ธนาคารแห่งประเทศไทยไขปมร้อน ดอกเบี้ย VS เศรษฐกิจเสี่ยง - Forbes Thailand

ธนาคารแห่งประเทศไทยไขปมร้อน ดอกเบี้ย VS เศรษฐกิจเสี่ยง

ท่ามกลางความค้างคาใจทำไมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ามาก ฝั่งรัฐบาลชี้เป็นวิกฤต แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ล่าสุด (10 เมษายน 2567) คณะกรรมการนโยบายการเงินคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปรับขึ้นมาถึง 8 ครั้งติดต่อกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมให้ภาพรวมเศรษฐกิจและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคต


    คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโต 2.6% จากก่อนหน้านี้คาดการณ์ในช่วง 2.5-3% และปี 2568 คาดการณ์เติบโต 3% ซึ่งปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ไม่ใช่การฟื้นตัวอีกต่อไป โดยสามารถกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด 19 ที่ GDP 2.4%

    “คนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เพราะเศรษฐกิจเติบโตดีในไตรมาสแรกปีที่แล้ว แต่มาเจอไตรมาส 2 ช่วงเลือกตั้งจนถึงไตรมาส 4 ที่ไหลลงก็ชอร์ตฟีลกัน เนื่องจากการใช้จ่าย-ลงทุนของภาครัฐหดตัวแรง -4.6% ทั้งสองตัว เป็นหลุมอากาศ และนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายน้อยลง ทำให้ GDP ไตรมาส 4 โตแค่ 1.7% และทั้งปี 2566 เติบโตเหลือ 1.9%” ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าที่จะดีกว่าปีก่อน เพราะเครื่องยนต์ภาครัฐกลับมาในช่วงไตรมาส 2 นี้

    นอกจากนั้นชญาวดียังคาดการณ์การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเติบโต 1.8% และ 1% ตามลำดับ ในส่วนของภาคการบริโภคเอกชนและการลงทุนเติบโต 3.5% และ 3.3% ในปีนี้ ส่วนภาคส่งออกคาดจะเติบโต 2% และ 2.8% ในปีหน้า ด้านนักท่องเที่ยวปีนี้คาดจำนวน 35.5 ล้านคน และปีหน้า 39.5 ล้านคน โดยจะกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด 19 ที่ 40 ล้านคน และน่าจะเห็นยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแน่นอนทั้งจากฟรีวีซ่าให้ประเทศจีนและยุโรป

    ขณะเดียวกันหากพิจารณาดูรายไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) จะเห็นแรงส่งต่อที่ดี แต่ในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ธปท. ไม่ได้มองว่าต้องสูงต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีทั้งปัญหาเชิงวัฏจักรและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งศักยภาพการเติบโตทั้งเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำเป็น low growth decades โดยปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจที่ยังกลับมาไม่ได้เพราะมีหลายเรื่องไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

    “ในภาคส่งออกปีที่แล้วหดตัว -1.7% ปัญหากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่กลับมา และยังเจอปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่วนใหญ่ผลิตแต่ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หรือพวกพื้นฐาน โดยไม่อยู่ในกลุ่มสินค้าที่เป็น upstream ของ AI ที่กำลังเป็นขาขึ้น และยังมีสินค้าคงคลังที่เป็นของโลกเก่าด้วย ซึ่งสถิติในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาภาคส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โตรวม 4% เท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ โต 2 หลัก โดยเฉพาะเวียดนามเติบโตถึง 40% ภาคส่งออกไทยจึงอยู่ในจุดที่ฟื้นช้า แต่ปีนี้คาดจะดีขึ้นในครึ่งปีหลังและต่อเนื่องถึงปีหน้า”

    สำหรับประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องแก้ยากของประเทศ เพราะเจอปัญหาสังคมสูงวัย ทำให้แรงงานมีลดลง และทักษะแรงงานด้วยปัญหาการศึกษาต่ำ รวมถึงไม่มีการลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยปัจจุบันภาคเอกชนมีการลงทุนต่ำลงจากที่ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่ระดับ 40% เหลือกว่า 20% เท่านั้น ทำให้การลงทุนของเอกชนแฟบมานาน 30 ปี ซึ่งภาครัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนการปรับตัว

    ขณะที่ปัญหาบริษัทจดทะเบียนในไทยมีการเติบโตต่ำเพราะยังผลิตสินค้าที่อยู่ในโลกเก่า ไม่ได้อยู่ในกระแสเมกะเทรนด์ แม้แต่กลุ่มพลังงานที่มี market cap ใหญ่ใน SET และบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการปรับตัว กลุ่มซัปพลายเชนยังอยู่ในวงจรรถยนต์สันดาป อิเล็กทรอนิกส์ และอีกหลายๆ อุตสาหกรรม ทำให้ตลาดหุ้นไทยแพง (ค่า P/E สูงราว 20 เท่า) แม้ราคาลดลงมาก

    “เศรษฐกิจไทยจะเหนื่อยหากไม่ปรับตัวเชิงโครงสร้าง แม้ตอนนี้กลับมาแล้วแต่ยังมีความเสี่ยงทำให้กลับมาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งถ้ามองเรื่องการตัดสินนโยบายการเงิน กนง. ทุกท่านไม่ได้เห็นภาพเศรษฐกิจต่างกัน แต่แค่รอ timing การลดดอกเบี้ย โดย 5 ท่านรอดูว่าเศรษฐกิจจะกลับมาจริงไหม ถ้ากลับมาและดีมากๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ย หรือถ้าไม่กลับมาก็แปลว่า output ศักยภาพลดลง ทำให้มีโอกาสดอกเบี้ยโน้มลงต่ำ ส่วนอีก 2 ท่านที่จะให้ปรับลดดอกเบี้ยตอนนี้ก็เป็นการปรับลดลงตามศักยภาพ เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยที่เหมาะสมอาจจะลดลงเล็กน้อยจาก 2.5%”

    สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนมิถุนายนจะเป็นจุดสำคัญการพิจารณาลดดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะจะเห็นภาพข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ประมาณ 1 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตามสถานการณ์มีความไม่แน่นอนและคาดการณ์ล่วงหน้ายาก จึงเป็นเหตุผลว่านโยบายต่างๆ จะต้องมีกันชนเผื่อไว้ ไม่ว่านโยบายการเงินการคลัง การจะปรับอัตราดอกเบี้ยจะต้องเห็นภาพชัดและตรวจสอบให้แน่ใจว่าใช้ออกไปแล้วตรงจุดและคุ้มค่า

    “เพราะเราไม่ได้มีกระสุน (ดอกเบี้ย) เยอะ ถ้าดูดอกเบี้ยไทยปรับขึ้นมาอยู่ระดับกลาง ๆ 2.5% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ขึ้นไปถึง 5% กระสุนของไทยไม่ได้มีเหลือเฟือให้ปรับลงมาได้มาก ขณะที่เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับขึ้นและยังมาติดหล่มปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นหล่มที่จะใช้ดอกเบี้ยถมก็ไม่ได้ด้วย การลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้จะทำให้ภาครัฐ ภาคส่งออกกลับมาได้หรือเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจต้องใช้เครื่องมือ”

    ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศไทยจะกลับมาไหม โฆษกแบงก์ชาติกล่าวว่าขณะนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน มีสงครามและความขัดแย้งต่างๆ เพราะฉะนั้นความมั่นใจของนักลงทุนไม่ได้อยู่ในภาวะ risk on ได้เต็มที่นัก เมื่อก่อนประเทศไทยเคยเป็น safe haven ที่เวลาลงทุนมีทั้งผลตอบแทนจากหุ้นและกำไรจากค่าเงิน แต่ตอนนี้อาจเป็นแค่ “neutral” เพราะเศรษฐกิจมีปัญหาเชิงโครงสร้าง

    “ถ้าพิจารณาหุ้นไทย สะท้อนภาคการผลิตเรายังอยู่ในโลกเก่าก็เยอะ เมื่อน้ำลดตอผุดขึ้นมาเต็มไปหมด ทำให้การลงทุนในหุ้นไทยน่าดึงดูดลดน้อยลง เพราะดูไม่เด่นไม่เจ๋งเหมือนอดีต”

    ปัจจุบันคนไทยมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นผ่านสถาบันและรายย่อยที่ออกไปลงทุนเอง โดยปี 2566 ยอดคงค้างการลงทุนในต่างประเทศจำนวน 89.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 86 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงดอกเบี้ยต่างประเทศสูงกว่าไทย ทำให้มีดีมานด์การนำเงินออกไปฝากต่างประเทศผ่านบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ซึ่งเข้าใจได้ว่านักลงทุนมองหาผลตอบแทน ความปลอดภัย ความเสี่ยง ซึ่งอาจจะให้เรื่องผลตอบแทนมาก่อน แต่บางคนก็รับความเสี่ยงได้มากน้อยต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องบริหารจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ค่าดำเนินการ สภาพคล่อง เป็นต้น

    “สถานการณ์ข้างนอกประเทศยังน่ากังวล ความไม่แน่นอนในโลกมีสูง ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าในประเทศไม่เสี่ยง เพียงแต่เราต้อง make sure ว่าพอร์ตของเราต้องมีจุดการกระจายความเสี่ยง แม้อัตราผลตอบแทนมาเป็นที่หนึ่งแต่ก็ต้องมากับความเสี่ยงที่คุณเข้าใจเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งอาจจะเกิดน้อย แต่ถ้าเกิดเหมือนแบบโควิด 19 ก็ชอร์ตฟีลได้” ชญาวดีกล่าวทิ้งท้าย


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จับชีพจรเศรษฐกิจไทย หุ้นไทยร่วงแต่แพง ไร้เสน่ห์ดึงดูด

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจในรูปแบบ e-magazine ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ Wealth Management & Investing 2024 แถมฟรีมาพร้อมกับนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567