ความรู้คือขุมทรัพย์ การสร้างภูมิคุ้มกันและสุขภาพทางการเงินให้พนักงาน - Forbes Thailand

ความรู้คือขุมทรัพย์ การสร้างภูมิคุ้มกันและสุขภาพทางการเงินให้พนักงาน

    ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและการเชื่อมต่ออย่างไร้พรมแดน เราปฎิเสธไม่ได้ว่าความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรมี เพื่อบริหารจัดการด้านการเงินส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและพึ่งฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19  ความกังวลเกี่ยวกับการเงินยังคงมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากผลวิจัยล่าสุดจากบริษัท Mintel บริษัทข่าวกรองการตลาดระดับโลกพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยประมาณ 8 ใน 10 คนประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

    ความท้าทายทางด้านการเงินไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยที่ส่งผลทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อตัวบุคคลและองค์กรที่พวกเขาทำงานด้วย

ความเครียดทางการเงินและผลกระทบ

    เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความเครียดทางการเงินสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่นภาวะซึมเศร้าและความคิดฆ่าตัวตาย จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่าร้อยละ 46 ของผู้ที่มีหนี้สินมักจะมีอาการทางจิตควบคู่เช่นกัน

    นอกจากนี้ ความเครียดทางการเงินยังนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของพนักงานในองค์กร ส่งผลให้คุณภาพงานแย่ลง ความสัมพันธ์ในองค์กรตึงเครียดมากขึ้น และอาจส่งผลให้อัตราการลาออกของพนักงานเพิ่มสูงขึ้น งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่มีความเครียดทางการเงินมีแนวโน้มที่จะหางานใหม่เพิ่มขึ้นสองเท่าและมีประสิทธิภาพการทำงานลดน้อยลงถึงห้าเท่า

    นอกจากผลกระทบต่อตัวพนักงานเอง ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อนายจ้างที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าล่วงเวลาของพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน และค่ารักษาพยาบาล

เจาะลึกถึงกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงิน

    การศึกษาซึ่งจัดทำโดย Google Temasek และ Bain & Company ในปี 2562 ระบุว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 6 ใน 10 คน ถูกประเมินว่าเป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้อย่างเต็มที่ ประชาชนในกลุ่มนี้อาจมีบัญชีธนาคาร แต่มักใช้บริการทางการเงินนอกระบบธนาคาร หรือบางคนอาจไม่มีบัญชีธนาคารเลย

    ในบรรดากลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน มีกลุ่มย่อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มแรงงานค่าแรงต่ำ ลูกจ้างรายวัน คนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน และนักศึกษา ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากความเครียดทางการเงิน โดยเฉพาะนักศึกษา ที่ต้องเผชิญกับความกดดันอย่างมากในเรื่องของการเรียน และปัญหาทางการเงินมักทำให้ระดับความเครียดของพวกเขายิ่งแย่ลง มีนักศึกษาเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงเงินกู้จากธนาคารได้ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่นายจ้างจะสามารถสร้างความแตกต่างได้ โดยการมุ่งเน้นช่วยประชากรกลุ่มนี้ เนื่องจากพวกเขาคือกลุ่มคนที่จะเป็นพนักงานที่มีศักยภาพของบริษัทในอนาคต

    ในทำนองเช่นเดียวกับกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน  มีพนักงานจำนวนมากที่ได้รับค่าแรงขึ้นต่ำ และใช้เงินเดือนชนเดือน ต้องการความช่วยเหลือ เพราะพวกเขามักจะประสบปัญหาในการขออนุมัติเงินกู้จากธนาคาร เนื่องจากมีประวัติทางการเงินที่จำกัด ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาทางการเงินกลายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความเครียดสำหรับพนักงานเหล่านี้ โดยมีพนักงานค่าแรงต่ำ 1 ใน 5 คน (ร้อยละ 21) กล่าวว่าความเครียดส่งผลกระทบทางด้านลบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขา

เส้นทางสู่ภูมิคุ้มกันทางการเงิน

    ความเครียดทางการเงินเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ต้นเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการขาดความรู้ทางการเงิน วินัยในการออม และโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อหรือทรัพยากรจากธนาคารรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่วงจรหนี้สินไม่รู้จบ

    การสร้างเสริมโอกาสให้แก่พนักงานในกลุ่มนี้ให้เข้าถึง เครื่องมือที่จะสามารถทำให้พวกเขามีความมั่นคงทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อขจัดวงจรความเครียดทางการเงินให้หมดไป ควรจัดให้มีแนวทางแก้ไขที่จะให้การสนับสนุนพวกเขาและให้ความรู้ทางการเงินที่ครอบคลุม สิ่งนี้จะทำให้พนักงานสามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น

    เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น Mula-X ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทค (FinTech) ที่สร้างขึ้นโดยนายธนาคารมุ่งเน้นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยใช้เทคโนโลยีให้กับกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเต็มที่ โดย Mula-X  ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแอปพลิเคชันขั้นสูงบนอุปกรณ์มือถือ โมเดลข้อมูลทางเลือก API และระบบคลาวด์ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ช่วยกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเต็มที่ ให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดายและคุ้มค่า

    นอกจากนี้ นายจ้างก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่พนักงานเช่นกัน นอกจากนายจ้างจะตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนในการดูแลให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีผ่านการประกันสุขภาพ นายจ้างควรจะให้ความสนใจในสุขภาพทางการเงินของพนักงานเช่นกัน โดนเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงผลกระทบที่มีนัยยะสำคัญต่อทั้งสองฝ่าย

    การทำงานร่วมกับบริษัทฟินเทคอย่างเช่น Mula-X สามารถช่วยนายจ้างหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเครียดทางการเงินของพนักงาน โดยช่วยทำให้สามารถเข้าถึงเงินฉุกเฉินได้ทันทีที่ต้องการ และเข้าถึงเครื่องมือที่ให้ความรู้ทางการเงิน การออม ระเบียบวินัยและการตัดสินใจที่ดีขึ้น

    ท้ายที่สุดแล้ว ความรู้ทางการเงินเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านของตัวของพนักงานเองและองค์กร  ผู้นำธุรกิจควรเป็นผู้ชี้นำทางและค้นหาระบบที่จะช่วยให้พนักงานสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ยั่งยืน พร้อมปลดล็อกศักยภาพของพวกเขาในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่นายจ้างที่มีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบพึงกระทำ และนอกจากนั้นก็จะให้ผลบวกในเชิงธุรกิจด้วย


บทความโดย: จารุมณี นาคะศิริ ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายกลยุทธ์และธรรมาภิบาล Mula-X


    อ่านเพิ่มเติม : LINE OpenChat ปล่อย “Live talk” ฟีเจอร์ใหม่ล่าสุด ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ทอล์กได้ทุกวัน ฟังมันส์ทุกห้อง” รองรับสูงสุด 10,000 คน

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine