รัฐอัดฉีดเงินระยะสั้นอาจมีผลแค่ ‘ชั่วคราว’ แม้ GDP ไทยอาจโตขึ้นใน 1-2 ปี แต่ระยะยาวเสี่ยงโตต่ำ 2.5% - Forbes Thailand

รัฐอัดฉีดเงินระยะสั้นอาจมีผลแค่ ‘ชั่วคราว’ แม้ GDP ไทยอาจโตขึ้นใน 1-2 ปี แต่ระยะยาวเสี่ยงโตต่ำ 2.5%

หลังจาก ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี เล่าถึงผลดีของโครงการ Digital Wallet ฉบับปรับปรุงที่ได้แจกจ่ายเงินออกไปสู่ประชาชนกลุ่มเปราะบางในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจากเดิมตั้งเป้าไว้ว่าจะกระจายเม็ดเงินกว่า 500,000 ล้านบาท แต่ถูกหั่นเหลือราว 140,000 ล้านบาท และเรียกชื่อใหม่ว่าโครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ


    ล่าสุด 16 ต.ค. 2567 ยังประกาศโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจนาน 5 เดือน (ก.ย. 2567 - ม.ค. 2568) ที่จะเน้นผู้ประกอบการรายเล็กซึ่งมีสัดส่วน 95% ของผู้ประกอบการทั้งหมด โดยเชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยถึง 110,000 ล้านบาท แบ่งรายละเอียดในโครงการเป็น 3 ส่วน ได้แก่

    1) การลดต้นทุน ผ่านการลดค่าเช่าร้านค้า /ค่าเช่าแผง ในพื้นที่หน่วยงานราชการและพื้นที่เอกชนที่เข้าร่วม เช่น พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (คาด 11,000 ราย) พื้นที่ของกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานราชการ ฯลฯ

    2) การเพิ่มพื้นที่ค้าขายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ผ่านการสนับสนุนพื้นที่จากหน่วยงานราชการ และพื้นที่ของเอกชน

    3) การลดค่าครองชีพให้ประชาชน เช่น ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค จัดงานมหกรรมลดราคาสินค้า ฯลฯ
หลายฝ่ายยังคงติดตามว่า รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาคส่วนใดบ้าง เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยว อย่าง Digital Wallet เฟส 2 คนละครึ่ง หรือควรมีมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีสต็อกคงค้างอยู่มาก ไปจนถึงมาตรการที่ช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง

    ฝั่ง KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ล่าสุดมีการปรับประมาณการ GDP ไทยปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จากเดิมที่ 2.6% และปี 2568 เป็น 3.0% จากเดิมที่ 2.8% โดยมีปัจจัยบวกจาก

    1) มาตรการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 (ราว 142,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.7% ของ GDP) และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ตั้งรอไว้สำหรับปี 2568 อีกราว 150,000-180,000 ล้านบาท (คิดเป็นประมาณ 0.8-0.9% ของ GDP)

    2) การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังกระจุกในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก

    ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ และเห็นแนวโน้มสถานการณ์การเมืองไทยที่มั่นคงขึ้นในระยะสั้น ทำให้นักลงทุนบางส่วนมีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการในสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งภาครัฐมีการประกาศแผนแก้ปัญหาในหลายประเด็น โดย KKP Research ประเมินว่านโยบายที่สำคัญ คือ

    1) การปรับโครงสร้างหนี้

    2) การส่งเสริมและปกป้องผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลางจากการแข่งขันจากต่างประเทศ

    3) การให้ความช่วยเหลือด้านราคาพลังงานและสาธารณูปโภค

    4) การดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบ

    5) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

    อย่างไรก็ตาม KKP Research ยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของภาครัฐ จากหลายนโยบายยังไม่มีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทยที่ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการดำเนินนโยบายภาครัฐ และข้อจำกัดด้านหนี้สาธารณะของภาครัฐ โดยในสถานการณ์ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อ GDP ของภาครัฐกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าสู่ระดับ 70% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะก่อนแผนการใช้นโยบายขาดดุลการคลังที่มากขึ้นในอนาคต

    ดังนั้น ในภาพรวม KKP Research ยังคงประเมินว่าการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยยังเป็นการปรับตัวดีขึ้นเพียงชั่วคราว ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ถึงกลางปีหน้า แต่หากยังไม่มีการผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงปัญหาความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงตามภาคการผลิตและตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างเป็นรูปธรรม เศรษฐกิจไทยจะกลับมามีแนวโน้มโตต่ำกว่า 2.5% ในระยะยาว



Photo by Norbert Braun on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เมื่อที่ประชุมแบงก์ชาติรอบล่าสุดเสียงแตกประกาศ ‘หั่น’ ดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี แต่จะเริ่มลดครั้งต่อไปเมื่อไร?

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine