"ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน" ลดรอบ 8 เดือน ด้านหุ้นไทยมีลุ้น 1,800 จุด ปี 65 - Forbes Thailand

"ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน" ลดรอบ 8 เดือน ด้านหุ้นไทยมีลุ้น 1,800 จุด ปี 65

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงในรอบ 8 เดือน เหตุโควิดลากยาว ลุ้นรัฐบาลฉีดวัคซีนตามแผน แต่มั่นใจผลประกอบการหุ้นไทยยังดี ปี 65 ลุ้น 1,800 จุด สมาคมนักวิเคราะห์มองแนวโน้มไตรมาส 3 ทรงตัว แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นอาหาร การแพทย์ ลดกลุ่มเกษตร ปิโตรเคมี เหล็ก

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.05 ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.1 จากเกณฑ์ร้อนแรงเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สำหรับความเชื่อมั่นของนักลงทุนแต่ละกลุ่ม อยู่ในระดับ “ทรงตัว” ยกเว้นกลุ่มนักลงทุนสถาบันยังอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” โดยผลสำรวจดังนี้ ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลงร้อยละ 12.3 อยู่ที่ระดับ 109.91 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 44.4 อยู่ที่ระดับ 83.33 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 อยู่ที่ระดับ 130.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงอยู่ระดับ 100.00 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง มาจากการระบาดของโควิด 19 ในรอบใหม่ที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าออกไป รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย เหลือขยายตัวร้อยละ 1.8 ในปีนี้ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด “ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ระลอกปัจจุบันที่ลากยาวกว่าที่คาด ปัจจัยบวกที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ตามแผนเดือนละ 10 ล้านโดส จะผลดีต่อนักลงทุน” ไพบูลย์ กล่าว

ยังลุ้น 1800 จุดในปี 65

ไพบูลย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้การระบาดของโควิด 19 ระลอกนี้ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่มีการระบาดรวดเร็ว แต่ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนมากนักเมื่อเทียบกับการะบาดครั้งที่ผ่านมา โดยในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ซึ่งเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าเช่นเดียวกัน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักหมื่นคนต่อวัน จากก่อนหน้านี้ลดลงเหลือหลักพันคนต่อวัน แต่ตลาดหุ้นยังเป็นบวก และมีแผนเปิดประเทศในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการฉีดวัคซีนที่ช่วยลดความรุนแรงของโรค ในประเทศอังกฤษมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วร้อยละ 66 ของจำนวนประชากร ดังนั้นในประเทศไทย หากรัฐบาลบริหารจัดการแผนการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าในปี 2565 ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะกลับไปที่ 1,800 จุด ใกล้เคียงกับปี 2560-2561 ทั้งนี้ หากดูจากดัชนี MSCI ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 10 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่อยู่ร้อยละ 6 ขณะที่ตลาดหุ้นอเมริกาและยุโรปเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก ซึ่งในปีหน้าคาดว่ายังขยายตัวได้เช่นเดียวกัน “สิ่งที่กังวล คือการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ของแบงก์ชาติ จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมา 10 ล้านคนในปี 2565 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเหนื่อยแน่นอน รัฐบาลควรมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยภาคการท่องเที่ยวให้มากขึ้น รวมถึงการขยายเพดานหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ จะช่วยประคองธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศได้” ไพบูลย์ กล่าว

แนะเพิ่มลงทุนธุรกิจอาหาร-การแพทย์

ด้าน สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองด้านการลงทุนและคาดการณ์ดัชนีราคาหุ้นไทย ในไตรมาส 3 โดยนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนร้อยละ 56 มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้ม Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปจากไตรมาส 2 ขณะที่ร้อยละ 24 มองไปในทิศทางลบ และร้อยละ 20 มองไปในทิศทางบวก โดยคาดว่าดัชนีราคาหุ้นไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,609 จุด ขณะที่เป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1,647 จุด ทั้งนี้ มุมมองนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ปัจจัยที่จะมีผลดีต่อตลาดหุ้นในปี 2564 ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย รองลงมา คือแนวโน้มการฉีดวัคซีนในประเทศ และปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ แนวโน้มการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา รองลงมา คือเงินทุนจากต่างประเทศ และปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนแนะนำให้จัดพอร์ตการลงทุน โดยแนะนำให้มีเงินสดร้อยละ 13.92 กองทุนตราสารหนี้ร้อยละ 15.27 ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงนั้น แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ร้อยละ 28.58 รองลงมาเป็นหุ้นหรือกองทุนหุ้นไทย ร้อยละ 26.23 กองทุนอสังหา ร้อยละ 8.98 และทองคำร้อยละ 6.51 ตามลำดับ นอกจากนี้ สำหรับการลงทุนหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจอาหาร ธนาคาร รับเหมาก่อสร้าง พาณิชย์และการแพทย์ ส่วนหมวดที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุน ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร ปิโตรเคมี เหล็ก และชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ อ่านเพิ่มเติม: บี.กริมเพาเวอร์ ตั้งเป้าระดมทุนหมื่นล้าน
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine