ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือโตร้อยละ 1.8 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3 โควิดระลอก 3 กระทบหนัก นักท่องเที่ยวซึมยาว ว่างงานพุ่ง หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทยระยะยาว กนง.คงดอกเบี้ยร้อยละ 0.5
ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัวร้อยละ 1.8 จากเดิมในเดือนมีนาคม 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3 และปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดิมร้อยละ 4.7 ปัจจัยหลักจากการระบาดของโควิดระลอก 3 ในประเทศไทย และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำที่มีนัยยะสำคัญต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว จากเดิมที่คาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 3 ล้านคน ปรับลดลงเหลือ 7 แสนคนในปีนี้ และปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน “คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการระบาดระลอกที่สามของโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ ในช่วง 4 – 5 เดือนข้างหน้าจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและกระจายวัคซีนให้เหมาะสมและเพียงพอ หากพ้นช่วงนี้ไปได้ จะมีสัญญาณที่ดีขึ้น” ทิตนันทิ์ กล่าว มีมติคงดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 คณะกรรมการฯมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยเห็นว่า การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 มาจากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและข้อจำกัดด้านอุปทานมีผลจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ทั้งนี้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย “เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด” ทิตนันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกที่สาม สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง แนะเร่งเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยรัฐควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด อ่านเพิ่มเติม: LINE ครบรอบ 10 ปี ในไทย เติบโต ตอบโจทย์ ชีวิตดิจิทัลไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine