freshket สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการเกษตรสัญชาติไทย ที่คัดสรรและรวบรวมวัตถุดิบคุณภาพดีจากเกษตรกรผู้ผลิตส่งตรงถึงธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และครัวเรือน
จากพื้นเพของครอบครัวที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ผักที่มีการติดต่อซื้อขายกับเกษตรกรเป็นหลัก และประสบการณ์การทำงานในฐานะ marketing consultant ที่ตลาดไท ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้
พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ร่วมก่อตั้ง
freshket แพลตฟอร์มตลาดสดออนไลน์ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการระบบซัพพลายเชนของสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตสามารถเข้าถึงข้อมูล อีกทั้งยังขายสินค้าได้ในราคาดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้ซื้อ ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม หรือแม้แต่ผู้ซื้อรายย่อยเอง ก็สามารถซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้ในราคาที่เหมาะสม
“ปัจจุบัน freshket ให้บริการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพเป็นหลัก มีร้านอาหารเข้าร่วมในแพลตฟอร์ม เพื่อซื้อวัตถุดิบ 7,000 รายการ 22 ประเภทสินค้ากับเราอยู่ที่ประมาณ 4,500 รายต่อเดือน”
“freshket สดจริง เชฟเลือกใช้”
“เรารู้สึกว่าสินค้าเกษตรหรือว่าเกษตรกรเกี่ยวข้องกับคนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ว่ามีซัพพลายเชนที่ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ซื้อกับผู้ขายหลายทอดที่เกิดขึ้นมากเกินไประหว่างทาง”
หลังคว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ Dtac Accelerate Batch4 ในปี 2559
พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ และทีมผู้ร่วมก่อตั้ง จึงไม่รีรอที่จะเริ่มต้น freshket อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการเชื่อมโยงซัพพลายเออร์กับร้านอาหาร เพื่อให้เกิดการซื้อขายอย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่เป็นธรรม
“freshket ส่งของสด คือ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ของเหล่านี้ร้านอาหารรอไม่ได้ ดังนั้น Freshket ต้องมีคลังสินค้า (Warehouse) และระบบขนส่ง (Logistic) เข้ามาเพื่อให้สามารถรวบรวมสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่หลากหลาย” ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า
‘ส่งทุกวันสดทุกวัน’ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการสต็อกวัตถุดิบสดข้ามวัน ขณะที่ฝั่งลูกค้ายังสามารถเลือกเวลาจัดส่งที่สะดวกได้ด้วยตัวเอง
“ทว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดไว้ รัฐบาลประกาศปิด กทม. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส-19 ทำให้ในปีที่ผ่านมา มีร้านอาหารต้องปิดตัวชั่วคราว ยอดการสั่งซื้อ freshket กว่า 80% ถูกยกเลิกภายในวันเดียว เพื่อรับมือกับปัญหาทางการเงิน เราตัดสินใจเปิดแพลตฟอร์มเป็นแบบ B2C ให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาสั่งได้ เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว”
ด้วยความมุ่งมั่นพยายามและการต่อสู้แบบไม่ย่อท้อทำให้ “ปีที่แล้วมีความต้องการเยอะมากจนเราเกือบรับมือไม่ทัน แต่ก็ผ่านมาได้ ข้อดีที่มีมาจนถึงปีนี้คือมีลูกค้าทั่วไปที่ติดใจ ชอบสินค้าที่มีคุณภาพ ยังคงสั่งซื้อกับ freshket อยู่ แต่หลังโควิดก็กลับมาโฟกัสที่ B2B สัดส่วนธุรกิจอยู่ที่ 85% ในส่วนของกลุ่มร้านอาหาร และอีกประมาณ 15% สำหรับบุคคลทั่วไป”
“สัดส่วนประมาณ 70% ของร้านอาหารเป็น SMEs และร้านสแตนอโลน ขณะที่อีก 30% เป็นเชนร้านอาหาร ซึ่งก่อนที่จะมี freshket ร้านอาหารก็จะต้องไปตลาดสดและห้างโมเดิร์นเทรดเพื่อซื้อวัตถุดิบ แต่พอมี freshket แน่นอนว่ามีความสะดวกมากขึ้น เพราะเรามีระบบ order management system ในการรับออเดอร์ผ่านทางช่องทางออนไลน์พร้อมจัดส่งตรงถึงหน้าร้าน สอง เรื่องคุณภาพสินค้า คือ ร้านอาหารสามารถควบคุมต้นทุนอาหารได้ เพราะวัตถุดิบทุกประเภทต้องผ่านการตรวจสอบจากโรงคัดตัดแต่งไม่ว่าจะอยู่ในเกรดไหน ขณะที่สินค้าแห้ง ลูกค้าไม่จำเป็นต้องสั่งเป็นลังหรือสต็อกสินค้า ขวดเดียวก็ซื้อได้”
ในขณะเดียวกัน freshket ยังมุ่งเน้นที่จะช่วยร้านอาหารปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นของแพง ของขาด หรือกระแสเงินสด โดยจับมือกับพันธมิตร (partnership) หลายๆ ฝ่าย เพื่อให้ครอบคลุมการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการร้านอาหารได้ตรงจุด
“เป้าหมายไม่ได้คิดว่าจะอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ตอนนี้โฟกัสแค่ตลาดกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ สิ่งที่ทำ คือ การสร้างผลกระทบให้กับประเทศไทยก่อน ทำให้ผลกระทบนี้ใหญ่และมีความหมายจริง ๆ ก่อนที่จะไปโฟกัสตลาดต่างประเทศ”
อ่านเพิ่มเติม:
RentSpree สตาร์ทอัพสัญชาติไทย เจาะตลาดอเมริกา