Turtle ร้านค้าปลีกน้องใหม่ของตระกูล “กาญจนพาสน์” ลุยเปิดต่อ ขยายสู่สายสีเหลือง - Forbes Thailand

Turtle ร้านค้าปลีกน้องใหม่ของตระกูล “กาญจนพาสน์” ลุยเปิดต่อ ขยายสู่สายสีเหลือง

ใครใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสคงได้เห็นร้านขายของสีชมพูดีไซน์แปลกตาที่ชื่อว่า “เทอร์เทิล” (Turtle) ร้านค้าปลีกน้องใหม่ของตระกูล “กาญจนพาสน์” เจ้าของเครือข่ายบีทีเอส กับภารกิจเดินหน้าต่อ รุกเปิดใหม่อีกเท่าตัว พร้อมขยายสายสีเหลืองเดือนกรกฎาคมนี้


    ร้านเทอร์เทิล ดีไซน์แปลกตา เปิดตัวครั้งแรกบนรถไฟฟ้าบีทีเอสสาขาเซนต์หลุยส์ในปลายปี 2564 ท่ามกลางการระบาดของโควิดในเมืองไทย ทำให้หลายคนสงสัยว่า ร้านนี้จะไปรอดหรือไม่ เพราะมักจะไม่ค่อยเห็นลูกค้าเข้าออกร้านพลุกพล่านเหมือนกับร้านค้าปลีกที่พบบนท้องถนนทั่วไป

    ถึงวันนี้ มีร้านเทอร์เทิล 22 แห่งเปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีหลักๆ แล้ว เช่น เซนต์หลุยส์, เพลินจิต, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อโศก, ศาลาแดง, ชิดลม, หมอชิต และอ่อนนุช เป็นต้น

    แม้เป็นแบรนด์ใหม่ในตลาดเมืองไทย แต่ร้านเทอร์เทิลเป็นอีกแบรนด์ที่ต้องจับตา เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นธุรกิจในเครือบีทีเอส จากตระกูล “กาญจนพาสน์” แต่ยังมี “เอียน ลองเด้น” มือปืนรับจ้างที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการค้าปลีกในไทยมาเกือบ 30 ปี มานั่งแท่นเป็นประธานกรรมการบริหาร และบุกเบิกร้านเทอร์เทิลตั้งแต่สาขาแรกเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา


    เอียน เป็นคนดูแลการเปิดร้านวัตสันในปี 2539 ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเพียง 1 ปี หลังจากได้ย้ายมาเป็นผู้กุมบังเหียนบริหารร้านโลตัสเอ็กซ์เพรส ก่อนจะข้ามฟากมาที่มินิบิ๊กซี ประสบการณ์การทำงานใน 3 บริษัทค้าปลีก ทำให้เอียนได้เรียนรู้เรื่องการเลือกทำเล การก่อสร้าง และเปิดสาขาของร้านค้าปลีกทั้ง 3 แบรนด์กว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ

    “การเปิดร้านวัตสันบนบีทีเอสสาขาแรกที่สถานีอารีย์ ทำให้ผมได้ดีลธุรกิจกับคุณเควิน (ชื่อเล่นของคุณกวิน กาญจนพาสน์) ประธานกรรมการบริหารของบีทีเอส ผมมาจากวัตสันฮ่องกง พอรู้แนวทางการทำงานสไตล์ฮ่องกง เมื่อถูกชวนมาร่วมงานกับร้านเทอร์เทิล ก็ตัดสินใจได้ไม่ยากมากนัก” เอียนบอก


    ในครั้งแรกที่ต้องออกแบบร้านเทอร์เทิลซึ่งเปิดบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ที่จะทำให้ร้านเข้ากับสถานีรถไฟฟ้า เพราะมีต้นเสาทั้งสูงและใหญ่อยู่ตรงกลางของพื้นที่บนสถานี แต่ภายในเวลา 2 เดือนของการทำงานที่บ้าน เอียนก็ได้ร้านเทอร์เทิลในดีไซน์ที่มีรูปร่างเป็นอินฟินิตี้ยาวเหยียดบนพื้นที่ขนาด 220 ตารางเมตร และเปิดสาขาแรกที่สถานีเซนต์หลุยส์ในเดือนธันวาคม 2564

    การระบาดของโควิดมีผลดีในบางเรื่องกับการเริ่มต้นธุรกิจของร้านเทอร์เทิล

    “ก่อนจะเปิดร้าน ผมได้ติดต่อไปยังบางกอกแอร์เวย์และไมเนอร์ฟู้ด เพื่อให้ช่วยผลิตอาหารพร้อมทาน และเบเกอรี่ให้กับร้านเทอร์เทิล ผู้บริหารทั้งสองบริษัทตกลงรับผลิตสินค้าทั้งที่จำนวนที่สั่งไม่ได้มากมายอะไร ถ้าไม่มีโควิด ผมก็ไม่ทราบว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรเหมือนกัน” เอียนเล่า

    นอกจากเบเกอรี่อบสดใหม่ และอาหารพร้อมทานสำหรับ grab & go แล้ว ร้านเทอร์เทิลยังจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องดื่ม สินค้าผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย เวชสำอาง ของใช้ภายในบ้าน จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก รวมทั้งสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ของเทอร์เทิลเองและสินค้าฝากขายจากแบรนด์ดัง เช่น After You, Xiaomi , Karmarts อีกกว่า 3,500 รายการ และเปิดทำการตั้งแต่เวลา 06.00 - 23.00 น. ทุกวัน


    ขณะนี้สินค้าที่จำหน่ายในร้านเทอร์เทิลยังเหมือนกันทุกร้าน ยกเว้นในทำเลที่มีลูกค้าหนาแน่น อาทิ อโศก จะมีการขายสินค้าประเภทยาด้วย แต่ในอนาคตจะมีการนำเสนอสินค้าตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เช่น มีสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวในทำเลย่านท่องเที่ยว และบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

    เอียนบอกว่า ธุรกิจของเทอร์เทิลไปได้ดี และในปีที่ผ่านมามีการเติบโตของสาขาเดิมเพิ่มขึ้นถึง 70% เทียบกับปีก่อนหน้า เพราะคนเริ่มกลับมาเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและกลับเข้าทำงานที่บริษัทตามปกติ บริษัทจึงเปิดสาขาเพิ่มอีก 17 แห่ง ทำให้ร้านเทอร์เทิลมีสาขาทั้งสิ้น 20 สาขาในปี 2566

    ด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ร้านเทอร์เทิลยังเดินหน้าลงทุนเชิงรุก โดยจะเปิดสาขาใหม่อีก 22 สาขา ส่วนหนึ่งจะเปิดบนสถานีบีทีเอสสายสีเขียว และอีกส่วนหนึ่งจะเริ่มขยายบริการไปยังรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คาดว่าจะเปิด 3 แห่งก่อน ที่สถานีลาดพร้าว บางกะปิ และศรีนครินทร์ โดยการเปิดร้านเทอร์เทิลแต่ละสาขาจะมีการจ้างงาน 10-15 คน

    เอียน บอกว่า ขณะนี้บริษัทได้รับอนุมัติให้เปิดเทอร์เทิลบนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการก่อสร้างที่ต้องทำอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้เดินทางมากที่สุด คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือนในการก่อสร้างร้านเทอร์เทิลแต่ละสาขา


    จากข้อมูลของบีทีเอสระบุว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด มีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสโดยเฉลี่ย 8 แสนคนต่อวัน และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนต่อวันในปี 2568 จากการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้น

    และจากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว มีผลเชิงบวกกับร้านเทอร์เทิล เพราะจะมีชาวต่างชาติใช้บริการบีทีเอสเพิ่มขึ้น และมีโอกาสเป็นลูกค้าของร้านเทอร์เทิลด้วย

    “เราตั้งเป้าหมายว่าลูกค้าที่ใช้บริการบีทีเอสประมาณ 4-6% ของผู้เดินทางโดยบีทีเอสในแต่ละสถานี ที่จะแวะมาใช้บริการที่ร้านเทอร์เทิลในแต่ละวัน ร้านของเราจะไม่พลุกพล่านเหมือนร้านค้าปลีกบนถนน ลูกค้าจะเข้าร้านเราในทุกๆ 5 นาทีเมื่อรถไฟฟ้ามาถึงสถานี หลังจากนั้นอาจเบาบางลงไป” เอียนเล่าพร้อมหัวเราะ

    ปัจจุบัน 95% ของลูกค้าเป็นคนไทยและอีก 5% เป็นต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และคนทำงานออฟฟิศอายุระหว่าง 24-45 ปี การใช้จ่ายต่อบิลอยู่ที่ 80 บาท รายได้ของร้านเทอร์เทิล 25% มาจากสินค้าเบเกอรี่ อาหารพร้อมทาน อาหารญี่ปุ่น และกาแฟ ซึ่งเป็นแบรนด์ของร้านเทอร์เทิลเอง


    “ลูกค้าที่เห็นราคากาแฟและเบเกอรี่จากร้านของเราก็มักจะคิดว่าแพง แต่ทุกคนที่ได้ลองจะกลับมาซื้อซ้ำ และเข้าใจว่าสินค้าของเรามีคุณภาพ นอกจากคุณภาพสินค้าแล้ว ทำเลที่ตั้งก็สำคัญไม่แพ้กัน” เอียนบอก

    นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษอีกมากมายของสมาชิก Rabbit Rewards และโปรโมชันพิเศษตลอดทุกเดือน ปัจจุบันร้านเทอร์เทิลมีสมาชิก 50,000 คน คิดเป็น 40% ของยอดขายทั้งหมด บริษัทตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสมาชิกเป็น 60% ภายในสิ้นปีนี้

    “ร้านเทอร์เทิลยังเป็นน้องใหม่ในตลาด เราจึงเตรียมพัฒนาสินค้าที่คุ้มค่าเงินกับที่ลูกค้าจ่าย อร่อย และโปรโมชั่น รวมทั้งประสบการณ์จากการบริการ สิ่งที่ท้าทายเรามากที่สุดตอนนี้คือการหาพนักงาน และการอบรมพนักงาน การให้พนักงานมีเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ และสร้างให้เทอร์เทิลเป็นแบรนด์ที่ลูกค้ารักมากขึ้น” เอียนบอก


    ด้วยความที่ร้านเทอร์เทิลเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของบีทีเอส ทำเลที่ตั้งเข้าถึงได้อย่างสะดวก สินค้าหลากหลาย เครือข่ายพันธมิตรกว้างขวาง ประสบการณ์ยาวนานในวงการค้าปลีกของผู้บริหารและสายป่านยาว ความฝันที่จะมีร้านเทอร์เทิล 100-120 แห่งภายใน 5 ปีจากนี้ คงไม่ใช่เรื่องเกินกำลัง



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ไม่ขาดทุนแล้ว พลิกสู่กำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี เตรียมลุยไซส์เล็ก ดันฐานคนไทยเพิ่ม

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine