สภาพัฒน์ คาดจีดีพีปีนี้ติดลบ 5-6% - Forbes Thailand

สภาพัฒน์ คาดจีดีพีปีนี้ติดลบ 5-6%

สภาพัฒน์ ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ คาดจีดีพีติดลบ 5-6% หลังเจอพิษโควิด ทุบเศรษฐกิจไตรมาสแรกติดลบ 1.8% ท่องเที่ยว โรงแรม ส่งออก กระทบหนัก ระบุเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแค่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ได้ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2563 เป็นติดลบ 5-6% จากประมาณการเดิมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัว 1.5-2.5% เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างรุนแรง (Great depression) ในรอบ 91 ปี หรือติดลบ 2.8% สำหรับประเทศไทยถือเป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 นอกจากนี้ ได้ปรับประมาณการดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจแต่ละตัวใหม่ โดยการบริโภคภาคเอกชน -1.7% (เดิม3.5%) การอุปโภคภาครัฐ 3.6% (เดิม2.6%) การลงทุนภาคเอกชน -4.2% (เดิม3.2%) การลงทุนภาครัฐ 5.6% (เดิม4.8%) การส่งออก -8.0 (เดิม1.4%) เงินเฟ้อ (-1.5) – (-0.5) “การปรับประมาณการทางเศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่วงจำกัด ไม่เกิดการระบาดรอบสอง เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป และท่องเที่ยวกลับมาในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่ถ้ามีปัจจัยแปรผันมากกว่านี้ ประมาณการนี้อาจจะไม่ใช่ ซึ่งเป็นได้ทั้งผลบวกและผลลบจากตัวเลขที่ประมาณการไว้” ทศพรกล่าว ขณะนี้มีปัจจัยเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่จะพยุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ จาก พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 และการใช้จ่ายงบประมาณของปี 2563 ที่จะเริ่มในช่วงไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป ซึ่งต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 90% งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 55% ถ้าสามารถบริหารจัดการได้ จะเป็นไปตามประมาณการเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ คือติดลบ 5-6% สภาพัฒน์ จีดีพี 2563 ภาคท่องเที่ยวกระทบหนัก สำหรับจีดีพีไตรมาสแรก ปี 2563 -1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3% การอุปโภคภาครัฐ -2.7% ส่งออก -6.7% การลงทุนรวม -6.5% ขณะที่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร -24.1% ธุรกิจก่อสร้าง -9.9% ธุรกิจขนส่ง -6.9% ภาคเกษตร -5.7%  ภาคอุตสาหกรรม -2.7% ขณะที่บางธุรกิจยังสามารถเติบโตได้ อาทิ ภาคการเงิน ประกันภัย และการค้า ขยายตัว 4.5% ด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารขยายตัว 4.4% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการทำงานที่บ้าน หรือ work from home ภาคการท่องเที่ยวถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงไตรมาสแรก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 38% มีจำนวน 6.69 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 40% หรือหายไปประมาณ 3 แสนล้านบาท หากรวมกับการท่องเที่ยวไทยรายได้จากการท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 5 แสนล้านบาท ขณะที่ทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้จะหายไปประมาณ 68% สภาพัฒน์ เน้นภาคเกษตร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์โลกหลังโควิดคาดเดาได้ยาก แต่สำหรับประเทศไทย มองเป็นโอกาส 2 เรื่อง ซึ่งเกิดจากความเข้มแข็งด้านระบบสาธารณสุขของไทยในช่วงการจัดการปัญหาโควิดที่เกิดขึ้น หนึ่งคือภาคการเกษตร ที่ต้องสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดขึ้น เป็นการเตรียมความเพื่อรองรับหากเกิดปัญหาโรคระบาดในอนาคต และสองคือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยว แต่เน้นเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ ในฐานะเป็นประธานกลั่นกรองการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นภาคเศรษฐกิจในประเทศ จะให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณเพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งสองด้านนี้ เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะการสนับสนุนการสร้างความเข็มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนจำนวนมากที่กลับสู่ท้องถิ่นในช่วงนี้ คลิกอ่านเพิ่มเติม: ดีมานด์ Cold Chain พุ่ง หนุน JWD โตสวนกระแส กวาดรายได้ไตรมาสแรกโต 7.7%
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine