Amundi วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง แนะลงทุน 'ตราสารหนี้' ในตลาดเกิดใหม่ - Forbes Thailand

Amundi วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง แนะลงทุน 'ตราสารหนี้' ในตลาดเกิดใหม่

Amundi บริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ในยุโรป วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังในงาน TMB Investment Talk ชี้ ลงทุนตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มดี พร้อมกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย

David Poh หัวหน้าฝ่ายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน Amundi ซึ่งเป็นท็อป 10 บริษัทบริหารสินทรัพย์ของโลก ดูแลสินทรัพย์หลากหลายทั้งหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม เป็นต้น รวมมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านยูโร มากที่สุดในทวีปยุโรป เปิดเผยบทวิเคราะห์ในหัวข้อ "เจาะลึกเศรษกิจโลกในครึ่งปีหลัง และเผยเคล็ดลับการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว" ในงาน TMB Investment Talk โดยระบุว่า

"สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดย Amundi ให้น้ำหนักโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นจากปััจจุบันอย่างมากอยู่ที่ 5% โดยมีแรงหนุนจากกำไรบริษัทต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ จากการประชุม G20 ที่ผ่านมาที่ประธานาธิบดี Donald Trump มีการพบปะกับประธานาธิบดี Xi Jinping ซึ่งมีท่าทีที่ดีขึ้น รวมถึงกรณีที่ Donald Trump เดินทางไปพบกับ Kim Jong Un ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งหากแนวโน้มในอนาคตเป็นไปในเชิงบวก ผู้บริโภคก็จะมั่นใจมากขึ้น"

Marie Ramlie หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย TMB กล่าวเปิดงาน

ขณะที่เดียวกันยังให้น้ำหนักโอกาสเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับปานกลางอยู่ที่ 65% เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคยังสูง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนน้ำหนักอีก 30% มองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแบบชะลอตัว เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน อาจยืดเยื้อ และอาจไม่ใช่เชิงบวกในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เกิดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่อาจทำให้น้ำมันราคาสูงขึ้นด้วย

 

ครึ่งปีหลังน่าลงทุน "ตราสารหนี้"

Poh ระบุว่า สินทรัพย์ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในครึ่งปีหลังนี้ เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย คือ ตราสารหนี้, ทองคำ และหุ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวน โดยตราสารหนี้ควรเป็นตราสารหนี้ที่มีอายุปานกลางคือ 5-7 ปี ส่วนการลงทุนในทองคำก็ยังน่าสนใจ ทั้งนี้ ราคาทองนั้นแปรผกผันกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวคือ หากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างเช่นในขณะนี้ ก็ทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับหุ้นนั้นควรลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพ โดยควรเลือกลงทุนให้หลากหลายมากที่สุดเพื่อความปลอดภัย

David Poh

“ขณะที่น้ำมันนั้นน่าจะมีราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 55-65 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นไปตามกลไกของอุปสงค์และอุปทาน โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง ได้แก่ ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และปริมาณน้ำมันสำรองของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การลดกำลังการผลิตในรัสเซีย และความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านซึ่งยังต้องจับตาดูกันต่อไป”

 

แนะลงทุนใน “ตลาดเกิดใหม่”

สำหรับการลงทุนในหุ้นนั้น Poh แนะนำว่าควรลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากมีระดับราคาต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่น่าสนใจคือ ไทย อินโดนีเซีย อินเดีย และจีน โดยหากพิจารณาจากเงินปันผล ก็ควรลงทุนในอินโดนีเซียและไทยมากกว่า เนื่องจากได้ผลตอบแทนค่อนข้างคงที่ แต่หากพิจารณาจากอัตราการเติบโต ก็ควรลงทุนในตลาดหุ้นจีนและอินเดีย เนื่องจากบริษัทใน 2 ประเทศนี้มีการเติบโตค่อนข้างเร็ว

"ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้นั้น ปัจจุบันผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปียังมีแนวโน้มปรับตัวลง หมายความว่านักลงทุนยังมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องในสินทรัพย์ประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าตราสารหนี้ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจคือ ตราสารหนี้ในภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ เพราะถ้าเทียบกับสหรัฐฯ แล้วตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ราคายังไม่แพงเกินไป สามารถถือพันธบัตรได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่า และได้ดอกเบี้ยสูงกว่าด้วย"

 

กระจายการลงทุน ลดความเสี่ยง

Poh ชี้ว่า ถึงแม้การลงทุนในสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงมากกว่าเช่นกัน ดังนั้นจึงควรกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันในหลายประเทศ

“อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงและความผันผวนเกิดขึ้นได้ทุกที่ ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องคิดและคำนึงให้ดีถึงเป้าหมายของของการลงทุน, ผลตอบแทนที่ต้องการ, ระยะเวลาที่ต้องการลงทุน, ความเสี่ยงที่รับได้, อัตราแลกเปลี่ยน และข้อจำกัดด้านการลงทุนอื่นๆ”

ทั้งนี้ สำหรับการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนในปัจจุบัน Poh ให้น้ำหนักการลงทุนไปที่ตราสารหนี้มากกว่าหุ้น โดยควรมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 60% และ 40% ตามลำดับ

  อ่านเพิ่มเติม     รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator