จีนเชื่อมั่นลงทุนไทย เทรนด์ต่อไปมุ่ง BCG - Forbes Thailand

จีนเชื่อมั่นลงทุนไทย เทรนด์ต่อไปมุ่ง BCG

จีนย้ำเชื่อมั่นลงทุนไทย ในโอกาสครบรอบ 10 ปี “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) จ้างงานคนไทย 45,000 ตำแหน่ง เทรนด์ลงทุนต่อไปมุ่ง BCG เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด ขณะที่ยอด 8 เดือนแรกของปีนี้ยื่นขอลงทุนไทยกว่า 90,000 ล้านบาท แนะไทยเร่งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพิ่มมูลค่าการค้า การส่งออกในอนาคต


    ในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโครงการระดับชาติที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ ปัจจุบัน มีการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ BRI คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงการนี้กว่า 150 บริษัท รวมกว่า 3,000 โครงการ และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 420,000 คน รวมถึงประเทศไทย

    ที่ปรึกษาการลงทุนจีนในประเทศไทย สยาม ธิงค์ แทงค์ (Siam Think Tank) และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดย เผิง เฟย ที่ปรึกษา สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า จีนยังเชื่อมั่นลงทุนในประเทศไทย โดยจีนถือเป็นคู่ค้าและเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย


    ในปี 2565 การค้าจีน – ไทย มีมูลค่ากว่า 134,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนโดยตรงจากจีน มีมูลค่า 1,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 จีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอกว่า 90,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และแนวโน้มการลงทุนต่อไปจะอยู่ในกลุ่ม BCG เน้นการลงทุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดิจิทัล และพลังงานสะอาด ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทย ถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของคนจีน

    “ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คนไม่มีกำลังในการจับจ่าย แต่แนวโน้มเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยครึ่งแรกของปีนี้ มีอัตราการขยายตัว 5.5% ส่วนเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น มองเป็นเรื่องระยะสั้น รวมถึงการจัดการปัญหาอย่างรวดเร็วของรัฐบาลไทย แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของคนไทย เชื่อว่าคนจีนจะกลับมาเที่ยวไทยโดยเร็ว” เผิง เฟยกล่าว


10 ปี จ้างงานคนไทย 45,000 ตำแหน่ง

    หมินซิน หลี่ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สยาม ธิงค์ แทงค์ (Siam Think Tank) กล่าวว่า ปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ มีจำนวนกว่า 200 โรงงาน ส่งผลให้เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 45,000 ตำแหน่ง โดยในอนาคตทั้งสองประเทศจะขยายความร่วมมือในหลากหลายมิติต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว เป็นต้น

    จากการเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงาน Friends of Silk Road Club ของประเทศไทย ได้เยี่ยมชมโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง บนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นผู้ผลิตเครื่องนอนจากยางพารา บริษัท เว่ย ฮาว ลาเท็กซ์ จำกัด ซึ่งใช้วัตถุดิบจากพาราไทยเป็นหลัก และผู้ผลิตล้อแม็กซ์อลูมิเนียม บริษัท นิว ไทย วีล เมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เป็นบริษัทในเครือ ลีจงกรุ๊ป เป็นโรงงานผลิตล้อแม็กรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ปัจจุบันมีจำนวนพนักงาน 1,600 คน โดย 80% เป็นคนไทย


    นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด( Huawei Technologies Thailand) ผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการทั้งเครือข่ายโทรคมนาคมและเครือข่ายองค์กร อุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีและบริการคลาวด์ โซลูชั่น และสมาร์ท ซิตี้ ที่ได้รับการยอมรับมากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานกว่าหนึ่งในสามของประชากรทั่วโลก

    หมินซิน หลี่ กล่าวว่า โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นโครงการระดับโลก ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้า การลงทุน และพัฒนาพื้นที่ในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา โครงการฯ ประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือการสร้างโครงข่ายทางขนส่งทางบกและทางทะเล โดยมีการพัฒนาเส้นทางงรถไฟ ถนน ท่าเรือ และสนามบิน เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และ แอฟริกา เข้าด้วยกัน โดยประเทศในเส้นทางของโครงการฯ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิหร่าน คาซัคสถาน โปแลนด์ ยูเครน เบลารุส กรีซ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อียิปต์ โมร็อกโก ซูดาน เคนยา รวันดา แองโกลา และ มาดากัสการ์ เป็นต้น

    “การเชื่อมโยงภูมิภาค เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เข้าด้วยกัน ถือเป็นเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์เส้นทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ” หมินซิน หลี่ กล่าว

    ขณะที่ เผิง เฟย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการลงทุนภายใต้ BRI ในประเทศไทย มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นเรือธง มูลค่าการลงทุนกว่า 200,000 แสนล้านบาท รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งหากสำเร็จจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก และอีกโครงการที่สำคัญ คือนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ซึ่งยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน



อ่านเพิ่มเติม : HP เผยผลสำรวจ มิลเลเนียลและ Gen X เชื่อมั่นเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine