วิตต์ วิจิตรวาทการ เผยภาพรวมธุรกิจ จีอี ประเทศไทย และกลยุทธ์ในการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม พร้อมตั้งเป้านำผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีนำทางธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่อง
วิตต์ วิจิตรวาทการ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และหัวหน้าผู้แทนประจำประเทศไทย บริษัทจีอี เผยภาพรวมธุรกิจ จีอี รวมทั้งกลยุทธ์การแข่งขันในกลุ่มธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม หลังปักธงในประเทศไทยดำเนินธุรกิจมากกว่า 55 ปี เป็นหนึ่งในบริษัทต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดด้านธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นอกจากนี้ วิตต์ ยังรับผิดชอบงานด้านรัฐกิจสัมพันธ์และการกำหนดนโยบายภาครัฐ ของจีอีในกัมพูชา และเมียนมาร์ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานด้านรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบาย ในการประสานงานในระดับภูมิภาคที่รัฐกิจสัมพันธ์สามารถเข้ามามีบทบาท ธุรกิจของ GE ในประเทศไทยครอบคลุมด้านพลังงาน สาธารณสุข และการบิน เรามุ่งมั่นให้บริการโซลูชันที่จะช่วยพัฒนามาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วประเทศและช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการหาแนวทางรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งยังทำงานร่วมกับเผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ผลิตเครื่องบิน รวมไปถึงบริษัทสายการบินและหน่วยบินของภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาล และผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข สำหรับกลยุทธ์ของจีอีในประเทศไทย วิตต์ วิจิตรวาทการ เผยว่า GE ยังคงมองเห็นโอกาสมากมายในการร่วมมือ ในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานลม เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีให้ทันความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทนของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ "การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนและก๊าซธรรมชาติอย่างมีกลยุทธ์และรวดเร็ว จะช่วยเปลี่ยนทิศทางของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" วิตต์ กล่าว ในส่วนของธุรกิจด้านสุขภาพและสาธารณสุข GE Healthcare ได้ร่วมเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทยในบริการด้านสุขภาพและยกระดับการดูแลรักษาในภูมิภาค โดยผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ดิจิทัลโซลูชัน และการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยรักษาตำแหน่งเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ เพื่อดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อการรักษาที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ ธุรกิจการบินเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักของ GE เครื่องบินทั่วโลกและในประเทศไทย ได้ใช้เครื่องยนต์เครื่องบินของ GE มานานหลายทศวรรษ ทั้งสายการบินหลักในประเทศ รวมไปถึงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ของรัฐบาลและกองทัพ ในช่วงการระบาดโควิด-19 จีอี ยังให้การสนับสนุนบริษัทการบินไทยและช่วยสนับสนุนกระบวนการพื้นฟูของสายการบิน และจะยังคงให้การสนับสนุนต่อไปเพื่อก้าวไปพร้อมกับภาคธุรกิจการบินในประเทศไทยสู่อนาคตของการบินที่เป็นเลิศและปลอดภัยยิ่งขึ้น ธุรกิจทั้งหมดของ GE ล้วนมีความสำคัญ เพราะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดคือธุรกิจด้านพลังงาน ซึ่งรวมไปถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน โครงข่ายระบบสายส่งและกระจายไฟฟ้า รวมทั้งบริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าอีกด้วย GE ทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนพันธมิตรในการพัฒนาการเข้าถึงไฟฟ้าในราคาย่อมเยา มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ยืดหยุ่นและยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างราบรื่น "เรามีความภาคภูมิใจที่มากกว่าร้อยละ 30 ของไฟฟ้าผลิตในประเทศ มาจากฐานการผลิตและอุปกรณ์ของ GE ซึ่งเราทำงานกับผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภาพ รวมทั้งลดต้นทุนและลดการปล่อยมลภาวะ"กองเรือธง GE
สำหรับประเทศไทย ผลิตภัณฑ์และบริการของ GE ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำตลาดไม่ว่าจะเป็น "อุปกรณ์ทางการแพทย์" ของ GE ได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้นๆ เสมอมา รวมทั้งในฐานะแบรนด์พรีเมี่ยมที่ผลิตอุปกรณ์วินิจฉัยโรคที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเอกซเรย์แบบ tomography เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องเอกซเรย์ และเครื่องอัลตราซาวด์ ในภาคพลังงาน "กังหันก๊าซ 9HA" ของ GE เป็นกังหันก๊าซที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ และยังเป็นหัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก กังหันก๊าซรุ่นนี้มีอัตราส่วนประสิทธิภาพของพลังงานความร้อนร่วมที่สูงที่สุดในโลกมากกว่าร้อยละ 64 และวิศวกรของเราก็ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของกังหันก๊าซดังกล่าวให้สูงขึ้นไปอีก ในขณะนี้ กำลังมีการติดตั้งกังหันก๊าซ 9HA.02 ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อเตรียมการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นสำหรับประเทศไทย สำหรับธุรกิจการบิน เครื่องยนต์ GE90 เป็นตัวขับเคลื่อนเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ทั่วโลก ตอนนี้ GE90 คือเครื่องยนต์การบินที่ทรงพลังและมีความเสถียรที่สุดเท่าที่มี นอกจากนี้ อัตราความปลอดภัยของเครื่องยนต์ก็ยังไม่มีใครเทียบได้ และอีกไม่นาน เครื่องยนต์รุ่นนี้จะถูกแทนที่ด้วย GE9X ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก และจะใช้ในเครื่องบินโบอิ้ง 777 รุ่นต่อๆ ไปด้วย ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน GE เป็นหนึ่งในบริษัทต่างชาติในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญ ในปัจจุบัน มากกว่าร้อยละ 30 ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศ หรือประมาณ 41,000 เมกะวัตต์ มาจากฐานการผลิตและอุปกรณ์ของ GE ส่วน GE Aviation นั้นก็เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านเครื่องยนต์ของเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินทหาร เครื่องบินส่วนตัวและเครื่องบินทั่วไป นอกจากนี้ยังให้บริการด้านเครื่องยนต์ turboprop ส่วนประกอบเครื่องบิน ระบบสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องบิน (avionics) ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลสำหรับเครื่องบินอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดมีเครือข่ายการบริการอยู่ทั่วโลก ส่วน GE Healthcare นั้นมีเทคโนโลยีและการบริการด้านการแพทย์ที่พลิกโฉมการดูแลผู้ป่วยในยุคใหม่ และ GE ยังมีบทบาทสำคัญในธุรกิจการดูแลสุขภาพในประเทศไทย โดยปัจจุบัน มีอุปกรณ์ที่ใช้วินิจฉัยโรคของ GE มากกว่า 2,500 ติดตั้งใช้งานอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 600 แห่ง GE ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด GE ใช้งบประมาณในการฝึกอบรมและการศึกษากว่า 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนา การฝึกอบรมทักษะความเป็นผู้นำให้แก่พนักงานในทุกภูมิภาคด้วย "1 ใน 3 ของไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลก มาจากการผลิตของ GE การเติบโตของบริษัทส่วนใหญ่จึงมาจากธุรกิจภาคพลังงาน บริษัทฯ ยังได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของธุรกิจพลังงานทดแทน สืบเนื่องมาจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ที่ยังคงผลักดันให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น" รายงานล่าสุดระบุว่ารัฐบาลทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอัดฉีดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ประกอบกับรัฐบาลไทยมุ่งมั่นจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานที่ได้ให้มาจากพลังงานทดแทนมากขึ้นอีก 30% ภายในปี 2579 ตามแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในฐานะผู้ให้บริการรายสำคัญในธุรกิจพลังงานทดแทน GE มีความพร้อมในการสนับสนุนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น GE ตระหนักว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีพื้นที่จำกัดเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทจึงเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกติดตั้งกังหันลมที่จังหวัดเพชรบูรณ์และชัยภูมิเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ในขณะเดียวกัน เกษตรกรก็สามารถใช้พื้นที่ด้านล่างระหว่างเสากังหันลม ในการทำเกษตรกรรมต่อไปได้ GE ต้องการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินและโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เพื่อผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและพลังงานสะอาด นอกจากนี้บริษัทจะยังคงสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโรคระบาดต่อไปความท้าทายบนวิกฤตโควิด-19
ความท้าทายท่ามกลางวิกฤตได้ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องหาวิธีให้สามารถดำเนิน “ธุรกิจตามปกติ” ต่อไปได้ โดยเฉพาะบริการที่มีความสำคัญ เช่น สุขภาพ ภาคการผลิต ไฟฟ้า การขนส่ง การบิน และบริการสาธารณะ ด้วยประสบการณ์อันช่ำชองและเป็นที่ยอมรับด้านธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน GE จึงสามารถสนับสนุนให้โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า และสนามบินฟื้นตัวได้โดยเร็ว และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติในช่วงที่มีโรคระบาดนี้ ในช่วงเวลาเช่นนี้ เรามักจะหาทางผ่านพ้นไปได้เสมอ วิกฤตครั้งนี้ช่วยเร่งให้เกิดการใช้เครื่องมือวิศวกรรมทางไกลที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ลูกค้าก็ได้ประจักษ์ว่าเครื่องมือเหล่านี้มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น และเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทางเทคนิคที่จำเป็น การปฏิบัติงานจึงคงดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดที่อยู่ประจำการหรือผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม GE ได้คิดค้นและหาวิธีการใหม่ๆ ในการนำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าและซ่อมบำรุงได้ตามกำหนด เพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าไปทั่วประเทศเป็นไปตามปกติ ไม่ติดขัด ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและเส้นทางไปสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่สะอาด เสถียรและคุ้มค่า ในส่วนของธุรกิจด้านสุขภาพ ก็ได้มีการนำเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีทางไกลมาใช้ในการสนับสนุนการปฏิงานของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ระบบตรวจสุขภาพแบบดิจิทัลที่ช่วยให้โรงพยาบาลวินิจฉัยโรคได้ดีและแม่นยำมากขึ้น ลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ และจัดระบบบริการผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ในปีที่ผ่านมา GE Healthcare ประเทศไทย ยังได้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง (PPE) จำนวน 1,000 ชิ้น และอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000 บาท และในปีนี้อีกราว 280,000 บาท ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลให้เครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวทำงานได้ไม่ติดขัด และยังได้นำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยติดตั้งและปรับปรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถต่อสู้กับโรคระบาดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับลูกค้าในภาคการบิน วิศวกรภาคสนามของ GE Aviation ซึ่งประจำการอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ทำงานร่วมกับบริษัทการบินไทยเพื่อบำรุงรักษาเครื่องบินให้ตรงกับข้อบังคับการปฏิบัติของเราเพื่อให้เครื่องยนต์อยู่ในสภาพปลอดภัยและพร้อมใช้งานเมื่อต้องการ เครื่องบิน 777-300ER เหล่านี้ได้นำคนไทยในต่างแดนกลับสู่ประเทศ ขนส่งสินค้าที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดประเทศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง เป้าธุรกิจใน 3-5 ปี จีอี ประเทศไทย วิตต์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนของเป้าหมายทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทุกประเทศที่ GE เข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่นั้น บริษัทฯ ได้มุ่งเน้น 3 เรื่องคือ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การรักษาโรคที่แม่นยำที่ออกแบบการวินิจฉัยและการรักษาเฉพาะบุคคล และการบินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต "GE เชื่อว่าอุตสาหกรรมพลังงานจะเป็นตัวอย่างให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วโลก และโซลูชั่นแบบคาร์บอนต่ำ เช่น การใช้พลังงานทดแทน ร่วมด้วยพลังงานก๊าซ จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงานลงได้อีกในอนาคต เพราะธรรมชาติของก๊าซมีศักยภาพมหาศาลในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างรวดเร็วและในปริมาณที่โลกต้องการ" ในส่วนของธุรกิจสุขภาพ จากการที่ชนชั้นกลางในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการการบริการทางการแพทย์ที่ยกระดับมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ของภูมิภาค เพราะการลงทุนที่มากขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ต้องการพัฒนาบริการด้านนี้ สำหรับประชาชนและผู้ป่วยในภูมิภาคที่มองหาการรักษาโรคภัยที่มีความซับซ้อน การลงทุนดังกล่าวยังรวมถึงการศึกษาด้านคลินิกที่จะช่วยรับรองมาตรฐานการดูแลให้เป็นไปอย่างถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมมาแล้ว แน่นอนว่าในปีนี้ โควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบที่สาหัสและยาวนานต่อหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข แนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนในการเข้าถึงการรักษาบริการที่จำเป็น ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้และผู้ให้บริการ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดการเร่งใช้เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น อ่านเพิ่มเติม: ‘ยศกร นิรันดร์วิชย’ ปั้น ‘สแทชอเวย์’ จากวิกฤตสู่โอกาสการลงทุนไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine