดยเศรษฐกิจสหรัฐยังเป็นช่วยหนุนการขยายตัวนี้ ขณะที่ฝั่งเอเชีย ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตราว 5% ท่ามกลางความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ และแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนขึ้นแต่อาจยังไม่กลับมาฟื้นตัวมากนัก

    ส่วนเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกคาดการณ์ว่า GDP ปี 2567 อยู่ที่ 4.2% มาจากแรงส่งของอินเดียและกลุ่มประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตามในส่วนของไทยพบว่าเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าเอเชียแปซิฟิก

    ปี 2567 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.7% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากภาคการบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยว (ยังไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงก่อน COVID-19) รวมถึงภาคการผลิตที่กลับมาดีขึ้น ซึ่งแรงส่งเหล่านี้ยังทำให้ในปี 2568 คาดว่า GDP ไทยจะอยู่ที่ 3.2% และในระยะสั้นนี้คาดว่าจะเห็นโครงการต่างๆ ของรัฐเริ่มเดินหน้าซึ่งทำให้ภาคการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น

    ส่วนหนึ่งที่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มาจากนโยบายแบบผสมผสานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนนโยบายการเงินด้วยความระมัดระวัง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่รัฐบาลจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการผ่อนคลายมาตรการและการรักษาวินัยทางการคลัง รวมถึงต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง

    ในด้านความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ยังคงเป็นปัญหาดั้งเดิม เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ภาครัฐต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของประชากรไทย รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง (91% ของ GDP) ขณะเดียวกันโดยสินทรัพย์ทางการเงินของคนไทยลดลง 1.9% (ลดทั้งหลักทรัพย์และเงินฝากธนาคาร)ในปี 2566 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี 2551

    นอกจากนี้ ทางการยิ่งต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรมากขึ้นในอนาคต เพราะไทยมีปัญหาการกระจายความมั่งคั่งที่ขาดสมดุล โดยประชากรกลุ่มมั่งคั่งเพียง 10% เป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงิน 76% ของสินทรัพย์ทางการเงินรวมสุทธิของประเทศ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นกว่า 20 ปีแต่กลับยังไม่ดีขึ้น

    อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยนอกประเทศ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์สหรัฐฯ -จีน และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความตึงเครียดฝั่งทะเลจีนใต้-ไต้หวัน ไปจึงถึงนโยบายทางการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงซึ่งจะส่งผลต่อไทยด้วย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รัฐอัดฉีดเงินระยะสั้นอาจมีผลแค่ ‘ชั่วคราว’ แม้ GDP ไทยอาจโตขึ้นใน 1-2 ปี แต่ระยะยาวเสี่ยงโตต่ำ 2.5%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine