“ฉางอัน ออโตโมบิล” ลุยแผนลงทุนอีวีในไทย - Forbes Thailand

“ฉางอัน ออโตโมบิล” ลุยแผนลงทุนอีวีในไทย

ยักษ์ใหญ่ค่ายรถยนต์จีน เดินหน้าลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์อีวีในไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด “ฉางอัน ออโตโมบิล” ทุ่ม 9,800 ล้านบาท ผุดโรงงานผลิตรถยนต์ เฟสแรก 100,000 คันต่อปี ส่งออกอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้


    หลังรัฐบาลไทยประกาศนโยบาย 30@30 สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยวางเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 30% ในปี 2030 หรือ 725,00 คัน เพื่อรักษาฐานผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยให้เป็นฮับของอุตสาหกรรมในภูมิภาค ปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 5 ใน 10 อันดับของจีน ประกาศแผนเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยแล้ว ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท

    ล่าสุด บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ได้ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยเป็นรายล่าสุดในงานมหกรรมยานยนต์เซี่ยงไฮ้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออโตโมทีฟ อินดัสทรี เอ็กซิบิชั่น ปี 2566 ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โปรแกรม แปซิฟิก (Program Pacific) โดยมีเป้าหมายในการ "กดปุ่มเร่ง" การขยายธุรกิจในระดับโลก

    โดยฉางอัน มีแผนใช้งบลงทุน 9,800 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) และแบบผสม (HEV) ในประเทศไทย มีกำลังการผลิตระยะแรกประมาณ 100,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกในตลาดอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้

    “ปี 2566 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญสำหรับฉางอัน ออโต เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาในระดับโลก ปัจจุบัน ฉางอัน ออโต มีฐานผลิตอยู่ในประเทศจีนและกำลังขยายธุรกิจไปทั่วโลก มีความเปิดกว้างมากขึ้นในการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย และทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์ “ตราสัญลักษณ์จีน” ให้ส่องประกายบนเวทียานยนต์ระดับโลก”

    จากยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road) ได้นำพาบริษัทจีนให้เปิดกว้าง สร้างความร่วมมือ และดำเนินการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะการขยายฐานผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลังจากการทุ่มเททำงานหนักนานหลายปี

    ในที่สุดอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนก็มีอิทธิพลไปทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่บริษัทยานยนต์ชั้นนำของจีนมีความสามารถและความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้นำห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ ได้มีโอกาสสำรวจตลาดใหม่ ๆ และสร้างเติบโตไปทั่วโลก


ยอดส่งเสริมลงทุนอีวีกว่า 1 แสนล้านบาท


ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญและสถานีชาร์จไปแล้ว คิดเป็นมูลค่า 114,753 ล้านบาท แบ่งเป็น

    1. กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 86,800 ล้านบาท ขณะนี้มีการผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 11 บริษัท
    2. กิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่สำหรับ EV 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุน 9,264 ล้านบาท แบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และ Energy Storage 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 9,309 ล้านบาท และกิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า เช่น Traction Motor ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับเคลื่อน (DCU) ระบบและอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า 16 โครงการ จาก 14 บริษัท เงินลงทุน 5,120 ล้านบาท และ     3. กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า 7 โครงการ จาก 7 บริษัท เงินลงทุน 4,260 ล้านบาท


    ทั้งนี้ มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากจีนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ได้แก่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี (SAIC Motor-Cp Co., Ltd.) แบรนด์ “เอ็มจี” บีวายดี

    ขณะที่อีก 2 รายล่าสุด คือ GAC AION ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GAC Group (Guangzhou Automotive Group) ได้ประกาศแผนลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มูลค่า 6,400 ล้านบาทปลายเดือนมี.ค. และ ฉางอัน ออโตโมบิลที่จะลงทุน 9,800 ล้านบาท โดยคาดว่าจะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

    ช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารบีโอไอ ได้เดินทางไปโรดโชว์ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และพบกับผู้ผลิตรายใหญ่ของจีน 5 ราย ได้แก่ Changan Automobile, Geely, BYD, JAC และ Jiangling Motors (JMC) ซึ่งทั้ง JAC และ JMC เป็นผู้ผลิตรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าชั้นนำ โดยทุกรายแสดงความสนใจลงทุนผลิต EV ในประเทศไทย และสนับสนุนไทยให้เป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

    เนื่องจากมองว่าไทยมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริม EV แบบครบวงจร มีซัพพลายเชนของชิ้นส่วนต่างๆ ที่พร้อมรองรับการผลิต EV อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพ และตลาดในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) คาดว่าจะมีการลงทุนจากกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใน 1 ปีข้างหน้า

    “ผู้ผลิต EV ของจีน ยืนยันมองไทยเป็นเป้าหมายลำดับแรกในภูมิภาค เพราะมีความพร้อมในทุกๆ ด้านสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรม EV ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก อีกทั้งเห็นตัวอย่างการเติบโตของบริษัทจีนรายอื่นๆ ที่เข้าสู่ตลาดในไทยก่อนหน้านี้ เช่น MG, Great Wall Motor, BYD และ NETA ทำให้เกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น” นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอกล่าว


อ่านเพิ่มเติม: “ทิวลิป” ดอกไม้ทองคำสร้างเศรษฐกิจหลักพันล้านเหรียญ


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine