ยุทธศาสตร์ไทยพาณิชย์สร้างธนาคารให้เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อทุกสังคม - Forbes Thailand

ยุทธศาสตร์ไทยพาณิชย์สร้างธนาคารให้เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อทุกสังคม

อาทิตย์ นันทวิทยา เผยกลยุทธ์ “Going Upside Down” ผลักดันองค์กรให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและสมดุล พร้อมรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค สร้างธนาคารเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อสังคม

5 เรื่องสำคัญที่ไทยพาณิชย์ต้องทำคือ 1.Lean the Bank (เพิ่มประสิทธิภาพธนาคาร) 2.High Margin Lending (ปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง) 3.Digital Acquisition (การดำเนินธุรกิจในโลกดิจิตอล) 4.Data Capabilities (เพิ่มขีดความสามารถในการใช้ข้อมูล) 5.New Business Model (ธุรกิจรูปแบบใหม่ ) พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้แตกต่างจากเดิมและนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสร้างพนักงานให้มีขีดความสามารถและทักษะใหม่ๆ “ภายใต้สถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และการไหลบ่าเข้ามาของธุรกิจ Platform ระดับโลกที่กำลังจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของธุรกิจธนาคารในการนำเสนอบริการทางการเงินและการลงทุน กอปรกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้การบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก” อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนก็คือโครงสร้างรายได้ของธนาคารเริ่มเปลี่ยนไปจากในอดีตที่ธนาคารอาจจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 30% และอีก 70% เป็นรายได้จากดอกเบี้ยแต่จากนี้ไปรายได้จากค่าธรรมเนียมจะค่อยๆ ลดลง จากค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเคยได้จากการให้บริการโดยการใช้คน “ปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่การบริการอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ต้นทุนในการให้บริการลูกค้าลดลงอย่างมากในปี 2561 จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง มิใช่เพียงให้อยู่รอดได้เท่านั้น แต่เพื่อให้ธนาคารเป็นที่รักของลูกค้าและลูกค้าอยากมาใช้บริการของเรา”  

ภารกิจ SCB Transformation

ช่วงปีที่ผ่านมา ไทยพาณิชย์ได้เปลี่ยนผ่านองค์กรภายใต้ภารกิจ “SCB Transformation” เพื่อเป้าหมายการเป็น “The Most Admired Bank” โดยมุ่งเน้นการสร้างรากฐานขององค์กรใหม่ ยกระดับเทคโนโลยีของธนาคารเพื่อรองรับยุคดิจิทัล โดยธนาคารได้เพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบริการบน New Mobile Banking หรือ SCB Easy โดยมุ่งเน้นให้เป็น Lifestyle Application ที่จะสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า มากกว่าเพียงการทำธุรกรรมทางการเงิน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสด ด้วยการพัฒนาระบบการชำระเงินผ่าน QR Code กลางของธนาคารแห่งประเทศไทย “ธนาคารต้องสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น โดยเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ผ่านการจัดโครงสร้างบริการของธนาคารและบริษัทในกลุ่มทั้งหมด โดยโครงสร้างใหม่จะต้องเอื้อต่อการทดลองเรื่องใหม่ๆ ให้เกิดได้ง่ายขึ้น เช่นที่ธนาคารได้ตั้ง ดิจิทัลเวนเจอร์ บริษัทลูกด้านเทคโนโลยี และ เอสซีบี อบาคัส บริษัท Data Tech ที่ใช้นวัตกรรมอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) รวมทั้งการแสวงหาพันธมิตรซึ่งธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรเป็นอย่างมาก” รายได้หลักของธนาคารจะยังคงมาจากธุรกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเพื่อการบริโภค และการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งจะเห็นการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วยการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุน พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของทักษะและขีดความสามารถใหม่ๆ ของพนักงานในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า โดยจะเห็นได้ชัดเจนในธุรกิจของ Wealth Management ที่ทางธนาคารมีเป้าหมายจะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้อย่างมาก โดยมีเป้าหมายสูงสุดในอีกสามปีข้างหน้าเพื่อเป็น Digital Platform ขนาดใหญ่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหลัก พร้อมกันนี้เปิดศูนย์บริการแห่งอนาคตเพื่อสร้างประสบการณ์ทางการเงินที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าโดยเปิดตัว 4 ต้นแบบ “ศูนย์บริการลูกค้ารูปแบบเฉพาะ” ได้แก่ SCB Express, SCB Investment Center, SCB Business Center และ SCB Service Center “ด้วยวิสัยทัศน์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จะเป็น “The Most Admired Bank” หรือ “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด” เราจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธนาคารไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวันของลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมทั้งเดินหน้าดำเนินธุรกิจธนาคารอย่างสมดุลเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”