ผู้บริโภคช็อปจาก ‘คลิปสั้น - Live’ คนไทย 9 ใน 10 ขอแชตคุยตอนซื้อ คุยกับ Meta ถึงเทรนด์ซื้อของออนไลน์ในไทย - Forbes Thailand

ผู้บริโภคช็อปจาก ‘คลิปสั้น - Live’ คนไทย 9 ใน 10 ขอแชตคุยตอนซื้อ คุยกับ Meta ถึงเทรนด์ซื้อของออนไลน์ในไทย

เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตในไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ‘พฤติกรรม’ และ ‘วิถี’ ในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค รวมถึงวิธีการขายของผู้ขาย ก็เริ่มเปลี่ยนไป มีเทคนิคใหม่ๆ มากขึ้นเช่นกัน


    เทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและเราเห็นกันคือ การซื้อของผ่าน Live ไม่ว่าจะเป็นการ CF สินค้าที่ผู้ขายกำลังถืออยู่ใน Live หรือการปักตะกร้าไว้ใน Live แล้วให้ลูกค้ากดซื้อได้เอง นอกจากนี้ยังมีการทำคลิปสั้นๆ เกี่ยวกับสินค้าออกมาเพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นง่ายขึ้น สอดรับกับเทรนด์การดูสื่อประเภทคลิปสั้นมากขึ้นนั่นเอง

    แล้วในฐานะแพลตฟอร์ม Meta ซึ่งเป็นเจ้าของสื่อโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook และ Instagram วางบทบาทและพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างไรบ้าง Forbes Thailand พูดคุยกับ Dhruv Vohra กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Meta (ตลาดระดับกลาง) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

    Vohra เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงเทรนด์ที่น่าจับตาของการซื้อของออนไลน์ เขาบอกว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย เรากำลังเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่งของผู้บริโภคดิจิทัลและโอกาสในการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยที่จริงแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และครอบคลุมสินค้าในหมวดหมู่และการใช้งานที่หลากหลาย

    ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการค้าข้ามพรมแดนจะมีมูลค่า 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2571 และเกือบ 50% ของผู้บริโภคไทยเคยทำการซื้อขายข้ามพรมแดนในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยและทั่วโลก วัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์และธุรกิจจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าอย่างเต็มกำลังเพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

    นอกจากนี้ การตัดสินใจซื้อสินค้ายังได้รับอิทธิพลจากประเภทของเนื้อหาและครีเอเตอร์ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องเปลี่ยนจากการสื่อสารแบรนด์แบบดั้งเดิมไปสู่การสื่อสารแบบโต้ตอบและเฉพาะบุคคลมากขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์การทำการค้าบนโลกออนไลน์แบบบูรณาการและการทำให้คอนเทนต์มีเนื้อหาที่หลากหลายจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จสำหรับผู้ขายในประเทศไทย

    ตัวอย่างเช่น ความนิยมที่มากขึ้นของวิดีโอสั้น ก็เป็นรูปแบบเนื้อหาที่จะช่วยดึงดูดลูกค้า ซึ่ง 71% ของผู้ใช้ติดตามแบรนด์บนแพลตฟอร์ม Meta หลังจากชมคลิป Reels ที่ดึงดูดความสนใจ อีกรูปแบบหนึ่งคือการขายแบบไลฟ์สด ซึ่ง 79% ของผู้บริโภคไทยรับชมการไลฟ์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

    “ด้วยเทรนด์เหล่านี้ เราจึงลงทุนในการสร้างประสบการณ์และเส้นทางการบริโภคของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยมอบโซลูชันทางการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่มีความคุ้มค่าต่อต้นทุน เพื่อช่วยให้ธุรกิจและแบรนด์เป็นที่รู้จักและสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายของตน เราเชื่อว่าธุรกิจไทยจำนวนมากมีองค์ประกอบสู่ความสำเร็จอยู่แล้ว แต่เราต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเติบโตได้มากขึ้นโดยการใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มของ Meta ให้เต็มศักยภาพ”



[ คนไทย 9 ใน 10 แชตตอนซื้อของ ]

    Vohra บอกอีกว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 อัตราการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภูมิภาคนี้เร่งตัวขึ้นอย่างมาก รวมถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นในการค้นพบและซื้อสินค้าทางออนไลน์ ซึ่งประเทศไทยก็ไม่แตกต่างกัน ทุกวันนี้ 70% ของผู้คนค้นพบสินค้าใหม่หรือแบรนด์ใหม่บนแพลตฟอร์มของ Meta และลูกค้ากำลังมองหาวิธีใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อทำให้การค้นพบนี้สะดวกยิ่งขึ้น

    ไม่เพียงเท่านั้น ในประเทศไทย มีการนำโซลูชันการส่งข้อความเชิงธุรกิจ (business messaging) ของ Meta มาใช้อย่างกว้างขวาง โดยแบรนด์และธุรกิจสามารถใช้แชตบอทที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง ตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้า และเพิ่มอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นลูกค้า (conversion rate) ได้อย่างมาก

    และที่จริงแล้ว ประเทศไทยเป็นผู้นำเทรนด์นี้ในระดับโลกด้วย โดยผู้บริโภคไทย 9 ใน 10 คนสื่อสารกับธุรกิจผ่านแอปพลิเคชันการแชตระหว่างกระบวนการซื้อสินค้า และ 75% ของผู้บริโภคไทยมองว่าการส่งข้อความเชิงธุรกิจร่วมกับคำแนะนำจากครีเอเตอร์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากที่สุด

    นอกจากนี้ ยังมีความนิยมที่เพิ่มขึ้นในการซื้อขายผ่านไลฟ์ (live commerce) ในประเทศไทย โดย 70% ของผู้ชมไลฟ์สตรีมทำการซื้อซ้ำหรือซื้อสินค้าที่มีมูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ยสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ Meta จึงได้เปิดตัวประสบการณ์ Facebook Live ที่ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้ธุรกิจขายสินค้าแบบเรียลไทม์ และเพิ่มการค้นพบสินค้าได้มากขึ้นผ่านฟีเจอร์โฆษณาเพิ่มการมองเห็น (live boosted ad)

    นอกจากนี้ Meta ยังได้เพิ่มฟีเจอร์สำหรับแค็ตตาล็อกสินค้าและตัวเลือกการซื้อสินค้า ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถกระตุ้นยอดขายและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในรูปแบบที่น่าสนใจและมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น


[ บทบาทของ Meta ในการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยและอาเซียน ]

    Vohra บอกว่า Meta นั้นเป็นผู้สนับสนุนการซื้อขาย (commerce enabler) และมองว่าตัวเองเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นพบที่อำนวยความสะดวกให้กับการซื้อขายและธุรกิจในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย ธุรกิจขนาดเล็กถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และเรายังคงลงทุนในผลิตภัณฑ์ บริการ และโครงสร้างสนับสนุน เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขามีเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเติบโต

    “หนึ่งในสิ่งที่เราทำคือช่วยให้ธุรกิจนำคอนเทนต์ของตัวเองมาสร้างและปรับเปลี่ยนไปได้หลายรูปแบบเนื้อหา (content diversification) เพื่อสื่อสารสิ่งที่ตรงใจกับกลุ่มเป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการทำคอนเทนต์สร้างสรรค์ให้หลากหลายนั้นสามารถเพิ่มการเข้าถึงผู้ชมที่หลากหลายได้มากถึง 89%

    “อีกหนึ่งสิ่งที่เราสนับสนุนคือการเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงตลาดระดับนานาชาติ พร้อมกับมอบโซลูชัน AI อัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เป็นลูกค้าและกระตุ้นยอดขาย

    "นอกจากนี้ เรายังร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการจัดคอร์สเรียนการตลาดด้วย AI สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยสอนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อทำการตลาดสินค้าระดับนานาชาติและใช้ AI ในการพัฒนาการเติบโตทางธุรกิจ

    “อีกทั้งเรายังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนวาระแห่งชาติของประเทศไทยในการเสริมสร้างพลังซอฟต์พาวเวอร์ทางเศรษฐกิจ และได้ร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยองค์ความรู้และเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของผู้บริโภค”



[ อำนวยความสะดวก พร้อมๆ กับการสร้างความปลอดภัย ]

    เขาระบุอีกว่า Meta มีความมุ่งมั่นมาอย่างยาวนานในการนำเสนอนวัตกรรมล้ำสมัยบนแพลตฟอร์มเพื่อช่วยยกระดับธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อพฤติกรรมการซื้อผ่านคลิก (click-to-buy behavior) เราแนะนำให้ธุรกิจต่อยอดและใช้ประโยชน์จากโซลูชันการตลาดล่าสุดที่มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโต เช่น ชุดผลิตภัณฑ์และโซลูชันการตลาด Advantage+ ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ของ Meta ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจปลดล็อกการเติบโตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนบนแพลตฟอร์มของเรา

    นอกจากนี้ โซลูชั่นในการสร้างแคมเปญทางการตลาดที่เรียกว่า Meta Advantage+ Shopping ซึ่งรวมถึงฟีเจอร์สร้างภาพและข้อความด้วย Meta Gen AI ใช้การเรียนรู้ของแมชชีนเลิร์นนิ่งขั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานสร้างสรรค์โฆษณา การจัดวางตำแหน่ง การกระจายเนื้อหา การกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ และการดำเนินการแคมเปญ ในขณะที่ยังเพิ่มผลตอบแทนจากการใช้จ่ายโฆษณา (Return on Ad Spend หรือ ROAS) ให้สูงสุด

    ตัวอย่างเช่น ในปีนี้ โฆษณาที่ใช้โซลูชัน Meta Advantage+ Shopping สามารถสร้าง ROAS ได้สูงถึง 4.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อการใช้จ่าย และในแคมเปญกว่า 14,700 แคมเปญ พบว่าโฆษณาที่ปฏิบัติตามแนวทางที่ดีที่สุดช่วยลดต้นทุนต่อคลิกได้ถึง 19% และต้นทุนการแปลงเว็บไซต์ได้ 21%

    นอกจากนี้ เครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างเช่น ‘โฆษณาแค็ตตาล็อก’ (catalog ads) ช่วยให้แบรนด์สามารถแสดงสินค้าให้กับผู้ชมต่างชาติได้ ขณะที่ ‘กลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกันในหลายประเทศ’ (multi-country lookalike) ช่วยให้แบรนด์สามารถกำหนดเป้าหมายไปยังตลาดในประเทศใหม่ ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิมได้

    สำหรับด้านความปลอดภัยและความไว้วางใจบนแพลตฟอร์ม เขาบอกว่า Meta ได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานและป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึงแพลตฟอร์มได้

    “นั่นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก เรามักให้การอบรมเรื่องแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ระบบรายงาน และมาตรการความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานและพันธมิตรของเราเสมอ” Vohra กล่าว


[ Meta จะเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับธุรกิจ ]

    เมื่อถามถึงวิสัยทัศน์ต่อภูมิทัศน์การซื้อขายออนไลน์ในอนาคต Vohra มองว่าทุกสิ่งจะยังคงเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ดังนั้น แบรนด์และธุรกิจจึงต้องคว้าโอกาสจากเทรนด์ในปัจจุบันและติดตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

    “วิสัยทัศน์ของ Meta คือการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์สำหรับธุรกิจในการเร่งการเติบโตผ่านนวัตกรรม ทำให้แบรนด์สามารถบรรลุความสำเร็จในระยะยาวได้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งก้าวล้ำนำหน้าภูมิทัศน์ออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

    เขาบอกอีกว่า จากการวิจัยของ Meta นั้นพบโอกาสการเติบโตใหม่ๆ สำหรับธุรกิจอยู่เสมอ เช่น กลยุทธ์การทำการค้าออนไลน์แบบบูรณาการ การทำให้คอนเทนต์มีเนื้อหาที่หลากหลาย และโซลูชันการตลาดและการขายที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งล้วนมีศักยภาพการเติบโตสูง โดยเฉพาะในประเทศไทย

    “ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาฟีเจอร์และบริการเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้นและพร้อมที่จะสนับสนุนธุรกิจไทยให้สามารถเติบโตท่ามกลางภูมิทัศน์ดิจิทัลในปัจจุบันและตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของพวกเขา” Vohra กล่าวทิ้งท้าย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดตัว YouTube Shopping ในไทยแล้ว โปรแกรมแอฟฟิลิเอตร่วมกับ Shopee คนดูได้ช็อป-ครีเอเตอร์มีช่องทางหารายได้เพิ่ม

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine