เปิดมุมมอง “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” นำทัพฝ่าคลื่นตอบโจทย์อนาคต - Forbes Thailand

เปิดมุมมอง “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” นำทัพฝ่าคลื่นตอบโจทย์อนาคต

ปีนี้นับเป็นปีแห่งการกลับมาที่ยิ่งใหญ่ของ “ดุสิตธานี” เจ้าถิ่นหัวมุมสีลม ถนนสายธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวกลางกรุงที่ไม่เคยหลับใหล ตำนานอาณาจักรแห่งนี้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จัดงานใหญ่ระดับชาติมาหลายยุคหลายสมัย วันนี้เข้าสู่วัย 76 ปี ก็ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนายกระดับตัวเองให้ก้าวเท่าทันกระแสโลกท่องเที่ยวยุคดิจิทัล


    ภายใต้บรรยากาศสบาย ๆ ของร้านคาเฟ่ในบ้านดุสิตธานี ที่ตั้งอยู่ ณ กลางซอยศาลาแดง แม่ทัพหญิงแกร่ง ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเล่าถึงมุมมองทั้งในเรื่องเทรนด์โลก เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการ comeback ของดุสิตธานี

สู่ new chapter เพื่อตอบโจทย์การเติบโตที่ยั่งยืน

    “เทรนด์สำคัญที่เป็นปัจจัยกระทบต่อธุรกิจเรื่องแรกคือเศรษฐกิจโลกมีความสั่นไหวและไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในแต่ละจุดของโลก ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกตึงตัวค่อนข้างมาก ถัดมาเป็นเรื่อง de-globalization จากในอดีตที่เคยคิดว่าการทำธุรกิจบางอย่างต้องการจะให้เป็น globalization (โลกาภิวัตน์) แต่มายุคนี้เกิดโควิด 19 ขึ้น ทำให้โลกาภิวัตน์กลายเป็นปัญหา เพราะหากซัปพลายเชนไปยึดติดกับประเทศต่าง ๆ จะทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงต้องมานั่งคิดในเรื่อง self-efficiency ว่าดีกว่าโลกาภิวัตน์หรือเปล่า และด้วยประเด็นนี้เองยังนำไปสู่การแบ่งขั้วของระบบเศรษฐกิจ ค่ายแรกนำโดยอเมริกาและสหภาพยุโรป ส่วนอีกค่ายนำโดยจีนและอินเดีย ที่รวมตัวกันเป็น BRICS มีการซื้อของกันเองภายในกลุ่ม ตั้งกำแพงภาษี และทำให้การค้าข้ามระหว่างกลุ่มทำได้ยากขึ้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศไม่ใหญ่มากนักก็ต้องดูว่าจะไปในทิศทางไหนถึงจะได้ประโยชน์ดีที่สุด”

    นอกจากนั้นอีกเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก ปัจจุบันกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกเป็นกลุ่ม Gen Z ซึ่งมีมากที่สุดในอินเดีย มากกว่าสหรัฐอเมริกาและจีนรวมกัน ขณะที่ไทยมีจำนวนประชากรลดลงมาตั้งแต่ปี 2562 และเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศลดลง

    “อีก 2 ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึง ได้แก่ climate crisis ซึ่งร้ายแรงขึ้นทุกวัน และเทคโนโลยีที่เข้ามา disrupt ทุกอย่างถ้าใช้ไม่เป็น แต่ถ้าใช้เป็นจะทำให้กลายเป็นคนที่อยู่เหนือยอดคลื่น และช่วยให้ทำได้ดีกว่าคนอื่น สำหรับไทยเองไม่ใช่ creator ในเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว ประเด็นจึงขึ้นอยู่กับการนำมาปรับใช้ว่าใช้เป็นหรือไม่”


เทรนด์ท่องเที่ยวเปลี่ยน

    ในภาคการท่องเที่ยว ซีอีโอกลุ่มบริษัทดุสิตธานีกล่าวว่า มีเทรนด์ใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นมา คือเทรนด์การท่องเที่ยวระยะใกล้ เพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก ถัดมาคือเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวแบบมีเป้าประสงค์ เช่น การเดินทางเชิงธุรกิจ (business) และการพักผ่อน (leisure) แต่หากวิเคราะห์ถึงประเทศไทย กว่า 90% นั้นรองรับการเดินทางเพื่อพักผ่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินทางทันที ต่างจากรูปแบบการเดินทางเพื่อไปทำงาน หรือเหตุผลอื่นที่ทำให้จำเป็นต้องเดินทาง

    นอกจากนี้ยังมี เทรนด์ที่สาม เรื่อง work anywhere ทำงานที่ไหนก็ได้ยังคงมีอยู่ โดยเป็นการผสมผสานในเรื่องการท่องเที่ยวและอยู่ได้นานขึ้น เทรนด์ท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพราะคนเริ่มให้ความสนใจกับสุขภาพเยอะขึ้น รวมถึงเทรนด์การท่องเที่ยวในรูปแบบ local experience ที่ทำให้สัมผัสกับเสน่ห์ของท้องถิ่นนั้น ๆ

    “ดังนั้นกลยุทธ์ของประเทศก็ดี หรือของดุสิตธานีเองก็ดี ต้องมานั่งคิดว่าจะตอบโจทย์หรือทำ product และ service ของเราอย่างไร”
สำหรับช่วงก่อนโควิด 19 ในปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้ จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2 ล้านล้านบาท) ในด้านจำนวนยังสูงถึง 39.9 ล้านคน แต่ปี 2566 ลงมาเหลือ 28 ล้านคน มีรายได้จากนักท่องเที่ยวท่องเที่ยวต่างชาติที่ 1.4 ล้านล้านบาท (รายได้รวมที่ 2.2 ล้านล้านบาท)

    ขณะที่ในมุมของการฟื้นตัว ประเทศไทยยังฟื้นตัวได้ไม่ถึงศักยภาพที่เคยทำได้ โดยปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายต้องการให้มีนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน และทำรายได้ 2.5 ล้านล้านบาท ส่วนในประเทศอีก 1 ล้านล้านบาท รวมเป็นรายได้ 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาช่วง 2 เดือนแรกที่มีนักท่องเที่ยว 6.5 ล้านคน ถือว่าน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย


New Chapter ของดุสิตธานี

    จากภาพรวมการท่องเที่ยวและเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ศุภจีวางเป้าหมายให้ดุสิตธานี 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความสมดุลแง่แหล่งรายได้ หรือ balance โดยไม่พึ่งพาภูมิศาสตร์ใดภูมิศาสตร์หนึ่งเป็นแหล่งรายได้เดียว ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2559 ที่เข้ามาบริหารดุสิตธานี ได้มีการขยายโรงแรมจากที่มีอยู่ใน 8 ประเทศ เป็น 19 ประเทศ และหากรวมทำเลกลุ่มอาหารเป็น 20 ประเทศ พร้อมกระจายสัดส่วนรายได้จากเดิมธุรกิจโรงแรมมีรายได้ 90% ปรับเป็น 60-70% และเพิ่มรายได้ส่วนอื่นประมาณ 40% เพื่อให้มีความสมดุลมากขึ้น

    ส่วนเป้าหมายถัดมามุ่งเน้นการกระจายของธุรกิจ หรือ expand โดยเพิ่มรูปแบบการให้บริการที่ครบทุกความต้องการของการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันดุสิตธานีมีแบรนด์โรงแรมถึง 9 แบรนด์ เช่น แบรนด์ “อาศัย” ที่ตอบโจทย์ด้านไลฟ์สไตล์ และวิลล่าระดับลักชูรี “อีลิธ เฮเวนส์ (Elite Havens)” เป็นต้น


    สำหรับเป้าหมายสุดท้ายเป็นการเพิ่มธุรกิจใหม่ หรือ diversification เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตธุรกิจมากขึ้น โดยเดิมมีธุรกิจโรงแรมและการศึกษาที่เกี่ยวกับโรงแรม ได้แก่ วิทยาลัยดุสิตธานี และเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือธุรกิจอาหาร และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในส่วนของธุรกิจอาหาร

    ที่ผ่านมาได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด ดำเนินธุรกิจ catering ในโรงเรียนนานาชาติ และถือหุ้นใหญ่ในบริษัท พอร์ต รอยัล จำกัด เจ้าของโรงงานเบเกอรี่และแฟรนไชส์ร้านเบเกอรี่บองชู (Bonjour)

    ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลงทุนจำนวนมากคือดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่มีพัฒนาการไปมากแล้ว ซึ่งในส่วนโรงแรมจะเริ่มเปิดให้บริการเดือนกันยายนนี้ และในส่วนที่พักอาศัยเดือนมีนาคม 2567 ขายได้เกือบ 80% แล้ว ซึ่งถือว่าไปได้ดี

    “ในระยะถัดไปจะเป็นการ execute หรือหากมองเห็นธุรกิจที่มีโอกาส อย่างดุสิต ฮอสปิตัลลิตี้ เซอร์วิสเซส ซึ่งมีโอกาสจะเป็น s-curve ได้ เราก็พร้อม โดยสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นการสร้างอะไรใหม่ แต่ทำจากรากฐานที่มีอยู่ให้สามารถตอบโจทย์อนาคต และตอนนี้ทุกอย่างก็เริ่ม optimize แล้ว ส่วนงบลงทุน (CAPEX) ในปี 2567 นี้ตั้งงบไว้ที่ 340 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้เติบโต 20%” ศุภจีกล่าวทิ้งท้าย



เรื่อง: อนัญชนา สาระคู ภาพ: บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธนาคารแห่งประเทศไทยไขปมร้อน ดอกเบี้ย VS เศรษฐกิจเสี่ยง

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจในรูปแบบ e-magazine ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ Wealth Management & Investing 2024 แถมฟรีมาพร้อมกับนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567