สุภัทรา รามสูต แม่ทัพหญิงอีตั้น อิเล็คทริค พร้อมนำองค์กรชิงโอกาสจากเมกะเทรนด์ - Forbes Thailand

สุภัทรา รามสูต แม่ทัพหญิงอีตั้น อิเล็คทริค พร้อมนำองค์กรชิงโอกาสจากเมกะเทรนด์

เส้นทางชีวิตของวิศวกรหญิงรุ่นแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยอัสชัมชัญ (เอแบค) ที่มีต้นแบบ คือคุณพ่อ ที่เรียนช่างกล ปทุมวัน ซึ่งสมัยนั้นมันคือความเท่ห์ ที่ทำให้ ‘สุภัทรา รามสูต’ บุตรสาวมีความใฝ่ฝันที่ชัดเจนว่าจะเป็นวิศวกร ที่พร้อมจะลุยงานไม่แพ้ผู้ชาย และเกือบครึ่งชีวิตที่ได้ไปทำงานในต่างประเทศ วันนี้ สุภัทรา กลับมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยของอีตั้น อิเล็คทริค บริษัทจัดการพลังงานอัจฉริยะของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นแม่ทัพหญิงคนไทยคนแรกในรอบ 30 ปี


    บริษัท อีตั้น อิเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทจัดการพลังงานอัจฉริยะ จากสหรัฐอเมริกา ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากกว่า 30 ปี ได้รับงานโครงการใหญ่ ๆ ที่เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีเป้าหมายสร้างการเติบโตเคียงข้างสังคมไทย ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และ การลงทุน Data Center เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้แม่ทัพหญิงคนใหม่ สุภัทรา รามสูต ดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทย จากประสบการณ์ที่มีในแวดวงธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามาเกือบ 30 ปี


    สุภัทรา เป็นผู้บริหารหญิงไม่กี่คนในอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า โดยในช่วง 15 ปีแรกของชีวิตการทำงานในประเทศไทยอยู่กับบริษัทจัดการพลังงานไฟฟ้าจากค่ายยุโรป และถูกส่งไปบุกเบิกธุรกิจในอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เริ่มที่เวียดนาม และย้ายไปประจำที่สิงคโปร์ ดูแล 13 ตลาดในเอเชียแปซิฟิก เปลี่ยนการทำงานทุก 3 ปี และใช้ชีวิตเป็น Global Citizen มาเกือบครึ่งชีวิตของการทำงาน แต่วันนี้พร้อมจะกลับมาลุยงานกับอีตั้น อิเล็คทริค ประเทศไทย เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบ้านเกิด

    “ชีวิตการทำงานที่ผ่านมากับบริษัทเดียวมาถึง 27 ปี ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ทำให้เราเติบโตมาตลอด วันนี้ถึงเวลาออกจากคอมฟอร์ทโซน แม้จะมีความแตกต่างเรื่องวัฒนธรรมองค์กรจากสไตล์ยุโรป มาเป็นอเมริกา แต่ก็ไม่รู้สึกว่ามี คัลเจอร์ ช็อค เพราะสิ่งที่เราต้องการในชีวิตการทำงาน คือการมีเป้าหมายที่ท้าทาย ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกันระหว่างเรากับองค์กร” สุภัทรากล่าว


เร่งสร้างการเติบโตพร้อมเมกะเทรนด์

    สุภัทรา กล่าวว่า โลกหลังโควิด – 19 มีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก วิถีชีวิตของผู้บริโภคสมัยใหม่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้องค์กรธุรกิจ รวมไปถึงประเทศต้องปรับตัว ซึ่งถือเป็นโอกาสของอีตั้น อิเล็คทริคเช่นเดียวกัน ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงระบบที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผลการดำเนินงานของอีตั้นฯทั่วโลกกลับมาเติบโตเป็นเลขสองหลัก เช่นเดียวกับประเทศไทย

    สุภัทรา เข้ามาร่วมงานกับอีตั้น อิเล็คทริค ในเดือนตุลาคม 2565 ด้วยโจทย์ที่ท้าทายในการสร้างการเติบโตให้องค์กร ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ทำให้ทุกอย่างชะลอตัว แต่หลังจากเปิดประเทศ แนวโน้มธุรกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งมีโอกาสจากการพัฒนาเข้าสู่เมกะเทรนด์ใหม่ของโลกทั้งเรื่องพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนระบบ Data Center ซึ่งอีตั้น อิเล็คทริค ก็ได้งานจากผู้ให้บริการ Data Center รายใหญ่ ทำให้ธุรกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง และพร้อมทะยานไปสู่การเติบโตในอนาคตร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และการปรับตัวขององค์กรต่าง ๆ


    “เป้าหมายสำคัญของอีตั้น คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีและการให้บริการด้านการจัดการพลังงาน โดยตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา อีตั้น อิเล็คทริค ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 16% ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่จะลดการปล่อยลงให้ได้ 50% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ ยังบรรลุเป้าหมายด้านการจัดการน้ำและกำจัดของเสีย โดยประสบผลสำเร็จกว่า 50% จากเป้าที่ตั้งไว้ และเร็วกว่าเวลาที่กำหนดถึง 4 ปี”

    สุภัทรา กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา 65% ของยอดขายสุทธิของอีตั้น อิเล็คทริคมาจากยอดขายสินค้าในกลุ่มธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานความเสถียรในพลังงานไฟฟ้า และการเพิ่มคุณภาพอากาศ ซึ่งเป็นแนวทางที่เราจะเน้นหนักให้มากยิ่งขึ้น และมีโอกาสสร้างการเติบโตได้อีกมาก


มุ่งพัฒนาคนรับการเปลี่ยนผ่าน

    การเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทย ของอีตั้น อิเล็คทริคในครั้ง สุภัทรา มีเป้าหมายหลัก ๆ 2 เรื่องด้วยกัน หนึ่ง การพัฒนาคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการสนับสนุนให้พนักงานมีการพัฒนาตัวเองทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว และ สอง คือการพัฒนาตัวเอง ด้วยการเข้าอบรม เรียนรู้หลักสูตรใหม่ ๆ รวมถึงหลักสูตรผู้บริหารที่สามารถเชื่อมโยงบริษัทกับคู่ค้า พันธมิตรทั้งในภาคธุรกิจ และภาครัฐ เพื่อนำสิ่งที่ได้รับมาถ่ายทอดสู่ทีม รวมถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


    “สิ่งที่เราชอบ คือการเรียนรู้ ต้องหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันกับตัวเองตลอดเวลา ซึ่งการทำงานในต่างประเทศที่ผ่านมา ต้องเปลี่ยนสายงานทุก 3 ปี ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง พอกลับมาที่ไทย ก็ไปลงเรียนคอร์สต่าง ๆ หลักสูตรผู้บริหารที่จะทำให้เรารู้จักคู่ค้าและพันธมิตรมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้เครือข่าย เพื่อนใหม่ ๆ ที่ทำให้ได้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ในหลากหลายมุมมอง ซึ่งเราอาจไม่เคยรู้ในช่วงที่ไปอยู่ต่างประเทศ และเราก็เปิดกว้างให้ทีม พนักงานได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรด้วยกัน” สุภัทรากล่าว

    สำหรับอีตั้น อิเล็คทริค ถือเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญการเคารพความหลากหลายทางเพศ การเข้ารับตำแหน่งของสุภัทรา ในฐานะผู้บริหารหญิง ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง และภายในองค์กรเองก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากเช่นเดียวกัน จนได้รับรางวัล Most Inclusive Site Award 2023 จากการพิจารณาของสำนักงานอีตั้นจากทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมที่ดำเนินการตลอดมา

    ทุกวันนี้ นอกจากความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายขององค์กรและลูกค้าเป็นที่ตั้งแล้ว สุภัทรา ยังใช้เวลาว่างในการดูแลคุณพ่อในวัย 90 ปี และการเชื่อมสัมพันธ์กับลูกชาย 2 คนกับคุณตาที่อาจห่างหายไปนานในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ โดยใช้กีฬากอล์ฟเป็นตัวเชื่อม และทำให้คนทั้งสองเจนเนอเรชั่นเข้าถึงกันได้ เช่นเดียวกันการบริหารองค์กร สุภัทรา เปรียบเทียบเหมือนการเล่นกอล์ฟ ที่ทุกคนต้องทำตามกฎ กติกา เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ที่สำคัญ “ต้องสนุกด้วย” ซึ่งจะทำให้แต่ละคนสามารถปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่และนำไปสู่ความสำเร็จได้



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : KBank Private Banking แนะรับมือปรากฎการณ์ส่งต่อทรัพย์สินครั้งใหญ่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine