ความไม่แน่นอน-สงคราม บีบเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย - Forbes Thailand

ความไม่แน่นอน-สงคราม บีบเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย

สัปดาห์นี้ นักลงทุนจับตามองการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันอังคารที่ 31 ต.ค.อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25 – 5.50% ขณะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่า หลังตัวเลขการส่งออกเริ่มฟื้นตัว


    จากข้อมูลของ CME Fedwatch รายงานว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดกว่า 99% คาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25%-5.50% เช่นเดียวกับเดือนก.ย. ที่ผ่านมา รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายในเดือนธ.ค.นี้ เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนี้ต่อไป เหตุผลหลักที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองแบบนี้ เนื่องจากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงด้านปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณลบต่อตลาดหุ้น


SCB CIO ประเมินผลกระทบสงคราม

    สอดคล้องกับทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจและข้อมูลด้านการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB CIO) ที่มองว่าการประชุมเฟดสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว โดย ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO)    ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ ยังมีความไม่แน่นอนสูง


    SCB CIO ประเมินความเป็นไปได้ของสงครามครั้งนี้เป็น 3 ฉากทัศน์  (Scenario analysis) ได้แก่ 1. สงครามจำกัดวง (Confined war) การสู้รบยังคงจำกัดอยู่ในฉนวนกาซา อิสราเอล และพรมแดนรอบ ๆ ไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น มีการจำกัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน 2. สงครามตัวแทน (Proxy war) ความขัดแย้งลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เลบานอน และ ซีเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่าน ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอล และ อิหร่าน และ 3. สงครามทางตรง (Direct war) ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอล และชาติอาหรับซึ่งนำโดยอิหร่าน และมีการจำกัดการส่งออกน้ำมันจากผู้ส่งออกหลักในตะวันออกกลาง

    ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่สงครามน่าจะอยู่ฉากทัศน์ที่ 1 ประมาณ 40% ส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่มขึ้น ประมาณ 4 ดอลลาร์/บาร์เรล จากความเสี่ยงทางการเมือง (Political risk premium) ด้านอัตราเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับที่จัดการได้ ส่วนฉากทัศน์ที่ 2 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึง 40% เช่นกัน และอาจทำให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น 8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล  ส่งผลให้ตลาดน้ำมันโลกเกิดความกังวลแต่ไม่ถึงกับตื่นตระหนก (concerned but not panic)   และฉากทัศน์ที่ 3 มีโอกาสที่จะเกิดค่อนข้างน้อย ประมาณ 20% แต่เป็นฉากทัศน์ที่จะส่งผลรุนแรงต่อราคาน้ำมันโลกที่อาจพุ่งขึ้นรวดเร็วในระยะสั้น ประมาณ 64 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

    “สำหรับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น SCB CIO จึงยังคงมุมมองว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 5.25-5.50% และเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3/2567 สู่ระดับ 4.50%-4.75% ณ สิ้นปี 2567”


แนะลงทุนแบบระมัดระวัง

    SCB CIO แนะนำให้ลงทุนแบบระมัดระวัง เน้นสินทรัพย์คุณภาพ (Flight to Quality) ในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยยังสูง และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าสงครามครั้งนี้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม แต่ด้วยบทเรียนจากสงครามยมคิปปูร์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2516 ส่งผลกระทบต่อโลกการลงทุนเป็นวงกว้าง ทั้งตลาดน้ำมัน เศรษฐกิจ ตลาดเงิน และ ตลาดทุนโลก มีผลรุนแรงทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรงในช่วง 6 เดือนหลังสงคราม โดยราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานเร่งตัวตามไปด้วย

    นอกจากนี้ นักลงทุนควรจัดการความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ด้วยการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลากหลาย (diversified commodities) และระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และได้ปรับมุมมองให้ทยอยสะสม หรือ Slightly positive หุ้นสหรัฐฯ (จากเดิมแนะนำถือ) ด้วยเหตุผลที่มูลค่า (Valuation) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ จากที่สัดส่วนตัวเลขคาดการณ์ราคาต่อกำไรต่อหุ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า (5 year fwd P/E) ของตลาดหุ้น S&P500 เคยสูงสุด 19.0 เท่า เมื่อเดือน ก.ค. 2566 ตัวเลขนี้ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 17.25 เท่า ด้วยค่าความผันผวนเพียง -0.4 S.D.

    อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ Fed น่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนแล้ว ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นแค่ชะลอตัว (Soft landing) เงินเฟ้อชะลอลง ทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มการปรับประมาณการผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ดีขึ้น

    ด้านภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2566 ใน S&P 500 ล่าสุด (ข้อมูลถึงวันที่ 25 ต.ค. 2566) พบว่า มีการประกาศงบแล้ว 29% ของบริษัททั้งหมด โดย 78% ของบริษัทที่ประกาศแล้ว ออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ นำโดยกลุ่มเทคโนโลยี (IT) กลุ่มสุขภาพ (Health Care) และ กลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer Staple) ขณะที่ บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Mega Cap 10 ซึ่งมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่สุด 10 บริษัท ส่วนใหญ่ก็มีผลประกอบการไปในทิศทางที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้


เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

    บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อน โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐ ปรับตัวลง

    ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทยที่ขยายตัวมากกว่าที่คาด และการกลับเข้ามาซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในระหว่างสัปดาห์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐดีกว่าที่คาด หนุนบอนด์ยีลด์สหรัฐ และเงินดอลลาร์ ให้แข็งค่าขึ้น

    สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมานั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,598 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,695 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 10,973 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,278 ล้านบาท)

    สัปดาห์ถัดไป (30 ต.ค.-3 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการปรหะชุมเฟด (31 ต.ค.-1 พ.ย.) รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ย. ของธปท. สัญญาณเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล

    สำหรับดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ หลังร่วงลงแรงในระหว่างสัปดาห์ โดยภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ และโอกาสที่เฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีข้อสรุป

    อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์นี้ (30 ต.ค.-3 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,360 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (31 ต.ค.-1 พ.ย.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย



อ่านเพิ่มเติม : บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ เคาะ 11 อุตสาหกรรมบุกตลาดโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine