วันอาทิตย์ (4 มิถุนายน 2566) ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ OPEC+ ได้ประกาศลดการผลิตน้ำมันครั้งใหม่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นการลดกำลังการผลิตต่ำกว่า 9 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ขณะที่มาตรการอุ้มดีเซลจะหมดอายุ 20 กรกฎาคมนี้ จับตาผลกระทบเศรษฐกิจ
กลุ่มประเทศ OPEC+ ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำโดยซาอุดิอาระเบียได้ประกาศลดน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุด โดยประกาศลดน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก + ต่ำกว่า 9 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ซึ่งเป็นการลดกำลังการผลิตเพิ่มอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากการประกาศลดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีความตั้งใจว่าจะลดกำลังการผลิตไปจนถึงปี 2567
สำหรับการประกาศลดการผลิตน้ำมันครั้งใหม่นี้ กลุ่มโอเปก + มีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำมันลดลงอีก หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงสู่ระดับต่ำสุดด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงวิกฤตภาคธนาคารที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินของสหรัฐทั้งสองแห่ง
หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทย
การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก + จะทำให้แนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่กระทรวงการคลังยังไม่ตัดสินใจต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ที่จะหมดอายุวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ รวมถึงมาตรการตรึงราคา LPG ราคาขายปลีก 423/ถังขนาด 15 กิโลกรัม ที่จะสิ้นสุดมาตรการสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 นี้เช่นเดียวกัน ต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่จึงจะสามารถเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ ราคาน้ำมันจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านนโยบายที่ต้องจับตามอง
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวทางที่มีความเป็นไปได้ 3 กรณีของมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล คือ 1. โอนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยชดเชยอัตราภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้น 2. ปรับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศให้สูงขึ้นและลดค่าการตลาดขายปลีกน้ำมัน ซึ่งแนวทางนี้จะขัดกับนโยบายหาเสียงของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ และ 3. โอนเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยบางส่วนระหว่างรอการประกาศอัตราภาษีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทบน้อย
ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนน้ำมันและนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ตามที่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนไทยและต่างชาติมีความกังวลต่อนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน ซึ่งมีผลต่อการจัดสินใจลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตในระยะต่อไป
ผู้ประกอบการกังวลต้นทุนสูง-ขายน้อย
ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เป็นข้อจำกัดสำคัญของภาคธุรกิจไทย ซึ่งผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (BSI) ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงเป็นอุปสรรคอันดับแรกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ขณะที่การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก และความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศต่ำ เป็นข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการมีความกังวลมากขึ้นจากการสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
ขณะที่ช่วงครึ่งหลังปี 2566 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จะเริ่มเข้าสู่โลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าลดลงทั้งภาคผลิตและไม่ใช่ภาคผลิต ขณะที่ภาคก่อสร้างลดลงต่ำกว่าค่าดัชนี 50 อีกครั้ง จากความกังวลด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
สำหรับสัปดาห์นี้ต้องจับตาการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งนักลงทุนคลายความกังวลหลังจากการเจรจาขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐประสบผลสำเร็จ
ขณะเดียวกันทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ด้านเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ และดัชนีภาคผลิตที่อ่อนแอ ซึ่งต้องจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 13 – 14 มิถุนายนนี้ จะมีนโยบายด้านดอกเบี้ยอย่างไร ซึ่งตลาดยังให้น้ำหนักกับการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 5 – 5.25%
อ่านเพิ่มเติม: โออิชิ กรุ๊ป เผย แผนปรับกลยุทธ์ธุรกิจ หนุนรายได้โตต่อเนื่องกำไรเพิ่ม 23%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine