ปตท. ยื่นอุทธรณ์ต่อกกพ.แล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังถูกเรียกเก็บค่าปรับ 4,300 ล้านบาท กรณีไม่สามารถผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณได้ตามสัญญา โดยบอร์ดกกพ. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยถึงความคืบหน้ากรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกคำสั่งถึงปตท. เพื่อเรียกเก็บค่าปรับจากผู้ขายก๊าซธรรมชาติในแต่ละวัน (ชอตฟอล์) จำนวน 4,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด จ่ายให้กับ ปตท. กรณีไม่สามารถผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณได้ตามสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่กลางปี 2564 จนถึงช่วงหมดสัญญาสัมปทาน ที่มีการส่งมอบแก่กลุ่ม บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.วันที่ 23 เม.ย. 2565 ว่า
ล่าสุด ปตท.ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่ง ต่อกกพ.ไปแล้ว เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก ปตท.ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว และจำเป็นต้องมีการตีความเงื่อนไขสัญญาต่างๆ เป็นมุมมองที่อาจแตกต่างกัน ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท.กับผู้ผลิตฯ (เชฟรอนฯ) มีการระบุเงื่อนไขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทค ออล เพย์ หรือ ชอต ฟอลล์ กรณีที่ผู้ผลิตฯไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯได้ตามสัญญาก็จะมีบทปรับเกิดขึ้น โดยปตท.ดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญา ไม่ได้ทำอะไรที่บกพร่อง
“ที่ผ่านมา ปตท.ได้ดำเนินการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนมาโดยตลอด โดยตลอดระยะเวลาของวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานในตลาดโลก ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติได้ร่วมแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับปริมาณความต้องการของประเทศทั้งในภาคประชาชน การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท"
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ได้รับหนังสือยื่นหนังสืออุทธรณ์แล้ว ซึ่งการประชุมบอร์ดกกพ.ล่าสุด จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการอุธรณ์ดังกล่าวแล้ว เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว จะพยายามให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า เพื่อนำเงินมาลดราคาก๊าซธรรมชาติ ส่งผ่านไปถึงต้นทุนค่าไฟงวดใหม่ให้ถูกลง
สำหรับคณะอนุกรรมการดังกล่าว มีบอร์ดกกพ. เป็นประธาน มีกรรมการเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ , อดีตผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , สำนักอัยการสูงสุด , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งจะเชิญบมจ.ปตท. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ผู้ได้รับสัมปทานเดิม มาให้ข้อมูล แต่ไม่ได้อยู่ในส่วนของคณะทำงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
อ่านเพิ่มเติม: โอเปกลดกำลังผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine