ผลสำรวจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทรุดหนัก ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พิษโควิด – ล็อกดาวน์ 2 เดือน คาดสูญ 5 แสนล้านบาท แนะรัฐกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทกระตุ้นกำลังซื้อ หวั่นลากยาวเศรษฐกิจไทยติดลบร้อยละ 2
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 40.9 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 35.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 38 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 49.6 ปัจจัยสำคัญมาจากการระบาดของโควิด 19 ระลอก 3 และ 4 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และการระบาดของสายพันธุ์เดลต้ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกรกฎาคม ศบค.ขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 13 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและประชาชนและการทำธุรกิจ ตลอดจนความกังวลต่อแผนกระจายวัคซีนที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ระบาดของโควิดยืดเยื้อออกไป คาดเสียหาย 5 แสนล้านบาท ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทย กล่าวว่า การสำรวจในเดือกรกฎาคม 2564 มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงเกิน 15,000 ราย ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ที่ขยายพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุดเพิ่มเป็น 13 จังหวัด ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญครอบคลุมร้อยละ 60 ของจีดีพีไทย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 2–3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม 2564 มีการขยายพื้นที่ล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร้อยละ 80 ของจีดีพีไทย คาดว่าในช่วง 2 เดือนนี้จะสร้างความเสียทางทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพี ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบร้อยละ 2 หรือ ไม่เติบโต “สมมติฐานนี้ คาดว่าสถานการณ์จะจบภายในเดือนสิงหาคม แต่หากสถานการณ์แย่ลง และมีมาตรการล็อกดาวน์ยืดเยื้อ มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยติดลบร้อยละ 2 ถึง ร้อยละ 4 เพราะการล็อกดาวน์ส่งผลโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งควบคุมการติดเชื้อ เร่งฉีดวัคซีน และต้องมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่เข้มข้นและตรงจุดมากกว่านี้” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าว นอกจากนี้ แนะนำให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท รวมเป็น 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย รวมถึงขยายสัดส่วนเพดานหนี้ต่อจีดีพีให้มากกว่าร้อยละ 60 โดยมาตรการที่มีผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน เช่น คนละครึ่ง ซึ่งอาจต้องใช้มาตรการเดียวกับการระบาดครั้งแรก คือจ่ายคนละ 1,500 บาทเป็นเวลา 3 เดือน หรือมาตรการช้อปดีมีคืน โดยมาตรการเหล่านี้รัฐบาลสามารถเพิ่มเติมจากมาตรการที่มีอยู่ ทั้งม.33 เรารักกัน เราชนะ ได้ เพื่อทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแบงก์ชาติคาดเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าอีก 1 ปี
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) เดือนกรกฎาคม 2564 โดยระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกภาคธุรกิจ ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในประเทศในวงกว้าง และผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างจากคำสั่งปิดแคมป์คนงาน สำหรับการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นภาคท่องเที่ยวและภาคก่อสร้างที่ปรับลดลง โดยธุรกิจในภาพรวมมีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน และลดชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่บางส่วนเริ่มกลับมาใช้นโยบายลดเงินเดือนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่เริ่มเห็นบางธุรกิจมีสภาพคล่องลดลง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างที่มีสัดส่วนของธุรกิจที่สภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น โดยภาคธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าประชาชนจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านและท่องเที่ยวตามปกติได้เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 50 รายต่อวัน และเกิดได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงมากทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด และแผนการกระจายวัคซีนไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นฯ อยู่ต่ำกว่าเดือนเมษายน 2563 ที่มีการประกาศล็อกดาวน์ ครั้งแรกในทุกมิติ ผู้ประกอบการ 90% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคปรับลดลงมากจากเดือนก่อน และไม่เห็นพฤติกรรมเร่งกักตุน แม้จะมีการสั่งปิดห้างฯ และประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวสู่ระดับปกติเลื่อนออกไปเป็นปี 2566 ล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้อีก 1 ปี ภาพ: Pixabay อ่านเพิ่มเติม: “ทูน ประกันภัย” เปิดเกมชิงผู้นำประกันภัยดิจิทัลไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine