ณัฐนัย อนันตรัมพร ถอดรหัสความสำเร็จ ITEL - Forbes Thailand

ณัฐนัย อนันตรัมพร ถอดรหัสความสำเร็จ ITEL

วิ่งให้ไกล มีวินัย วางแผนเฉียบ ความสำเร็จที่สร้างได้จากความท้าทายที่ไม่หยุดนิ่ง หลอมรวมเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขสู่ความสำเร็จในสองบทบาท นักวิ่งมาราธอน และนักบริหารรุ่นใหม่ “ณัฐนัย อนันตรัมพร” ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งอินเตอร์ลิ้งค์ฯ


    การทรานส์ฟอร์มธุรกิจของครอบครัวจากกิจการโทรคมนาคมในรูปแบบซื้อมาขายไปสู่ธุรกิจการให้บริการ ซึ่งเป็นโมเดลการดำเนินธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตในอนาคต เป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้งบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL จากพนักงาน 4 คน ขยายจำนวนมากกว่า 700 คนในปีที่ 9 พร้อมดำเนินธุรกิจให้บริการเช่าโครงข่ายใยแก้วนำแสง บริการออกแบบ ก่อสร้าง และรับเหมางานโครงการสายใยแก้วนำแสง รวมทั้งโครงการสื่อสัญญาณโทรคมนาคม และการให้บริการเช่าพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์

    “คุณพ่อให้กลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว แต่โมเดลธุรกิจของพ่อเป็นโทรคมนาคมซื้อมาขายไป ส่วนโมเดลธุรกิจที่ผมต้องการจะทำเป็นธุรกิจให้บริการ ซึ่งแนวทางของคนขายของและคนให้บริการแตกต่างกันอยู่แล้ว จึงตัดสินใจออกมาเปิดธุรกิจใหม่ ซึ่งท่านก็ให้อิสระและเป็นโค้ชคอยให้คำปรึกษา”

    ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL กล่าวถึงการตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจในวัย 29 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทการเงิน จาก Boston University สหรัฐอเมริกา โดยเป็นบุตรชายคนเดียวในพี่น้อง 4 คนของบิดา (สมบัติ) และมารดา (ชลิตา) เจ้าของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิงค์ฯ ผู้นำเข้าและจำหน่ายสายสัญญาณการสื่อสาร ซึ่งชวนให้กลับมาทำงานในบริษัทที่ทั้งสองปลุกปั้น

    “ในมุมของธุรกิจครอบครัว ผมโชคดีที่แยกออกมาตั้งบริษัทใหม่ ทำให้เราคิดอะไรได้อย่างมีอิสระ รวมไปถึงมีโอกาสที่จะทำพลาดได้ถ้าเทียบกับการเข้ามาสานต่อ เพราะจะมีความคาดหวังอยู่แล้วว่าทำแล้วต้องดีกว่า โดยการตั้งเป้าหมายและท้าทายตัวเองตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ดี ขอให้พยายามก่อน ถ้าทำไม่ได้ก็ยอมรับมัน แพ้ก็กลับมาวิเคราะห์ หาทางแก้ ชนะก็ไม่เหลิง เพราะในการแข่งขันมีคนที่ล้มเราได้เสมอ” ณัฐนัยย้ำแนวคิดบริหารธุรกิจและการใช้ชีวิตที่ทุกก้าวของความสำเร็จมาจากการตั้งโจทย์ที่ท้าทายและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับตัวเอง


ออกแบบธุรกิจที่ใช่ให้ตัวเอง

    ความสำเร็จในการต่อยอดธุรกิจใหม่เริ่มต้นตั้งแต่การวางกลยุทธ์ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งที่ทำมาดีแล้ว และมองหาธุรกิจใหม่ที่เป็น new s-curve ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กดาต้า และเฮลท์แคร์ ซึ่งใช้พื้นฐานจากธุรกิจไอทีและธุรกิจสุขภาพเข้าด้วยกัน

    สำหรับการต่อยอดสู่ผู้ให้บริการบิ๊กดาต้าและเฮลท์แคร์มาจากมุมมองที่มีต่อความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ผู้ให้บริการที่เป็นโรงพยาบาลรายใหญ่จะทำได้ดีกว่า เข้าถึงได้มากกว่า โดยค้นหาวิธีการช่วยให้โรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่ดีได้

    ภายใต้แนวคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนธุรกิจเฮลท์แคร์ในโมเดลเช่าซื้อเพื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานพยาบาลรายกลางถึงเล็ก ให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่อง CT scan และ MRT scan เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย

    “ในอนาคตโรคจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ความต้องการใช้งาน CT scan และ MRT scan จะเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อตรวจหา เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้จะเข้าไปแก้ปัญหาด้านงบประมาณของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ ให้เข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์”

    แม้ธุรกิจจะเริ่มต้นไม่นาน แต่ปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายแล้ว 100 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายในปี 2567 ไว้ที่ 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตได้อีกมากหากพิจารณาจากที่ปัจจุบันมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศมากถึง 9,000 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงอีก 900 แห่ง และโรงพยาบาลรัฐอีกประมาณ 10,000 แห่ง

    ขณะที่ธุรกิจบิ๊กดาต้ามุ่งเน้นลูกค้าองค์กร เช่น ธุรกิจอาหาร พลังงาน และขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการจัดการข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้อยู่ในสถานะที่พร้อมสำหรับนำมาใช้วิเคราะห์และตัดสินใจทางธุรกิจ รายได้จากธุรกิจนี้อยู่ที่หลัก 100 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา


    “การตัดสินใจเลือกขยายการลงทุนไปใน sector ไหนนั้น เรามองที่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นอันดับแรก เช่น เครื่อง CT scan ที่เป็นเกราะกำบังจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่จะโดน disrupt น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจโทรคมนาคมที่แข่งขันสูงและมีตัวแปรที่สร้างผลกระทบมากกว่า”

    บทพิสูจน์ความสามารถของณัฐนัยยังสะท้อนชัดในผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 ซึ่งสามารถทำรายได้ 2.79 พันล้านบาท และกำไร 272 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าต่อยังเป้าหมาย 5 พันล้านบาทภายใน 5 ปี

    “ผมตั้งโจทย์ให้กับตัวเองและท้าทายตัวเองตลอดเวลา ตอนอายุ 24 ปีผมอยากเป็นคนอายุน้อยที่สุดที่นำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ก่อนอายุ 30 ปี ซึ่งปลายปี 2559 ผมสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้สำเร็จ ถือเป็นของขวัญวันเกิด 29 ปีให้ตัวเอง รวมถึงเป้าหมายที่ทำสำเร็จมาแล้วกับการเดินทาง 3 ปีกับยอดขาย 1 พันล้านบาท และ 3-5 ปี ต่อจากนี้ผมต้องการเห็นบริษัทนี้มีรายได้ 5 พันล้านบาท”



เรื่อง: กัญสุชญา สุวรรณคร ภาพ: บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ภานุวัฒน์ ขันธโมลีกุล SPREME ปักธงหมื่นล้าน

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจในรูปแบบ e-magazine ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษ Wealth Management & Investing 2024 แถมฟรีมาพร้อมกับนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567