ไทยเสี่ยงภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย" - Forbes Thailand

ไทยเสี่ยงภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย"

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ไทยเสี่ยงเผชิญ เศรษฐกิจถดถอย ตามประเทศคู่ค้า สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ขณะที่ภาคธุรกิจกังวลปัจจัยค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภค รัฐบาลยังมั่นใจไทยเริ่มฟื้นตัว คาดปี 2566 จีดีพีขยายตัว 3 – 3.5%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 ซึ่งขณะนี้มีหลายสาเหตุที่ทำให้โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) ได้แก่ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และธนาคารกลางหลายประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากการศึกษาประเทศคู่ค้าของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น มีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสหรัฐ มีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระดับปานกลางถึงสูง ขณะที่จีนและญี่ปุ่น มีโอกาสเกิดในระดับปานกลาง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

การค้าโลกชะลอกระทบจีดีพีไทย 2 แสนล้าน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ตั้งสมมติฐานว่าหากปริมาณการค้าชะลอโลกชะตัวลงร้อยละ 1-2 จะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยลดลง 185,596 ล้านบาท ส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง 33,876 ล้านบาท การลงทุนภาคเอกชนลดลง 4,302 ล้านบาท การนำเข้าสินค้าลดลง 23,491 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้จีดีพีลดลง 200,282 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.22 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบได้แก่ การผลิตโลหะ ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร  อุตสาหกรรมการค้าและบริการ การผลิตเคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจภาคธุรกิจไทย จำนวน 850 ตัวอย่างทั่วประเทศ ปัจจัยเสี่ยงที่เห็นว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินบาทที่อ่อนค่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะนักธุรกิจมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลทำให้กำไรของภาคธุรกิจลดลงมาก ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนใหญ่เห็นว่ากระทบต่อธุรกิจในระดับปานกลาง ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องลดลง เช่นเดียวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบในระดับปานกลาง ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ โดยกลุ่มที่จะปรับขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 มีสัดส่วนร้อยละ 22.7 นักธุรกิจส่วนใหญ่จึงมองว่าแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มชะลอตัวจากที่ก่อนหน้านี้เริ่มฟื้นตัวถึงร้อยละ 43 และ ร้อยละ 30.3 มองว่าจะเห็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ

ความหวังอยู่ที่การท่องเที่ยว

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าช่วงที่เหลือของปีนี้มีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูงที่ประเทศคู่ค้าของไทยจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และส่งผลกระทบมายังประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจาก เศรษฐกิจถดถอย แล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี “ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะมีผลกดดันการขยายตัวของจีดีพีในปี 2565 ให้ใกล้เคียงกับปีก่อน แต่หากสามารถผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นหรือมากกว่าระดับ 10 ล้านคนในปีนี้ จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้กว่า 240,000 ล้านบาท" ธนวรรธน์กล่าว ก่อนหน้านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ส่งออกเติบโตร้อยละ 5-6 แต่หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจะมีการประเมินตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 3 – 3.5

รัฐบาลมั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

ขณะที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผ่าน Radio Thailand ระบุว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้มีการฟื้นตัวแบบรูปตัวเค บางส่วนดีขึ้น บางส่วนแย่ลง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาปีละ 40  ล้านคน แต่ตัวเลขล่าสุดในเดือนม.ค. – ก.ย. 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 5 ล้านคน ในช่วงที่เหลือคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอย่างน้อย 1 ล้านคนต่อเดือน ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะขยับขึ้นเป็น 10 ล้านคนในปีนี้ นอกจากนี้ การส่งออกจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านการส่งออกของไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11  รวมถึงการลงทุนของภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ร้อยละ 3 – 3.5 ในปีนี้และปี 2566 อ่านเพิ่มเติม: CPN เดินหน้าตามแผนลงทุน 5 ปี 1 หมื่นล้าน พร้อมเปิดตัวโรงแรมเซ็นทารา โคราช

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine