“ทิวลิป” ดอกไม้ทองคำสร้างเศรษฐกิจหลักพันล้านเหรียญ - Forbes Thailand

“ทิวลิป” ดอกไม้ทองคำสร้างเศรษฐกิจหลักพันล้านเหรียญ

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Apr 2023 | 12:30 PM
READ 9342

ดอกทิวลิปหลายล้านดอกทั่วโลกกำลังบานสะพรั่ง แต่งแต้มสีสันมากมายเท่าที่จะจินตนาการได้ บางดอกมีสองสี บางดอกก็มีสามสี บางดอกเป็นลายแถบสีสวยงาม บางชนิดกลีบเป็นรอยหยัก บางชนิดมีกลีบชั้นเดียว บางชนิดก็มีหลายชั้น ดอกทิวลิปเหล่านี้ต่างส่งสัญญาณการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิด้วยเฉดสีแสนสดใส



    ทิวลิปนั้นหลากหลาย หาง่าย ประณีต งดงาม และราคาถูก ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรป ดอกทิวลิปโหลหนึ่งมีราคาราว 2.50 ยูโร ยากมากที่จะพบต้นอ่อนทิวลิปราคาแพงกว่า 40 หรือ 50 เซนต์ เหล่าผู้เชี่ยวชาญการทำสวนต่างก็เชื่อว่าทิวลิปได้แย่งตำแหน่งดอกไม้ยอดนิยมที่สุดในโลกจากกุหลาบมาเสียแล้ว

    ที่แน่นอนคือความนิยมของทิวลิปได้แซงหน้ากล้วยไม้ ไฮยาซินธ์ และนาร์ซิสซัสซึ่งต่างก็เป็นดอกไม้ที่ขายได้มากที่สุดในยุโรป นอกจากความดึงดูด ทิวลิปยังปราศจากความหมายโดยนัยเกี่ยวกับความรักหรือความเศร้าโศกเช่นเดียวกับดอกไม้อื่นๆ

    “ความสดใสของพวกมันทั้งน่าสนใจ สวยงาม และเต็มไปด้วยสีสันตระการตา” Abra Lee ผู้เชี่ยวชาญการทำสวนและนักประวัติศาสตร์บอกกับ Mona Chalabi คอลัมนิสต์บนเว็บไซต์ The Guardian “ในขณะที่ดอกไม้อื่นๆ เช่น แดฟโฟดิล และซากุระจะพาเข้าสู่ฤดูใบผลิอย่างเงียบเชียบและอ่อนโยน ทิวลิปกลับเปิดตัวอย่างอลังการ กล้าหาญ ไม่เหมือนใคร และเป็นดั่งสัญญาณเริ่มต้นงานเลี้ยง”

    ปัจจุบันมีทิวลิปกว่า 150 สปีชีส์ ซึ่งทิวลิปเป็นพืชตระกูลเดียวกับลิลี่และหัวหอม โดยมีจำนวนถึง 3,000 สายพันธุ์


ตัวเลขที่น่าสนใจ


    ในอีกมุมหนึ่ง ณ สหรัฐอเมริกา อ้างอิงจากรายงานล่าสุดของ United States Department of Agriculture (USDA) มีการขายทิวลิป 1 ดอกต่อคน 2 คนในปี 2020 ซึ่งแปลได้ว่ามีต้นอ่อนทิวลิปมากกว่า 175 ล้านต้นถูกขายในปีดังกล่าว

    จากบทความของ Chalabi อาจกล่าวได้ว่าทิวลิปเป็นดอกไม้ที่มียอดขายสูงสุดในสหรัฐฯ “แม้ดอกไม้สปีชีส์อื่นๆ จะมีตัวเลขการขายใหญ่โต (ดอกเยอร์บีร่า 83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลิลี่ 69 ล้านเหรียญ) กลับยังไม่มีดอกไม้ชนิดใดเข้าใกล้ทิวลิปซึ่งมีชื่อจากคำภาษาตุรกีที่แปลว่าผ้าโพกหัวได้เลย”

    “ฟลอริด้าเป็นรัฐที่เปรียบเสมือนผู้นำ พืชเศรษฐกิจชนิดนี้มีมูลค่า 1.14 พันล้านเหรียญ เพิ่มมา 7 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าในปี 2019” United States Department of Agriculture รายงาน

    “แคลิฟอร์เนียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับต่อมา โดยมีมูลค่าการขายลดลง 5 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้าเหลือ 967 ล้านเหรียญ ตัวเลขจากสองรัฐนี้คิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่ารวมทั้งหมด โดยในปี 2020 ห้ารัฐลำดับต้นๆ ได้แก่ ฟลอริด้า แคลิฟอร์เนีย มิชิแกน นิวเจอร์ซีย์ และโอไฮโอ มียอดขายรวมกัน 3.13 พันล้านเหรียญ หรือ 65 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทั้งหมด”


    สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของธุรกิจดอกไม้ ทาง USDA เปิดเผยมูลค่ายอดขายดอกไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ 4.80 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2020 เทียบกับ 4.42 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2019

    ขณะที่ในยุโรป ปี 2022 รายงานจาก Eurostat ซึ่งเป็นหน่วยงานสถิติของสหภาพยุโรปที่เพิ่งมีการเปิดเผยในเมษายน 2023 ยุโรปส่งออกต้นอ่อนของทิวลิป กล้วยไม้ ไฮยาซินธ์ และนาร์ซิสซัสมากกว่า 100 ล้านยูโรทั่วโลก

    ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่กลับกลายมาเป็นมหานครแห่งทิวลิปส่งออกดอกไม้ดังกล่าวคิดเป็น 81 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด “ผู้ส่งออกลำดับต้นรายอื่นๆ มียอดส่งออกต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ลิธัวเนีย 7 เปอร์เซ็นต์คิดเป็น 6.7 ล้านยูโร, โปแลนด์ 5 เปอร์เซ็นต์คิดเป็น 4.8 ล้านยูโร, เดนมาร์ก 2 เปอร์เซ็นต์คิดเป็น 2.1 ล้านยูโร และลัตเวีย 2 เปอร์เซ็นต์คิดเป็น 2 ล้านยูโร” Eurostat อธิบาย

    โดยดอกไม้ พืช และต้นอ่อนส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป สวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของสหภาพยุโรปโดยคิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์หรือ 31 ล้านเหรียญ บริเตนใหญ่มีตัวเลขการนำเข้าที่ 21 ล้านยูโร, นอร์เวย์ 12 ล้านยูโร, รัสเซีย 9 ล้านยูโร และยูเครน 5.5 ล้านยูโร


ความคลั่งไคล้ทิวลิป


    แม้คำว่า “ความคลั่งไคล้ทิวลิป (Tulip Mania)” จะสามารถนำมาอธิบายเทรนด์ความนิยมทิวลิปทั่วโลกในขณะนี้ได้ อันที่จริงแล้วคำๆ นี้มีที่มาย้อนไปในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ดัตช์ราวปี 1634 ซึ่งมูลค่าของทิวลิปเริ่มจะขยับสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากความนิยมที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การเก็งกำไรที่กระตุ้นวิกฤตทางการเงิน

    ดอกทิวลิปถูกอธิบายใน Brussels Times ว่า “กลายเป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรปและในปี 1634 ราคาของมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์กระทั่งฟองสบู่เศรษฐกิจแตกในปี 1637 การค้าขายดอกไม้ชนิดนี้จึงกลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สาธารณรัฐดัตช์ครองตำแหน่งประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกคิดจากรายได้ต่อบุคคล ณ เวลานั้น”

    เหล่าพ่อค้ายังจัดให้มีการซื้อขายสินค้าอันเป็นที่ต้องการเหล่านี้ล่วงหน้า โดยให้ผู้ซื้อทำสัญญาสำหรับการจัดส่งต้นอ่อนในอนาคต ระบบการค้าขายนี้ยังถูกนำมาใช้กับเงินตรา โภคภัณฑ์ และพลังงานในตลาดยุโรปในยุคปัจจุบัน


    ทุกวันนี้ ทิวลิปกลับมาทวงคืนความนิยมอีกครั้ง และเนเธอร์แลนด์ยังคงครองตำแหน่งผู้ผลิตทิวลิปเชิงพาณิชย์รายหลักของโลก โดยมีการส่งออกต้นอ่อนในปริมาณมหาศาลถึง 3 พันล้านต้นต่อปี ประเทศนี้ยังเป็นผู้ส่งออกดอกไม้รายใหญ่ไปทั่วโลก มีการส่งออกดอกไม้มากกว่า 2 พันล้านดอกในแต่ละปี คิดเป็นยอดขายมูลค่า 250 ล้านยูโรต่อปี และที่ดินเกือบ 35,000 เอเคอร์ก็ถูกใช้เพื่อการเพาะปลูกดอกไม้เหล่านี้

    นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์แล้ว ดอกทิวลิปยังเป็นดอกไม้ประจำชาติประเทศตุรกีและอิหร่านอีกด้วย

    หากคุณเองก็ชื่นชอบดอกทิวลิปแล้วละก็ มีเทศกาลดอกทิวลิปทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลกให้ได้ไปเยือน ในอเมริกาเหนือ เทศกาลเหล่านี้มักจัดในเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากดัตช์ เช่น อัลบานีในนิวยอร์ค ออตตาวาในอนตาริโอ กาตีโนและมอนทรีออลในควิเบก ฮอลแลนด์ในมิชิแกน ลีไฮในยูทาห์ ออเรนจ์ซิตี้และเพลลาในไอโอวา เมาท์เวอร์นอนในวอชิงตัน และวู้ดเบิร์นในโอเรกอน

    นอกจากเทศกาลที่จัดขึ้นทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์แล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย และอังกฤษ ต่างก็เฉลิมฉลองให้กับดอกทิวลิปแสนอัศจรรย์เหล่านี้เช่นกัน


แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ Tulip Mania And The Multimillion-Dollar Industry Behind The World’s New Most Popular Flower ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com


อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีเกาหลีใต้ ประจำปี 2023


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine