Atome แพลตฟอร์ม BNPL ที่อยากให้คุณช้อปตามใจสั่ง - Forbes Thailand

Atome แพลตฟอร์ม BNPL ที่อยากให้คุณช้อปตามใจสั่ง

Atome แพลตฟอร์มการเงินแบบ "Buy Now, Pay Later" สัญชาติสิงคโปร์มาลงจอดในไทยเมื่อช่วงเดือนธันวาคมเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา และได้รับความรักอย่างท่วมท้นทั้งจากพาร์ตเนอร์ และนักช้อปอย่างไม่หยุดหย่อน แต่ภารกิจของแพลตฟอร์มสี Spriteburst นี้ยังไม่สิ้นสุด

Forbes Thailand ได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงานคนแรกของ Atome ประเทศไทย โดยบุคคลนั้นคือ ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ผู้นั่งตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปคนปัจจุบัน เกี่ยวกับแพลตฟอร์มซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later (BNPL) แพลตฟอร์มนี้ และทิศทางธุรกิจของแพลตฟอร์มสีสันสดใสนี้ BNPL เป็นอุตสาหกรรมทางการเงินใหม่ที่ทั่วโลกจับตามอง โดยจากรายงานของ Google e-Conomy SEA 2021 เผยว่าตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยมีจำนวนผู้บริโภคบนแพลตฟอล์มดิจิทัลสูงขึ้นกว่า 9 ล้านคน โดยเฉพาะจำนวนผู้บริโภคที่สนใจการชำระเงินแบบ BNPL ซึ่งกระโดดเพิ่มสูงขึ้นกว่า 16 เท่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย สำหรับภาพรวมของตลาด BNPL ในปัจจุบัน จากรายงานของ Deloitte และ Mambu ผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินบนแพลตฟอร์มคลาวด์ คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 มูลค่าตลาดของบริการนี้จะพุ่งสูงถึง 3.98 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 131 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.7 ของอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อีกทั้ง Pham Quang Minh ผู้จัดการทั่วไปของ Mambu ประเทศไทยยังเผยด้วยว่า "นับตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปี 2028 การเติบโตคิดเป็นร้อยละ 44.8 ของอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น ทั้งนี้คาดการณ์ว่ามูลค่าขายและซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์​ผ่านบริการ BNPL ทั้งหมดในประเทศไทยจะพุ่งสูงขึ้นจาก 25,000 ล้านบาท หรือ 893.1 ล้านเหรียญในปี 2021 ไปเป็น 521,994 ล้านบาท หรือ 15,818.1 ล้านเหรียญในปี 2028" ประเทศไทยนั้นมีจำนวนประชากรในกลุ่ม Gen Zs และ Millennials มากกว่าครึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยประชากรในกลุ่มนี้เป็นนักช้อปที่คาดหวังประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์บนโทรศัพท์มือถือที่ง่าย สะดวกสบายและรวดเร็ว ทำให้แพลตฟอร์มนี้เป็นตัวช่วยที่เข้ามาตอบโจทย์พวกเขาได้เป็นอย่างดี

แพลตฟอร์ม BNPL จากสิงคโปร์

Atome เป็นบริษัทลูกของ Advance Intelligence Group บริษัทซีรีส์ D ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI จากสิงคโปร์ และมีสำนักงานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีน โดยเมื่อปี 2021 ทาง Advance Intelligence Group ได้รับการยอมรับจาก LinkedIn ขึ้นแท่นเป็นบริษัทสตาร์ทอัพอันดับ 1 ของสิงคโปร์อีกด้วย โดยบริษัทแห่งนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำ AI ให้กับสถาบันการเงิน โดยชื่อ Atome ย่อมาจาก ​"Available to Me" สะท้อนให้เห็นพันธกิจของบริษัทในการมุ่งช่วยเหลือผู้ใช้งาน ให้สามารถครอบครองไอเท็มต่างๆ ไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม ผ่านการแบ่งชำระ 3 งวด ปราศจากดอกเบี้ย ทำให้ไอเท็มนั้นจะชิ้นใหญ่ หรือเล็กแค่ไหน ก็สามารถเข้าถึงได้ตามใจสั่งโดยไม่ต้องรอ สินค้าหลักที่ทางแพลตฟอร์มโฟกัส ประกอบไปด้วย สินค้าแฟชั่น สินค้าความงาม และสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ยังมีบริษัทระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Sephora, ZARA หรือ Anello เป็นต้น ที่เลือกจับมือกับทางแพลตฟอร์มทั้งในไทยและในต่างประเทศ เพื่อเป็นเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้กับลูกค้า ปัจจุบัน แพลตฟอร์มนี้ให้บริการในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฮ่องกอง ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และไทย โดยการที่แพลตฟอร์มนี้เปิดให้บริการในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ทำให้พวกเขาสามารถนำความรู้จากการลองผิดลองถูกตลาดเหล่านั้น มาปรับใช้กับตลาดไทยได้ อีกทั้งยังทำให้สามารถให้บริการลูกค้าข้ามประเทศได้อีกด้วย เสาหลักของแบรนด์และบริการด้านธุรกรรมทางการเงินของ Atome ประกอบไปด้วย  3A ซึ่งประกอบไปด้วย Aspiration, Access, Advice ภูมิพงษ์ อธิบายว่า "Aspiration การที่สามารถเข้าถึงสินค้าที่ตัวเองอยากได้ ณ ตอนนั้นเลย" โดยการใช้ BNPL จะสามารถช่วยให้คุณสามารถซื้อสินค้าที่ต้องการตามความปรารถนาได้ และสามารถจัดการการเงินของตัวเองได้พร้อมๆ กัน และได้ยกตัวอย่างต่อว่า "สมมุติว่าวันหนึ่ง อยากได้รองเท้า แต่บอกว่า ‘เดือนนี้ฉันสะดวกซื้อรองเท้าแค่ 1,000 บาท แต่รองเท้า 1,000 บาทเนี่ย ใส่แค่ 3 เดือนก็พังแล้ว และความจริงฉันอยากได้รองเท้า 2,000 บาท ซึ่งเดือนหน้าฉันก็มีเงินซื้อได้นะ แต่วันนี้เรท้องฉันพังแล้ว และจำเป็นต้องซื้อ’ ซึ่งนี่คือตัวอย่างว่าทำไม Buy Now Pay Later มันสามารถเข้าไปช่วยตรงนี้ได้ "  และนั่นก็เชื่อมต่อกับ A ที่ 2 อย่าง Access ซึ่งภูมิพงษ์อธิบายว่า นอกจากคุณจะสามารถเข้าถึงสินค้าที่ต้องการได้แล้ว คุณยังสามารถเข้าถึงการบริการสินเชื่อได้ง่ายๆ ภายใน 2 นาที A สุดท้าย Advice คือการที่แพลตฟอร์มแนะนำลูกค้าว่าบนแพลตฟอร์มมีโปรโมชันดีๆ อะไรจากทั้งร้านค้าท้องถิ่นและระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะสงสัยว่า แพลตฟอร์มการชำระเงินแบบ Buy Now Pay Later นี้ ต่างจากบัตรเครดิตธรรมดาๆ อย่างไร ซึ่งทางผู้จัดการทั่วไปคนนนี้ก็ให้คำตอบกับเราว่า ​"ในประเทศไทย จำนวนผู้ที่มีบัตรเครดิตมีอยู่สักประมาณร้อยละ 10 ไม่ถึงร้อยละ 10 ด้วยซ้ำ ประชากรเรามีอยู่ที่ 70 ล้าน และมีจำนวนผู้ถือบัตรเครดิตอยู่ที่ราวๆ 6 ล้านคน" แสดงให้เห็นว่าคนจำนวนมากยังเข้าถึงสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทนี้ไม่ได้ โดยสาเหตุหลัก คือ ขั้นตอนการสมัครอันยุ่งยาก เช่น หากไม่มีสลิปเงินเดือน ก็ไม่สามารถทำบัตรเครดิตได้ ทำให้ลูกจ้างฟรีแลนซ์เข้าไม่ถึงการบริการนี้ ซึ่ง Atome ซึ่งเป็นสินเชื่อ ณ จุดขายก็จะสามารถเข้ามาปิดช่องว่างดังกล่าว ให้ผู้ถือบัตรเดบิตก็สามารถเข้าถึงการบริการดังกล่าว และเป็นบริการเสริมให้แก่ผู้ถือบัตรเครดิตผ่านการแบ่งบิลเป็น 3 รอบได้อีกด้วย

พนักงานคนแรกของ Atome

ก่อนที่จะมาร่วมทีมกับบริษัทสัญชาติสิงคโปร์แห่งนี้ ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ก็มีความเป็นนักธุรกิจอยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทแฟชั่นเป็นของตัวเองตั้งแต่ตอนเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์ ก่อนจะขายบริษัทนั้นไป และเมื่อได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ผู้จัดการวัยหนุ่มคนนี้ก็ได้หันมาสนใจเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะ บริษัทด้านฟินเทค ซึ่งเมื่อปี 2014 นั้น ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในไทยมากนัก หลังจากพกดีกรีนักเรียนนอกกลับมา และทำงานเป็นพนักงานองค์กร และเป็นนักลงทุนได้สักพัก อยู่มาวันหนึ่ง กล่องข้อความของภูมิพงษ์ ก็มีข้อความจาก Atome โผล่ขึ้นมา ทาบทามให้เขาเข้าร่วมทีม "เขามีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย ที่นี่เขาก็หาคนที่จะมาเริ่มตั้งแต่เปิดตัว ตั้งแต่ศูนย์เลย" ภูมิพงษ์เอ่ยถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นและกล่าวต่อพร้อมพลางหัวเราะเบาๆ ว่า "เขาก็คงเล็งเห็นว่าเรามีศักยภาพระดับหนึ่ง เขาก็ไว้วางใจให้มาเป็นพนักงานคนแรก" เมื่อได้ลองคุย ลองไถ่ถามเพื่อนฟูง และได้ทำความรู้จักกับตัวบริษัทนี้มากขึ้น ภูมิพงษ์ จึงตัดสินใจรับภารกิจดังกล่าว และเริ่มร่างแผนธุรกิจอย่างละเอียดส่งให้กับทีมงาน Atome สิงคโปร์ก่อนจะผ่านการคัดเลือกเข้ามารับตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการ
ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล
เมื่อต้องทำทุกอย่างในการก่อตั้ง Atome ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ภูมิพงษ์เผยหลักคิดในการบริหารงานแบบได้ใจความที่ว่า "สำหรับองค์กรที่หมุนเร็ว และโตเร็ว ลักษณะนี้ อย่างแรกเลยต้องค่อนข้าง goal-oriented กับ result-oriented ก่อน ​วางแผนดีแล้ว เราก็ต้องดูว่าอะไรจะผลักดันให้เราไปสู่จุดมุ่งหมาย" และกล่าวต่อว่า "เรามีการวางแผนตั้งแต่ระยะสั้นแบบเดือนต่อเดือน จริงๆ เราติดตามทุกอย่างรายวันเลยด้วยซ้ำ อีกทั้ง มีการวางแผนที่เป็นต่อไตรมาส และต่อปี...ในองค์กรที่มันหมุนเร็วมาก ถ้าเราไม่มีการตั้งเป้าชัดเจน ไม่มีแผนที่ชัดเจน มันจะจัดการค่อนข้างยาก" อีกทั้ง ยังถือคติ "Fail fast, fail early." ผ่านการติดตามผลตอบรับจากการออกโปรดักส์ใหม่ๆ อย่างใกล้ชิด และนำผลตอบรับจากข้อผิดพลาดเหล่านั้น มาเป็นเครื่องมือในการปรับกลยุทธ์ และหลักปรัชญาที่สำคัญที่สุดคือ การสื่อสาร และความโปร่งใส พนักงานทุกคนต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละฝ่าย ส่งผลให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่ติดขัด ทว่า คติเหล่านั้นไม่เพียงพอต่อการผลักดันบริษัทให้แข็งแกร่ง เพราะที่ขาดไม่ได้คือ บุคคลากรที่มีแพชชั่น โดยเผยว่า "เพราะว่าธุรกิจมันโตเร็ว เมื่อถามว่าทำงานหนักหรือไม่ มันก็หนัก แต่ว่าเราต้องมีแพชชั่น เชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันมีคุณค่าต่อร้านค้า มีคุณค่าต่อผู้ใช้งาน และมีคุณค่าต่อสังคมด้วย" โดย ณ ตอนนี้ ทาง Atome ประเทศไทยมีพนักงานผู้เปี่ยมไปด้วยแพชชั่นอยู่ราวๆ 40 คน

กระแสตอบรับในไทย

ตลาดไทยเอง ทั้งร้านค้า และผู้ใช้งานก็ให้ผลตอบรับที่ค่อนข้างดีกับการบริการดังกล่าว "เราเริ่มเปิดตัวจริงๆ จังๆ ออกไปเป็นโปรดักส์สู่ตลาด สักประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เราให้บริการเต็มเดือนคือเดือนตุลาคม ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายนปีที่แล้ว เราโตขึ้น [ในด้านของ GMV] มาประมาณ 10 เท่า" ภูมิพงษ์ กล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด​-19 ทำให้ผู้ค้าไทยหลายรายได้รับผลกระทบ การเข้ามาในไทยของ Atome จึงเปรียบเสมือนทางออกทางใหม่ เป็นเครื่องมือช่วยให้สามารถเพิ่มยอดขาย สร้างฐานลูกค้าใหม่ และช่วยฐานลูกค้าเดิมแบ่งเบาภาระในการชำระได้ดีขึ้น โดยจากพาร์ตเนอร์ไม่ถึง 50 รายในช่วงที่เปิดตัว วันนี้ ทางแพลตฟอร์มมีพาร์ตเนอร์มากกว่า 400 ราย อีกทั้งยังมีแบรนด์ระดับโลกที่เป็นพาร์ตเนอร์กับทางแพลตฟอร์มอยู่แล้วต่อคิวรอเปิดตัวในไทยอีกจำนวนมาก ทำให้ทางบริษัทมั่นใจว่า ภายในสิ้นปี จะมีพาร์ตเนอร์ถึง 1,000 รายแน่นอน
แคมเปญล่าสุดกับ Astro แบรนด์แอมบาสเดอร์ของทางบริษัท
ซึ่งเกณฑ์การเลือกพาร์ตเนอร์ของทางแพลตฟอร์มก็เรียบง่าย ขอเพียงเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีตัวตนก็พอแล้ว "ขนาดเล็ก ใหญ่เนี่ย ความจริงเราไม่ได้สนใจ เพราะว่าส่วนหนึ่งแล้ว เราไม่ได้มุ่งหวังแต่จะช่วยเพียงร้านค้าใหญ่ ไม่ได้จะช่วยแต่แบรนด์ใหญ่ เราเองก็อยากช่วยธุรกิจแบรนด์ที่เป็น ​SME หรือเป็นแบรนด์ท้องถิ่น ให้มีช่องทางการจ่ายเงินที่ดีมากขึ้นอีกด้วย" ภูมิพงษ์ กล่าว การเข้ามาจับมือกับทางแพลตฟอร์มจะช่วยให้ร้านค้าสามารถเพิ่มมูลค่าการขายต่อครั้ง หรือ Average Basket Size ได้ประมาณร้อยละ 30 เนื่องจากลูกค้าสามารถแบ่งชำระได้ ทำให้กล้าซื้อปริมาณมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มยอดขาย และเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ให้แก่ร้านค้าเหล่านั้นได้อีกด้วย ส่วนในด้านของจำนวนผู้ใช้งาน กระแสตอบรับก็ดีไม่แพ้กัน ตัวเลขจากทางบริษัทเผยว่า ฐานผู้ใช้งานโตขึ้นประมาณ 30 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเปิดตัว โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือ กลุ่ม Gen Zs และ Millennials ซึ่งใช้จ่ายราวๆ 2,000 ถึง 2,500 บาทต่อการซื้อ 1 ครั้ง และด้วยยอดค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก ส่งผลให้ทางบริษัทมีหนี้เสียอยู่ในระดับที่น่าพอใจอีกด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น Atome ก็มียอดการดาวน์โหลดรวมราวๆ 300,000 ครั้ง ทะลุเป้าที่วางไว้เมื่อตอนเปิดตัวที่ว่าต้องมียอดดาวน์โหลดอย่างน้อยๆ 200,000 ครั้งไปอย่างสวยงาม

ก้าวต่อไป

ปัจจุบัน ผู้ใช้งานส่วนมากเป็นกลุ่มคนในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ แต่ในอนาคต Atome ก็มีแผนเดินหน้านำการบริการ BNPL นี้ไปส่งมอบให้กับคนไทยทั่วประเทศ ซึ่งแผนการดังกล่าวจะขาดบรรดาร้านค้าพาร์ตเนอร์ไปไม่ได้ โดยทางแพลตฟอร์มจะดำเนินการรุกตลาดอื่นๆ ผ่านการทำงานกับพาร์ตเนอร์โดยใกล้ชิด จับมือกับรีเทลเลอร์รายใหญ่ และทำการสื่อสารผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น โดยในเร็วๆ นี้ ทางบริษัทยังได้เตรียมประกาศร่วมมือกับแบรนด์ภายในเครือเซ็นทรัล เช่น G2000, Clarins, Dyson และแบรนด์อื่นๆ กว่าอีก 22 แบรนด์อีกด้วย "Going forward แน่นอน เราก็คงไม่ใช่ผู้เล่นคนเดียวแล้ว มันมีผู้เล่นคนอื่นเข้ามา แต่ว่า เรายังคงตั้งเป้าว่า เราจะเป็นที่ 1 ในตลาด" เช่นเดียวกับ Atome ในหลายๆ ประเทศที่แซงหน้าแพลตฟอร์ม BNPL เจ้าอื่นครองตำแหน่งแพลตฟอร์มอันดับต้นๆ ได้สำเร็จ อีกทั้ง ยังมองว่าการมีผู้เล่นหลายๆ คน ยังนับเป็นการมีผู้มาช่วยให้ความรู้กับตลาดอีกด้วย และเผยว่า "ผมคิดว่า ภายในปี 2025 ตลาด Buy Now Pay Later ไทย อย่างน้อยๆ จะโตขึ้นสักประมาณ 100% หรือ double สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้แน่นอน นอกจากเจ้าใหญ่อย่าง Apple จะประกาศลงสนาม BNPL แล้ว ผู้เล่นในตลาดไทยอื่นๆ ในปัจจุบันก็มีเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Pace จากสิงคโปร์เช่นเดียวกับ Atome จนไปถึง K Pay Later จากธนาคารกสิกรไทย อีกทั้งทาง กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ก็กำลังเดินหน้าพัฒนาฟังก์ชั่น BNPL ในแอป ​U CHOOSE อีกด้วย ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ภูมิพงษ์คาดการณ์ไว้เกี่ยวกับตลาด BNPL ไทย คงไม่ไกลเกินเอื้อม "เรามีอีกหลาย Milestone ในการเจริญเติบโตสำหรับปีนี้ และปีหน้า" โดยภูมิพงษ์เผยว่า สำหรับเป้าหมายระยะสั้น ทางแพลตฟอร์มมีเป้าในการโตอีกราวๆ 3 ถึง 4 เท่าภายในปีนี้ และสำหรับเป้าหมายระยะยาว ทาง Atome วางแผนเป็นมากกว่าแพลตฟอร์ม BNPL  พร้อมส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ โดยจะเปิดตัวตามความเหมาะสม และสภาพตลาด รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย อ่านเพิ่มเติม: oHouse สุดยอดแอปพลิเคชันด้านไลฟ์สไตล์แห่งเกาหลี
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine