ทิศทางดอกเบี้ยยังขาขึ้นสู้เงินเฟ้อ SCB CIO ชี้ช่องลงทุนพันธบัตรรัฐบาล - Forbes Thailand

ทิศทางดอกเบี้ยยังขาขึ้นสู้เงินเฟ้อ SCB CIO ชี้ช่องลงทุนพันธบัตรรัฐบาล

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ-ยุโรปยังเป็นขาขึ้น หลังเงินเฟ้อชะลอตัวช้า จากหมวดอาหารและพลังงาน เช่นเดียวกับประเทศไทย กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง SCB CIO คาดเดือน ก.ค.ปรับขึ้นอีก 0.25% แนะลงทุนพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มระวังหุ้นกลุ่ม Mega Tech ด้าน บลจ.ทิสโก้ ชี้ช่องลงทุนเวียดนามผ่านกองทุนเปิด ทิสโก้ เวียดนาม อิควิตี้ ทริกเกอร์


    แม้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed Fund Rate ไว้ที่ 5.00-5.25% แต่ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ และไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ จากผลสำรวจความเห็นของผู้แทนเฟดเกี่ยวกับประมาณการการปรับดอกเบี้ย หรือ Fed dot plots ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง


    กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มองว่า สาเหตุหลักที่ FOMC ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ มาจากปัจจัย ดังนี้ 1. เงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงช้า และมีแนวโน้มที่ Core PCE inflation ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่รวมอาหารและพลังงาน จะสูงกว่าประมาณการเดิม

    โดยเฟด ปรับคาดการณ์ Core PCE inflation ปีนี้ขึ้นจาก 3.6% เป็น 3.9% และ 2. ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง สะท้อนถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอลงช้ากว่าที่คาดไว้ โดยเฟดปรับคาดการณ์อัตราการว่างงานปีนี้ ลดลงจากเดิม 4.5% เป็น 4.1% และปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ ขึ้นจากเดิม 0.4% เป็น 1.0%

    ขณะที่เฟดไม่มีสัญญาณการลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องของปี 2567-2568 เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจาก dot plots ล่าสุดที่ไม่มีคณะกรรมการท่านไหนเลยที่ให้ประมาณการเรื่องการลดดอกเบี้ยในปีนี้ รวมถึงในการแถลงข่าวของประธานเฟด มีการพูดว่าไม่น่าจะมีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยค่ากลางของ dot plots ส่งสัญญาณว่าการลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดในปี 2567 โดยลดลง 1 percentage points เป็น 4.6% และในปี 2568 ลดลงอีก 1.2 percentage points เป็น 3.4%


SCB CIO คาดก.ค.ปรับขึ้น 0.25%


ดร.กำพล กล่าวว่า จากการประชุมเฟดครั้งนี้ SCB CIO ได้ปรับมุมมองว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง โดยจะปรับขึ้น 0.25% ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. นี้ ส่วนการประชุมหลังจากนั้นประเมินว่ามีโอกาส 30% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม เนื่องจากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยช้าลงของเฟด น่าจะทำให้เฟดเว้นการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. (วันที่ 19-20 ก.ย.)

    และเมื่อเข้าสู่การประชุมครั้งถัดไปในเดือนพ.ย. (31 ต.ค.- 1 พ.ย.) ช่วงเวลานั้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ น่าจะชะลอลงอย่างชัดเจน ทั้งในแง่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและเทียบกับเดือนก่อนหน้า จนทำให้เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ ดังที่เคยระบุว่าเฟดไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นเงินเฟ้อแตะ 2% ถึงจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย

    ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยในการแถลงข่าว ประธาน ECB ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือน ก.ค. ยกเว้นว่ามุมมองที่มีต่อแนวโน้มในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

    ขณะที่ ECB คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซน เฉลี่ยจะอยู่ที่ 5.4% ในปี 2566 และ 3% ในปี 2567 ก่อนจะลดลงเหลือ 2.2% ในปี 2568 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1% ในปี 2566 3% ในปี 2567 และ 2.3% ในปี 2568 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์นี้ยังอยู่เหนือระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของ ECB ที่ 2% ส่วนอัตราการว่างงานในปัจจุบันอยู่ที่ 6.5% เป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ SCB CIO คาดว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือน ก.ค. และเริ่มมีโอกาสสูงขึ้นที่ ECB อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกในการประชุมเดือน ก.ย.

    เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่แม้เงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และลดลงช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จึงมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง หลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 6 ครั้งติดต่อกัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงด้านสูงจาก 2 ปัจจัย ได้แก่

    1. แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะข้างหน้า และ 2. การส่งผ่านต้นทุนที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่องและอาจมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้านี้ รวมทั้งอาจมีพฤติกรรมปรับราคาเร็วขึ้นหากมีแรงกดันด้านอุปทานเพิ่มเติม


แนะลงทุนพันธบัตรสหรัฐ


    จากแนวโน้มการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และ ECB SCB CIO ยังคงแนะนำให้เน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากประเมินว่าแม้เฟดจะปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้น แต่การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อและไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ จะทำให้ตลาดพันธบัตรมองว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลงหรือเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ในปี 2567 เฟดต้องปรับลดดอกเบี้ยตั้งแต่ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยการเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จะเป็นการป้องกันความเสี่ยง (Hedge) จากเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะอาศัยจังหวะที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย และทำให้พันธบัตรเร่งตัวในระยะสั้น เป็นจุดทยอยสะสม

    นอกจากนี้ มีมุมมองว่าควรระมัดระวังมากขึ้นกับการลงทุนในหุ้น Mega tech สหรัฐฯ รวมถึงยุโรป โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าของหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่ม Mega Tech ได้ปรับขึ้นมาสู่ระดับที่ค่อนข้างตึงตัว แม้ในระยะสั้นอาจได้อานิสงส์ของภาพเศรษฐกิจในปีนี้ที่ชะลอลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว มีแนวโน้มไม่ลดลงเร็วหลังเฟดส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยกระทบกับมูลค่า (valuation) ในอนาคต

สาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ จำกัด


    ด้าน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด แนะนำลงทุนหุ้นเวียดนาม ผ่านกองทุนเปิด ทิสโก้ เวียดนาม อิควิตี้ ทริกเกอร์ 8M#1 (TVNT8M1) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ที่มีนโยบายลงทุนใน VanEck Vietnam ETF โดย สาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ. ทิสโก้ กล่าวว่า ในช่วงต้นปีตลาดหุ้นเวียดนามปรับลงมาก เพราะความกังวลเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ปัจจุบันดัชนีหุ้นเวียดนามเริ่มฟื้นตัว เพราะปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี เห็นได้จากธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และตัวเลขอนุมัติโครงการก่อสร้างใหม่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น

    ตลาดหุ้นเวียดนามมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1. รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ เช่น การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะมากถึง 66 ล้านล้านดองต่อเดือน ผ่อนคลายการควบคุมตลาดตราสารหนี้ เตรียมเพิ่มระยะเวลา VISA ท่องเที่ยว ประกอบกับเดินหน้านโยบายอัตราดอกเบี้ยขาลงหลังอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเพียง 2.43% ซึ่ง Bloomberg และ Mirae Asset Securities คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจเวียดนามจะโตสูงถึง 7%

    2. การส่งออกโต บริโภคในประเทศฟื้น ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอานิสงส์จากการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหลือ 8% ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ต่างย้ายฐานการผลิตมายังประเทศเวียดนาม และ 3. ราคาหุ้นรับรู้ปัจจัยลบไปมากและซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี โดยมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Forward P/E) อยู่ที่ 11.2 เท่า จากค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ 14.19 เท่า สวนทางกับคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนที่ Lumen คาดว่าปี 2567 จะเติบในระดับ 2 หลัก สนับสนุนให้ปริมาณการซื้อขายเริ่มกลับมาฟื้นตัว

    “บลจ.ทิสโก้มั่นใจว่าหลังจากนี้ตลาดหุ้นเวียดนามจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะมีปัจจัยบวกทั้งการออกนโยบายสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจจากภาครัฐ การบริโภคในประเทศฟื้น และกำไรบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตสนับสนุนให้นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นเวียดนามอีกครั้ง”


อ่านเพิ่มเติม: ​“ไมเนอร์ โฮเทลส์” เชนโรงแรมไทยรุกตลาดบราซิล เปิดตัวโรงแรม “อนันตรา” แห่งที่ 2

 ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine