เศรษฐกิจ เม.ย.ลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ - Forbes Thailand

เศรษฐกิจ เม.ย.ลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงตัวเลข เศรษฐกิจ เดือน เม..63 ดัชนีหลายตัวติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากสถานการณ์โควิด-19 การบริโภคภาคเอกชนหดตัวทุกกิจกรรม กังวลยอดใช้สิทธิว่างงานพุ่ง 5 เท่า แนวโน้มไตรมาส 2 เศรษฐกิจติดลบหนักสุด

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2563 หดตัวสูงขึ้น จากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมทาง เศรษฐกิจ ในหลายภาคส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หายไป 100% จากการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย และยังส่งผลต่อเนื่องในเดือน ..และ มิ.. ที่มีการขยายมาตรการห้ามเดินทางเข้าออกประเทศไทย และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตัวเลขการว่างงาน และดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย ที่ขาดดุลสูงสุดในประวัติศาสตร์ ติดลบ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากไม่รวมการส่งออกทองคำ เดือนเมษายนจะขาดดุลบัญชีถึง 3,000 ล้านเหรียญ

สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน ติดลบ 15.9% เป็นผลจากความต้องการของประเทศคู่ค้าหายไป จากมาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศที่เข้มข้นที่สุดในเดือนนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ารถยนต์ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ขณะที่การรายงานตัวเลขส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นบวก เนื่องจากนำตัวเลขจากการส่งคืนเครื่องบินของเอกชนที่ไม่สามารถทำการบินจากจากปัญหาโควิดเข้ามารวมด้วย

อย่างไรก็ตาม หากรวมการส่งออกทองคำ ซึ่งในเดือนเมษายนมียอดส่งออกทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์มูลค่า 2,500 ล้านเหรียญ จะทำให้การส่งออกเดือนเมษายนหดตัวเพียง 3%

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศ ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงทุกหมวด โดยตัวเลขรวมติดลบ 15.1% ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เคยเก็บตัวเลขมา ซึ่งเป็นผลจากการเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น การเดินทางทุกอย่างหยุดนิ่ง ก่อนหน้านี้สินค้าในกลุ่มอาหารยังขยายตัวได้

ดอน กล่าวว่า จุดที่น่าเป็นกังวลที่สุด คือ ตลาดแรงงาน โดยใช้ตัวเลขจากประกันสังคมในการวิเคราะห์ โดยเดือนเมษายน มีผู้ขอรับสิทธิว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 5 เท่าจากเดือนมีนาคม มีสถานประกอบการขอรับสิทธิหยุดชั่วคราว 9 หมื่นราย เดือนเมษายน เพิ่มเป็น 4.6 แสนราย แรงงานในภาคเกษตรหายไป 10.1%

ในด้านการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 6.1% ซึ่งจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอยู่ในจุดต่ำสุด จากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม -17.2% จากการชะลอการผลิต และลงทุนเครื่องจักรต่างๆ

ในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ หวังว่าจะไม่เกิดประวัติศาสตร์ใหม่อีกในเดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายน

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ถือเป็นดัชนีตัวเดียวที่ยังเป็นพระเอก ขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19

ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ยังไม่รวมเงินโอนเพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด ซึ่งเงินส่วนนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม ดอน กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก แต่ปรับลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ

ดอน นาครทรรพ

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลรายได้จากการจ่ายเงินปันผลของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมคาดว่ายังคงหดตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปจนจบไตรมาสสอง ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยหดตัวหนักที่สุด อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ และการโอนเงินในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งจะทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มมากขึ้นดอนกล่าวทิ้งท้าย

 
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine