หอการค้าคาดส่งออกไทยฟื้น ปี 67 ขยายตัวร้อยละ 3.6 - Forbes Thailand

หอการค้าคาดส่งออกไทยฟื้น ปี 67 ขยายตัวร้อยละ 3.6

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัว ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รองจากดิจิทัลวอลเล็ต แต่ห่วงเอลนีโญกระทบผลผลิตภาคเกษตร แนะหั่นงบ 1.6 แสนล้านลงทุนแหล่งน้ำ ขณะที่ผลกระทบสงครามอิสราเอลยืดเยื้อกระทบ 1 – 2 หมื่นล้านบาท แต่หากขยายวงกว้างเสียหาย 1.5 แสนล้าน


    ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกของไทยกลับมาฟื้นตัวในปี 2567 โดยขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 จากฐานที่ต่ำในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะติดลบร้อยละ 2 ซึ่งเกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้การส่งออกไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ 3.2

    ขณะที่ไตรมาส 4 จะขยายตัวร้อยละ 6.8 จากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว โดยรวมในปีนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าการส่งออกของไทยจะติดลบร้อยละ 2

    “ปี 2567 การส่งออกของไทยเริ่มกลับมาเป็นพระเอก เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกแม้จะชะลอตัวลง แต่ปริมาณการค้าโลก จากการคาดการณ์ของ IMF จะขยายตัวร้อยละ 3.5 จึงทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเป็นต้นไป โดยเฉพาะในประเทศส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้นปีหน้าตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก คือดิจิทัล วอลเล็ต และการส่งออก” ดร.ธนวรรธน์กล่าว



แนะลงทุนแหล่งน้ำสู้เอลนีโญ

    อย่างไรก็ตาม ดร.ธนวรรธน์ มองว่า ปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อภาคส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของการส่งออกของไทย หรืออาจจะหายไป 20,000 – 60,000 ล้านบาท จึงอยากรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาแหล่งน้ำ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อยากให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่เหลือจากดิจิทัล วอลเล็ต ที่คาดว่าจะใช้งบ 4 แสนล้านบาท มาลงทุนแหล่งน้ำ 1.6 แสนล้านบาท จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากให้กับเกษตรกรไทย และลดปัญหาหนี้ที่จะเกิดขึ้น

    “หากรัฐบาลแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ให้กับประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ซึ่งมีประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ก็จะใช้งบประมาณราว 4 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 1.6 แสนล้าน น้ำมาป้องกันปัญหาน้ำแล้งในปีหน้า จะช่วยแก้ปัญหาซ้ำซากที่เกิดกับเกษตรกร ป้องกันการทรุดตัวของรายได้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดภัยแล้ง พักหนี้เกษตรกรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ จนทำให้ประเทศอย่างอินเดีย และเวียดนามประกาศงดการส่งออกข้าวนั้น ทำให้สินค้าเกษตรของไทยกลายเป็นสินค้าดาวเด่นที่สามารถส่งออกได้มากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ เช่น ข้าว ทุเรียน ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวโพด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาหารแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น


อิสราเอลยืดเยื้อกระทบ 1 – 2 หมื่นล้าน

    สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านสงครามนั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ สำรวจพบว่ายังมีการส่งออกของไทยไปอิสราเอล แม้จะเกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส โดยการส่งออกของไทยไปอิสราเอลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของการส่งออกรวม หากกรณีสงครามยืดเยื้อ ซึ่งมีโอกาสเกิดร้อยละ 30 ส่งออกของไทยจะหดตัวร้อยละ 0.1 กรณียืดเยื้อมีการปิดเส้นทางขนส่ง ซึ่งโอกาสเกิดร้อยละ 10 การส่งออกจะหดตัวร้อยละ 0.3 และกรณีสงครามขยายวงกว้างทั่วตะวันออกกลาง ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยกว่าร้อยละ 5 การส่งออกจะหดตัวร้อยละ 1.7 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

    “ตอนนี้ความเป็นไปได้มากที่สุด คือยืดเยื้ออย่างน้อย 3 – 6 เดือน จะกระทบการส่งออกของไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 – 20,000 ล้านบาท” ดร.ธนวรรธน์กล่าว



อ่านเพิ่มเติม : HP เผยผลสำรวจ มิลเลเนียลและ Gen X เชื่อมั่นเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine