สภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย จัดงานประชุม หาช่องลงทุนไทย นักธุรกิจแดนน้ำหอมกว่า 20 บริษัท เล็งขยายธุรกิจระบบขนส่ง BCG พลังงาน และ สมาร์ท ซิตี้ ชี้ไทยมีศักยภาพศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค เผยยอดการค้าระหว่างสองประเทศกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี
สภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย (France – Thailand Business Forum หรือ FTBF) ได้จัดงานประชุมสภา France – Thailand Business Forum ครั้งที่ 3 โดยมีนักธุรกิจฝรั่งเศสเข้าร่วมกว่า 20 บริษัท รวมถึงนักธุรกิจชั้นนำของไทยและภาครัฐ ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด เนื่องจากฝรั่งเศสเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน และไทยกำลังมีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตเล็งขยายลงทุนอุตสาหกรรมใหม่
ฟรองซัวส์ กอร์แบง ประธานร่วมสภาธุรกิจ ฝ่ายฝรั่งเศส รองประธานสมาพันธ์นายจ้างแห่งฝรั่งเศส กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน โดยมีความพร้อมหลายด้านทั้งระบบคมนาคมขนส่ง ซัพพลายเชน นิคมอุตสาหกรรม และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบขนส่ง อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG เกษตรสมัยใหม่ พลังงาน และ Smart City ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ฝรั่งเศสมีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ จึงมองเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม สำหรับการจัดงาน France – Thailand Business Forum มีการลงนามเกี่ยวกับความร่วมมือ 4 ด้าน (MOU) คือ ด้านการบิน (Aerospace) ด้านระบบรางและการขนส่งในเมือง (Railway & Urban Mobility) ด้านยานยนต์ (Automotive) และ ด้านการขนส่งทางทะเลและโลจิสติกส์ (Maritime & Logistics) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลเร่งผลักดันการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี หลังจากนี้จะมีการทำงานร่วมกัน เพื่อต่อยอดความร่วมมือต่อไป “ปัจจุบัน ไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญในหลายอุตสาหกรรม ที่มุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งฝรั่งเศสมีความพร้อมเรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในประเทศไทย ทั้งในเรื่องระบบขนส่ง ยานยนต์ BCG รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด” ฟรองซัวส์กล่าว ประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ามาอย่างยาวนาน โดยฝรั่งเศสถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 25 ของไทย เป็นลำดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศราว 4,322.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากไทย จำนวน 15 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 2,327.60 ล้านบาท ปัจจุบันมีบริษัทฝรั่งเศสในประเทศไทย 300 บริษัท ขณะที่มีบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่มีการลงทุนในฝรั่งเศส เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด หรือ ดับเบิล เอ กลุ่มไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) บริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด และ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) อาร์โนด์ เบียเลคกิ ประธานบริหาร โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย และ President – Thailand Committee of the French Foreign Trade Advisors กล่าวว่า นักธุรกิจฝรั่งเศสให้ความสนใจนโยบายวีซ่าพำนักระยะยาวของไทย ที่ขยายเวลาเพิ่มเป็น 10 ปี รวมถึงการดึงดูดกลุ่มสตาร์ทอัพ หรือทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังประเทศไทย ก่อนเกิดสถานการณ์โควิดอยู่ที่ประมาณ 8 แสนคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ คาดว่าหลังการเปิดประเทศจะมีการเดินทางเข้ามามากขึ้นไทยต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานร่วมสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ฝ่ายไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย เป็นเวทีส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนในระดับเอกชนระหว่างสองประเทศ รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขา ได้แก่ Transport Smart City Energy Transition Food & Agri และ health & Wellness โดยมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องด้านความร่วมมือ เช่น สถานทูตฝรั่งเศส กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อีอีซี เป็นต้น ขณะที่บริษัทไทยที่มีความร่วมมือและจะขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มมิตรผล ล็อกซ์เล่ย์ ไทยเบฟเวอเรจ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ธนาคารกสิกรไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กลุ่มซีพี รวมทั้งบริษัทฝรั่งเศสที่ลงทุนในประเทศไทย เช่น มิชลิน เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม: ‘ภรณ์ทิพย์ อัคควิบูลย์’ ยึดศาสตร์ฮวงจุ้ย ดำเนินธุรกิจไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine