ACE เผย ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟภ.เรียบร้อยแล้ว โดยโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 2 โครงการในพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.นครราชสีมา ที่ตกลงซื้อขายมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.0 เมกะวัตต์ และ 9.9 เมกะวัตต์ พร้อมเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าและมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องด้านพลังงานสะอาด
ธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทย่อยของ ACE ทั้ง 2 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท เนชั่นแนล คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (NCE) ซึ่งถือเป็นบริษัทย่อยโดยอ้อมที่ ACE ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 90 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ลงทุนและดำเนินโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดขององค์การบริหารส่วนตำบลเชียงหวาง จ.อุดรธานี (โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเชียงหวาง)
และ 2. บริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด (“ABP”) บริษัทย่อยโดยอ้อมที่ ACE ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 90 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ลงทุนและดำเนินโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดของขององค์การบริหารส่วนตำบลโชคชัย จ.นครราชสีมา (โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโชคชัย)
ได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของทั้ง 2 โครงการได้รับการลงนามโดย กฟภ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยวันที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของทั้ง 2 โครงการ คือ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเชียงหวางมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.0 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 7.75 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโชคชัยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 8.0 เมกะวัตต์
“การลงนาม PPA โรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน 2 แห่งล่าสุดนี้ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ช่วยย้ำศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้นำพลังงานสะอาดทุกประเภทของ ACE และช่วยเพิ่มพอร์ตในกลุ่มโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเป็น 4 แห่ง
เพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็นโมเดลต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง” นายธนะชัย กล่าว
ปัจจุบัน ACE อยู่ระหว่างการเร่งเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งโครงการที่เป็นการลงทุนตามแผนงาน รวมถึงโครงการส่วนที่ได้มาจากการประมูลงานภาครัฐ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ประเภทโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) จำนวน 18 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 50.00 เมกะวัตต์ที่ได้ลงนาม PPA เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
และโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จํานวน 18 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 112.73 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อสามารถ COD ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ ACE ยังสนใจที่จะเข้าร่วมการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ระยะที่สอง จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มในเดือนมิถุนายนนี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทาง ACE ยังมองหาโอกาสการลงทุนโครงการพลังงานสะอาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งประเภทชีวมวล ชีวภาพ ขยะชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งหากมีการเปิดประมูลในอนาคตก็พร้อมจะเข้าร่วม
ขณะที่ โซลาร์รูฟท็อป ก็จะเป็นอีกตลาดที่ ACE ให้ความสนใจและจะรุกเข้าไปมากขึ้นในปีนี้ ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ ACE ยังคงมีการพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ที่มีเข้ามาโดยตลอด ซึ่งอยู่ระหว่างรอโอกาสและเวลาที่เหมาะสม เพราะทุกการลงทุนของ ACE ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าเป็นสำคัญ
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 ของ ACE สามารถทำรายได้จากการขายและบริการรวม 1,740.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4% จากงวดเดียวกันปี 2565 ซึ่งทำได้ 1,621.0 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 275.0 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ทำได้ 322.7 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม: ประเทศไทยเปลี่ยน ลุ้นก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine