ตะลุยเกมธุรกิจ "กฤตย์ พัฒนเตชะ" ผู้อยู่เบื้องหลัง "ROV" - Forbes Thailand

ตะลุยเกมธุรกิจ "กฤตย์ พัฒนเตชะ" ผู้อยู่เบื้องหลัง "ROV"

กฤตย์ พัฒนเตชะ จากนักวิศวกรรมเคมีสู่ผู้บุกเบิกเกมออนไลน์บนถือ สร้าง ROV หนึ่งในเกมดังบนมือถือแห่งค่าย Garena และผู้มีส่วนในการเปลี่ยนวงการเกม ในการนำความบันเทิงพร้อมๆ ไปกับการสร้างอาชีพและมุมมองที่ดีต่อเกม จนเกิดเป็นวงการที่สามารถแข่งขันในเวทีโลก และเป็นไปตามเป้าหมายที่เขาต้องการสร้างอีโคซิสเต็มให้ eSports ไทยสมบูรณ์แบบ แข็งแรง และความยั่งยืน

เป็นเวลากว่า 8 ปี ที่ กฤตย์ พัฒนเตชะ เข้าร่วมกับ Garena ประเทศไทย หนึ่งในกลุ่มบริษัท SEA ประเทศไทย การได้เข้ามาบริหารธุรกิจที่เป็นงานอดิเรกที่เขารัก ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าความสุขในการทำงานสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจใด ก่อนเข้าร่วมงานกับ Garena เคยชิมลางในธุรกิจการเงินวิศวกรด้านการออกแบบแท่นน้ำมัน “ผมก็อยากรู้ว่าตัวเองจะชอบไหม และทางเดียวที่จะได้คำตอบคือต้องลอง” เหตุผลในการทำงานด้านการออกแบบแท่นน้ำมัน ในเรื่องของการวางแผน วางโครงสร้าง และเน้นหนักที่ความละเอียด เพราะทุกอย่างต้องปลอดภัยที่สุด ในช่วงเริ่มต้นการทำงาน กฤตย์ เข้ามาดูมาร์เก็ตติ้งเกมฟุตบอล ซึ่งช่วงนั้นมีมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งเป็นการเรียนรู้การทำงานได้เป็นอย่างดี "คนอยากดูของจริงมากกว่ามาเล่นเกม แต่เป็น Learning Point ที่ดี เก็บมาเรียนรู้และทำให้เราพยายามมองลูกค้าในมุมกว้าง และทำการบ้านมากกว่าเดิม เป็นการทำให้เราเติบโตได้อย่างดี ตอนนั้นเราการเชิญ ไมเคิล โอเว่น มาโปรโมตงานและได้รับผลทางออร์แกนิคดีมาก และเรายิ่งสนุก พอเรารู้ว่าการเราออกนอกกรอบได้ ยิ่งทำให้เราชอบที่จะคิดไปเรื่อยๆ ก่อนจะได้มาทำ ROV และลุยต่อมาเรื่อย ที่นี่สอนให้ผมกล้าคิดนอกกรอบ เปิดโอกาสให้ได้ลองทำสิ่งใหม่ และเต็มไปด้วยทีมงานที่มีพลังล้นเหลือ ซึ่งมันถ่ายทอดมาถึงตัวผมด้วยเหมือนกัน” กฤตย์ พัฒนเตชะ Senior Director, Head of Garena (Thailand) กล่าว

ด่านที่หนึ่ง: เล่นเป็น (มือ) อาชีพ

กฤตย์ เข้าสู่ธุรกิจเกมในปี 2555 เป็นช่วงที่เทรนด์ความนิยมการเล่นเกมพีซีเปลี่ยนไปสู่การเล่นเกมผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งในยุคนั้น Garena มีเกมที่ได้รับความนิยมหลากหลายไม่ว่าจะเป็น HoN (Heroes of Newerth), Fifa Online 3 และ League of Legends ซึ่งคนเล่มเกมส่วนใหญ่จะกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นเป็นหลัก ก่อนที่ไม่นานนักเกมบนสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมแทนที่และความเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น "สมาร์ทโฟนเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั่นก็คือจุดเปลี่ยนใหญ่ที่ทำให้วงการเกมเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน ในยุคของการเปลี่ยนถ่ายเกมจากพีซีมาสู่มือถือ เรามีการเปิดตัว ROV ซึ่งฮิตติดตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้การเล่นเกมกลายเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย และกลายเป็นความ Mass ที่จับต้องได้” กฤตย์ กล่าวเสริม ขณะที่ปี 2556 วงการเกมในประเทศไทยได้ถือกำเนิดสมาคมขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อ สมาคมไทยอีสปอร์ต และเข้าร่วมสมาชิก International Esports Federation (IESF) โดยมีการส่งนักกีฬาอีสปอร์ตจากไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติทุกปี พร้อมกับการผลักดันให้อีสปอร์ตถูกบรรจุเป็นชนิดกีฬา จนกระทั่งปี 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบให้อีสปอร์ตเป็นชนิดกีฬา ที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาในประเทศไทยได้ เขาจึงตัดสินใจทำมาร์เก็ตติ้งอย่างจริงจังเพื่อให้คนเห็นภาพว่าเกมแต่ละแบบใช้ทักษะที่ต่างกัน บางเกมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ บางเกมสอนให้รู้จักวางแผน และบางเกมก็สอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม ที่สำคัญยังเปิดโลกของ eSports ทำให้คนเห็นว่าเกมคือเรื่องของกีฬา สามารถสร้างอาชีพได้จากตรงนี้จึงทำให้วงการเกมเข้าสู่อีกหนึ่งจุดเปลียนสำคัญกับการมีกลุ่มผู้เล่นที่กว้างขึ้น ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ พร้อมกับการมองหาพันธมิตรเพื่อสร้างเม็ดเงินให้ eSports มีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับ NewZoo บริษัทสำรวจตลาด eSports ที่เผยผลสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมาว่า มูลค่าของวงการ eSports มากกว่า 950 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอีก อาทิ เกม ROV ที่มีการสร้างตัวละครใหม่ๆ และไปทำการตลาดกับแบรนด์สินค้าต่างๆ

ด่านที่สอง: สร้าง Eco System ที่สมบูรณ์

สำหรับในประเทศไทย Garena เป็นผู้บุกเบิกเกมออนไลน์สู่ลีกอีสปอร์ตอาชีพที่แข็งแกร่งและใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะ RoV Pro League ถือเป็นลีกที่แข็งแกร่งที่สุดในไทยมีการจัดแข่งขันกันปีละสองครั้งกับเงินรางวัลกว่าสิบล้านบาท แต่ที่น่าภูมิใจกว่านั้นก็คือการได้เห็นเกมสามารถสร้างอาชีพได้ เพราะเมื่อถูกบรรจุเป็นนักกีฬาของสโมสรจะมีรายได้ตอบแทนทุกเดือน มีโค้ชคอยฝึกเพื่อวางรากฐานให้ และถ้าไปไกลกว่านั้นยังสามารถขยับไปสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่หารายได้จากช่องทางอื่นได้อีกด้วย ล่าสุดจากการผลักดันอย่างหนัก RoV ก็ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในการแข่งขัน Philippines 2019 Southeast Asian Games ซึ่งครั้งนั้น ทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองกลับมาด้วย “ผมเชื่อว่าการเติบโตของวงการเกมจะช่วยสร้างตลาดแรงงานขึ้นมาอีกจำนวนมาก ทำให้เด็กมีทางเลือกที่มากขึ้น" สำหรับสังคมของคนเล่นเกมจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ Gamer กลุ่มนี้คือผู้บริโภคหรือเกมเมอร์ทั่วไปที่เล่นเกมเพื่อความสนุก กลุ่มที่สองคือ Streamer Caster กลุ่มนี้จะเล่นเกมมาในระดับหนึ่งและมีความสามารถจะขึ้นเป็นสตรีมเมอร์ได้ กลุ่มนี้มีค่อนข้างเยอะ จะชอบเอาเกมที่อยู่ในตลาดมาเล่นออนไลน์ ความสามารถพิเศษคือจะต้องเอนเตอร์เทนคนดูได้ ต้องพูดเก่ง วิเคราะห์เป็น มีความคิดสร้างสรรค์สูง และมีความสามารถเชิงเทคนิคตัดต่อคลิปได้สนุก น่าดู ซึ่งถ้าทำเป็นประจำก็จะเกิดรายได้อย่างแน่นอน และกลุ่มที่สามคือ eSports Player กลุ่มนี้คือนักกีฬาอีสปอร์ต มุ่งเน้นจะพัฒนาทักษะตัวเองอย่างต่อเนื่องและคาดหวังถึงเงินรางวัล ต้องขยันหมั่นฝึกซ้อม มีความทะเยอทะยานในระดับหนึ่ง กลุ่มนี้ถ้าสามารถเอนเตอร์เทนคนดูได้จะเป็นสตรีมเมอร์ในอีกระดับที่คนประทับใจชอบเข้ามาดู และจะกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่จะมีแบรนด์ต่างๆ เข้ามาติดต่อและให้การสนับสนุน ทว่ากว่าจะผลักดันให้วงการเกมมาถึงตรงนี้ไม่ง่าย ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะทีมงานที่ทุ่มกำลังในการสร้างเกมที่รองรับทุกกลุ่ม ทำมาร์เก็ตติ้งที่ตรงจุด ทำให้คนที่ไม่ใช่เกมเมอร์เข้ามาใน Big System นี้ให้ได้ และที่สำคัญคือในวงการเกม คุณต้องพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพราะถ้าบริการพัง เกมไม่สามารถเล่นได้จะเกิดผลกระทบมหาศาล “จำได้ว่าในช่วงเริ่มต้นผมโดนปลุกตอนตีสองตีสามบ่อยมาก เพื่อมาดูระบบหลังบ้าน แต่ตอนนี้เมื่อทุกอย่างถูกปรับจนเสถียรก็ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องอยู่ในความระวังตลอด” ยิ่งในช่วงโควิด-19 การทำงานก็จะเปลี่ยนไป เราไม่สามารถจัดงานออฟไลน์ได้ เราก็ต้องปรับตัว การจัดการแข่งขันอีสปอร์ตก็ยากกว่าเดิม ส่วนคนเล่นก็เข้ามาเล่นเยอะกว่าเดิม เพราะเหมือนเราเป็นอีกทางเลือกในการฆ่าเวลาทำให้วงการเกมโตแบบก้าวกระโดดเหมือนกัน

ด่านบอส เมื่อคนเล่นเกมต้องทำหน้าที่บริหาร

ปัจจุบัน Garena ประเทศไทย แบ่งเกมออกเป็นสองส่วน เกมออนไลน์ ได้แก่ Ring of Elysium, League of Legends, FIFA Online 4 อีกส่วนคือเกมมือถือ อาทิ ROV, Call of Duty: Mobile Free Fire และ Contra เป็นต้น ถือเป็นบริษัทเกมออนไลน์อันดับหนึ่งของไทย มีเกมที่หลากหลายตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ทีมงานของ Garena ประเทศไทย จึงมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย “งานบริหารคือความท้าทายที่สุดในฐานะคนทำงาน”  Garena ถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมด้านนี้ส่งผลให้การคัดเลือกบุคลากรจึงต้องค้นหาเอง ฝึกเอง และเมื่อฝึกได้แล้วก็จะต้องต่อสู้กับโจทย์ใหญ่ นั่นคือ ทำให้พนักงานอยู่กับองค์กรไปได้นาน “ต้องยอมรับว่าค่าเฉลี่ยอายุของพนักงานใน Garena จะอยู่ในช่วงยี่สิบปลาย ถึงสามสิบต้น ข้อดีคือพลังเยอะ มีแรงขับเคลื่อนค่อนข้างสูง หน้าที่ของเราคือต้องช่วยให้เขาได้ใช้พลังที่มีอยู่ให้เต็มที่ และสนับสนุนให้เขาเติบโตในเส้นทางนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการดึงความสามารถของเขาออกมาให้หมด” “อีกอย่างที่ยากของการทำงานบนโลกออนไลน์คือความเร็ว วันนี้เราอาจจะยังเป็นเบอร์หนึ่ง แต่เข้านอนไปตื่นขึ้นมาอีกทีอาจจะมีเกมใหม่มารุกตลาดและทำให้เรากลายเป็นเบอร์สองได้เลย ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็น Core Value ที่ผมบอกน้องอยู่เสมอว่าเราต้องพยายามให้หนักในทุกวัน” กฤตย์ กล่าวและทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า "แต่ทุกวันนี้ผมก็ยังเล่นเกมอยู่" อ่านเพิ่มเติม: ปราโมทย์ สุดจิตพร พาเกมออนไลน์หรรษาฝ่าโควิดโตทะยาน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine