เคล็ดลับ "บริหารการเงิน" โดย ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ และ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ - Forbes Thailand

เคล็ดลับ "บริหารการเงิน" โดย ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ และ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดตัวซีรี่ส์ไลฟ์สตรีมมิ่ง รายการ ‘NEW NORMAL, MORE MONEY’  เผยเคล็ดลับ บริหารการเงิน โดย ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ และ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’

รายการ ‘NEW NORMAL, MORE MONEY’ คือ ซีรี่ส์ไลฟ์สตรีมมิ่งล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในเฟซบุ๊กแฟนเพจฉลาดคิด ฉลาดใช้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญสื่อสารออนไลน์ในโครงการฉลาดคิด ฉลาดใช้ เพื่อให้ความรู้ทางการเงินแก่คนรุ่นใหม่โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อช่วยให้ทุกคนก้าวข้ามผ่านทุกปัญหาทางการเงินในช่วงวิกฤต โควิด-19 กับเหล่ากูรูจากแวดวงธุรกิจและยูทูบเบอร์คนดังที่มีไลฟ์สไตล์น่าสนใจจะมาช่วยหาคำตอบกับทุกคำถามการเงินในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาสและวางแผนเพื่อสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคง โดยตอนแรกที่เพิ่งออกอากาศไปกับประเด็น ‘บริหารเงินให้รอดในยุค New Normal’ กับ ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ และ รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารแบรนด์เครื่องสำอางศรีจันทร์และเจ้าของเพจ Mission to the Moon ดำเนินรายการโดย ดีเจโบ-ธนากร ชินกูล พิธีกรชื่อดัง ฐากร ปิยะพันธ์ ได้แนะเคล็ดลับการบริหารการเงินส่วนบุคคลในหลายประเด็นว่า "1.กำเงินสด ลดค่าใช้จ่าย - คือคาถาฝ่าวิกฤตการเงินที่เป็นเคล็ดลับการเอาตัวรอดในยุค New Normal เพราะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องประหยัด, เก็บออม, ประเมินความจำเป็นในการจับจ่ายซื้อของ และควรเตรียมเงินฉุกเฉิน (Emergency Fund) ไว้ให้พร้อมอย่างน้อย 6 เท่าของเงินเดือน เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองในยามเกิดวิกฤต 2. รายได้ที่ 2 คือทางรอด – สำหรับยุค New Normal แล้ว การมีรายได้ทางเดียวคือความเสี่ยง ทุกคนควรหาโอกาสสร้างรายได้ทางที่ 2 ด้วยการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะ เช่น ขายของออนไลน์, เป็นยูทูบเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ หรือบล็อกเกอร์ สร้างคอนเทนต์ในสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น ใครจะรู้ รายได้ทางที่ 2 ในวันนี้ อาจกลายเป็นรายได้หลักในวันหน้าก็เป็นได้ 3. ออมวันนี้เพื่อชีวิตเกษียณในวันหน้า – ความเจริญทางการแพทย์ในยุคนี้ทำให้คนอายุยืน ดังนั้น การวางแผนการเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญและทุกคนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ด้วยวิธีจัดสรรปันส่วนเงิน แบ่งเป็น เงินไว้ใช้จ่าย, เงินออม สัดส่วนการออมที่เหมาะสมคือประมาณร้อยละ 20-30 ของรายได้ และเงินลงทุน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาก่อนเลือกลงทุนและทำบันทึกการลงทุนทุกครั้งเพื่อเก็บเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในอนาคต” ทั้งนี้ ‘คาถาฝ่าวิกฤตการเงิน’ โดย ‘ฐากร ปิยะพันธ์’ และ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ ได้ให้ข้อคิดการบริหารการเงินขององค์กรว่า “1.รักษาองค์กรด้วยหลักการ 3 ประสาน – สำหรับ 3 เรื่องหลักในภาวะวิกฤตที่องค์กรควรติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดทุกวันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม คือ การรักษากระแสเงินสด (Cashflow) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารการเงินองค์กร สินค้าคงคลัง (Inventory) เพราะเป็นปัจจัยที่จะทำให้องค์กรต้องเสียเงินในการดูแลรักษาและสต๊อกสินค้า ลูกค้า (Customer) และธนาคาร (Bank) เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการรับมือและแก้ไขปัญหา 2. ‘ตัวเบา’ คือ วิถีการบริหารองค์กรในยุค New Normal – องค์กรที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก ๆ (Heavy Assets) จำเป็นต้องทำให้องค์กร ‘ตัวเบา’ ด้วยการลดการถือครองทรัพย์สินให้มากที่สุดเพื่อลดภาระและลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ” ฐากร ได้กล่าวเสริมในประเด็นเรื่องการบริหารการเงินขององค์กรว่า “เพิ่ม ‘วัคซีน’ ให้องค์กรอยู่รอด - องค์กรต้องเตรียมความพร้อม 3 ด้าน ซึ่งเปรียบเหมือนฉีดวัคซีนให้ธุรกิจแข็งแกร่งและอยู่รอด ได้แก่ Diversification คือ การแสวงหาโอกาสจากการทำธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้, Flexibility คือ การยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์ และ Innovation คือ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดขององค์กร” นอกจากการ "บริหารการเงิน" แล้ว ทั้งฐากรและรวิศ ยังฝากทิ้งท้ายว่าการเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค New Normal ก็เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรพัฒนาทักษะอยู่เสมอ โดยคุณสมบัติสำคัญที่ทุกคนควรมี คือ การมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด  กล้าพูด กล้าทำ และไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  และสำหรับเด็กที่เพิ่งเรียนจบในปีนี้และการหางานทำเป็นเรื่องยาก หากอยากเพิ่มโอกาสให้ตัวเองกลายเป็นที่ต้องการในตลาดงานต้องรู้จักนำเสนอตัวเองด้วยพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) เพื่อทำให้องค์กรสนใจและอยากรับคุณเข้าทำงาน อ่านเพิ่มเติม: 4 หลักคิดสร้างสมดุลระหว่าง ข้อมูลส่วนบุคคล กับ การวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine