กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ด้านหนี้เสียรวมอยู่ที่ราว 2.25% ชี้วิกฤตโควิดทำพฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยน ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยเน้นปรับองค์กรด้วยเทคโนโลยีประคับประครองผ่านวิกฤตทางการเงิน
ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า “ข้อมูลจากสายงานยุทธศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึกของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อในเครือของบริษัทตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกันยายน 2563 ชี้ให้เห็นว่า แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังไม่กลับมาในระดับเทียบเท่ากับปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น” แม้คลายล็อกดาวน์แล้ว บริการเหล่านี้ก็ยังเป็นที่นิยม เช่น หมวดช้อปออนไลน์, สินค้าตกแต่งบ้าน, บริการสั่งอาหาร, สตรีมมิ่งและบันเทิงออนไลน์ ขณะที่บางหมวด หลังคลายล็อหดาวน์ ก็เริ่มมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น หมวดโรงแรมในประเทศ, หมวดร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, ความงามและเครื่องสำอาง “ทั้งนี้ หมวดที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยยังมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ หมวดประกันภัย และซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่ยังคงเป็นหมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ” ณญาณี เผือกขำ กล่าว “ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงบรรยากาศการจับจ่ายที่เริ่มฟื้นตัว สอดคล้องกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ของบริษัทที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 1.96 แสนล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 5.8 พันล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.33 แสนล้านบาท ในขณะที่หนี้เสียของบริษัทอยู่ที่ราว 2.25 เปอร์เซ็นต์" อธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรีเพิร์สช้อยส์ เผยว่าผู้บริโภคสินเชื่อมีความระวังในการกู้เงินคาดกลุ่มลูกค้าใหม่ลดลงอยู่ที่ราวร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยลูกค้าของเพิร์สช้อยส์ ใช้จ่ายในหมวดต่างๆ โดยอันหนึ่งอยู่ในหมวดประกันสุขภาพ การใช้จ่ายสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต และช้อปออนไลน์สินค้าภายในบ้าน ณญาณี เผือกขำ กล่าวเสริมอีกว่า อย่างไรก็ดี สภาวะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันค่อนข้างผันผวน บริษัทจึงเตรียมปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเน้นการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยนำเอาดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยกระดับคุณภาพการบริการ เช่น บริการส่งใบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-billing) “บริษัทคาดว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตกว่า 20% เทียบกับในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าตลอดทั้งปี 2563 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 2.8 แสนล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 8.3 หมื่นล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 1.44 แสนล้านบาท” ณญาณีกล่าวสรุปไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand