กรุงศรีคาด "ค่าเงินบาท" แข็งถึงต้นปี’63 ผลกระทบสัญญาณเฟดลดดอกเบี้ย - Forbes Thailand

กรุงศรีคาด "ค่าเงินบาท" แข็งถึงต้นปี’63 ผลกระทบสัญญาณเฟดลดดอกเบี้ย

กรุงศรีมองทิศทางตลาดการเงินครึ่งปีหลัง 2562 คาด ค่าเงินบาท แข็งค่าต่อเนื่องหลังเฟดกลับทิศ ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง มีโอกาสหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต้นปีหน้า ขณะที่ตลาดโลกยังอึมครึมท่ามกลางสงครามการค้า กระทบผู้ส่งออกไทย

ตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ และ รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดบทวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดเงิน หลังจากช่วงครึ่งปีแรก 2562 สถานการณ์ตลาดผันผวน มีปัจจัยสงครามการค้าป่วนตลาด

ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าสงครามการค้ายังไม่จบและสหรัฐอเมริกาจะขยายวงไปสู่ประเทศอื่นนอกจากจีน เสริมด้วยสัญญาณตลาด คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะกลับทิศจากปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอีก 1-2 ครั้ง เป็นการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ยิ่งส่งให้เงินทุนไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะไทย หลังจากครึ่งปีแรกที่ค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้น 6% ครึ่งปีหลังน่าจะยังแข็งค่าต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2563

 

เฟดกลับทิศ ลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง

กรุงศรีวิเคราะห์ท่าทีของเฟดจากปีก่อนมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยและเชื่อว่าจะยังมีการปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ เชื่อว่าจะมีการกลับทิศทาง จากสัญญาณตลาดมองว่าเฟดจะเปลี่ยนมาปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งแทน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2562 ในเดือนกันยายน 2562 และอีกครั้งช่วงไตรมาส 1 ปี 2563

ท่าทีที่เปลี่ยนไปนี้มาจากการรับมือสงครามการค้าโลกของตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ทำได้ดีกว่าที่สหรัฐฯคาด ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เองก็ไม่ดีขึ้น

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศมีการปรับลดกันไปแล้วในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ส่วนประเทศไทย จีน ไต้หวัน ยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม

จากการวิเคราะห์ท่าทีของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 กรุงศรีคาดว่า กนง. น่าจะยังไม่ใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ เพราะเป็นกระสุนนัดเดียวที่ใช้ได้ เนื่องจากไทยเคยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เชื่อว่า กนง. ยังรอดูสถานการณ์

 

คาด "ค่าเงินบาท" มีโอกาสหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ฯ

ในขณะที่ตลาดโลกผันผวน จุดพักเงินที่เป็น safe-heaven ใหม่ของนักลงทุนจึงมองประเทศในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งประเทศไทยมีบัญชีเกินดุลทำให้เป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของผู้จัดการกองทุนทั่วโลก เงินทุนที่ไหลเข้าประเทศส่งให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นประวัติการณ์ในรอบ 6 ปี โดย วันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทราคา 30.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าเงินบาทแข็งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นช่วงปี 2556 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ค่าเงินบาทแข็งขึ้น 6.32% ตั้งแต่ต้นปี 2562 สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และกรุงศรียังมองว่าจะยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องจากท่าทีของเฟดดังกล่าว โดยคาดการณ์ค่าเงินบาทดังนี้

  • Q3/62 เฉลี่ย 30.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (เคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-31.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)
  • Q4/62 เฉลี่ย 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (เคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)
  • Q1/63 เฉลี่ย 30.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (เคลื่อนไหวในกรอบ 29.75-31.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)
  • Q2/63 เฉลี่ย 30.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (เคลื่อนไหวในกรอบ 29.50-31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)
คาดการณ์ ค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
คาดการณ์ ค่าเงินบาท และ อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ EU ญี่ปุ่น และไทย โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ธนาคารกรุงศรีคาดว่าค่าเงินบาทมีโอกาสหลุดกรอบราคาต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ในช่วงต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาความผันผวนจากสงครามการค้าโลกอย่างต่อเนื่อง

 

จับตาปัจจัยชี้นำตลาดโลก

สำหรับความผันผวนในตลาดโลก กรุงศรีกล่าวถึงประเด็นปัจจัยชี้นำที่จะเกิดขึ้น ได้แก่

สงครามการค้าโลก โดยสหรัฐฯ จะขยายวงการเปิดสงครามมากขึ้น โดยเป้าหมายต่อไปคือสหภาพยุโรป (EU) ที่ Donald Trump กล่าวโจมตีว่า EU มีการลดค่าเงินให้ถูกเกินจริงเช่นเดียวกับจีน และเตรียมขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ อากาศยาน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มาจาก EU ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน แม้จะผ่อนคลายท่าทีระหว่างกันแต่ยังไม่มีกำหนดกรอบเวลาการเจรจากันครั้งใหม่ การสรรหาประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คนใหม่ โดยในหมู่ผู้ท้าชิงตำแหน่ง หาก Christine Lagarde ได้รับเลือก นโยบายของเธออาจทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของยุโรปอยู่ในระดับต่ำนานกว่าที่คาด การเจรจา Brexit ยังอึมครึม โดยมีเส้นตายใหม่ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งขณะนี้ Boris Johnson เป็นตัวเก็งที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษและเขามีนโยบายผลักดัน No-Deal Brexit ออกจาก EU แม้จะไม่มีข้อตกลง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าอยู่แล้วยิ่งอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจทางเลือกของชาวอังกฤษเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 46% ไม่ต้องการออกจาก EU จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดทำประชามติรอบใหม่หรือเลือกตั้งใหม่
(ที่มา: กรุงศรี)
 

เร่งรัฐบาลเทงบลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทย กรุงศรีได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ไทยจะเติบโต 3.2% ปรับลงจากที่เคยคาดว่าจะเติบโต 4.0% โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตติดลบของภาคส่งออกนำเข้าที่มีปัญหาค่าเงินบาทแข็ง การส่งออกปีนี้น่าจะติดลบที่ -1.5% ประกอบกับภาคท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักเศรษฐกิจไทยปีนี้เห็นการชะลอตัวลงชัดเจน

ประมาณการเศรษฐกิจไทย 2562 หลัง ค่าเงินบาท แข็งค่า
ประมาณการเศรษฐกิจไทย 2562 โดยกรุงศรี

ทั้งนี้ กรุงศรีมองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลเร็วที่สุดในยามนี้คือการใช้งบการคลังที่เกินดุลอยู่ โดยการคลังมีงบอยู่ถึง 9 หมื่นล้านบาท และมีการหยุดใช้งบมาแล้ว 1 ไตรมาส รัฐควรเร่งนำเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศเพื่อลดการเกินดุล ซึ่งจะช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าด้วย

ขณะเดียวกัน มาตรการที่ ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถใช้ได้เพื่อช่วยเหลือค่าเงินบาท มีตั้งแต่การแทรกแซงด้วยวาจา การกวดขันบัญชีเงินฝากของผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ จนถึงการซื้อดอลลาร์มาเป็นทุนสำรองแต่อาจต้องใช้ความระมัดระวังสูง เพราะ Trump เฝ้าจับตามิให้ประเทศอื่นแทรกแซงค่าเงินอยู่ในขณะนี้

ธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ค่าเงินบาท แข็งค่า
ตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ และ รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สถานการณ์นี้อยากให้ผู้ส่งออกมองว่ายังมีโอกาสในวิกฤต บาทแข็งทำให้การนำเข้าเครื่องจักรใหม่เป็นจังหวะที่ดี แม้ท่านจะมองว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดี ไม่จำเป็นต้องปรับประสิทธิภาพการผลิต แต่ขอให้ท่านมองในระยะยาวมากกว่าตรรกกล่าว