ดีเอ็นเอของผู้ก่อตั้งธุรกิจที่ต้องการให้คนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็นธรรมและโปร่งใสบนสโลแกน “บริการใกล้ชิด ดุจญาติมิตรที่รู้ใจ” ได้รับการถ่ายทอดยังทายาทคลื่นลูกใหม่ พร้อมแปรเปลี่ยนประสบการณ์ต่อยอดธุรกิจ MTC ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
บนชั้น 10 ของอาคารสูง 14 ชั้นรูปทรงไข่ดีไซน์โดดเด่น ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 70 ย่านบางพลัด ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จไม่นานโดยทีมงาน Forbes Thailand ได้รับโอกาสให้มาเยือนบ้านหลังใหม่ของ MTC จาก ปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ MTC ทายาทรุ่นที่ 2 บุตรของ ชูชาติ และดาวนภา เพชรอำไพ ภรรยาและกรรมการผู้จัดการ ซึ่งพร้อมสานต่อธุรกิจของครอบครัวหลังสั่งสมประสบการณ์ทำงานจากภายนอกองค์กรระยะหนึ่งและเรียนรู้งานในองค์กรย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว “ธุรกิจสินเชื่อไม่ใช่สิ่งใหม่ เป็นเรื่องที่ใครก็รู้ แบงก์ก็ปล่อยใครๆ ก็ปล่อย แต่มุมที่เมืองไทย แคปปิตอล ทำอยู่ ยังไม่มีใครทำเราต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส เราจึงเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ และเชื่อว่ามีอีกหลายธุรกิจธรรมดาๆ ที่หากเราสร้างสิ่งธรรมดาให้มันเหนือธรรมดา ก็จะสามารถพัฒนาขึ้นมาและประสบความสำเร็จได้เช่นกัน” ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เริ่มต้นบทสนทนาได้อย่างน่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นตัวตนที่แตกต่าง แม้ชูชาติจะเริ่มต้นบทสนทนาว่า ธุรกิจสินเชื่อเป็นเพียงธุรกิจธรรมดา แต่หากพิจารณาข้อมูลมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของเมืองไทยลิชซิ่งฯ จะเห็นความไม่ธรรมดาจากตัวเลขจำนวนสูงถึง 1.18 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563) ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ และด้วยพอร์ตสินเชื่อกว่า 6 หมื่นล้านบาททำให้เขาได้รับการขนานนามว่า “เจ้าพ่อปล่อยสินเชื่อ” โดยในปีล่าสุด ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 10 ในลิสต์ 50 มหาเศรษฐีไทยของ Forbes ประจำปี 2563 ร่วมกับดาวนภา คู่ชีวิตที่เป็นกุนซือผู้อยู่เบื้องหลังร่วมกันสร้างความสำเร็จให้เมืองไทย แคปปิตอล สำหรับธุรกิจของเมืองไทยลิชซิ่งฯ เริ่มต้นเมื่อปี 2535 หรือ 27 ปีก่อน โดยชูชาติและดาวนภามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงได้ลาออกจากงานธนาคาร เปิดบริษัท ดี.เอส. ลิสซิ่ง จำกัด ให้บริการธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งใหม่และมือสองทุกยี่ห้อผ่านผู้จัดจำหน่ายในเขตภาคเหนือตอนล่าง เช่น พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เป็นต้น ก่อนขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่องในจังหวัดอื่นๆ หลังจากนั้น ในปี 2544 ชูชาติและดาวนภาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด และหยุดการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น และได้เพิ่มบริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อ โฉนดที่ดิน โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่การเข้าซื้อขายเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อ บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS ในปี 2557 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เมืองไทย เเคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ในปี 2561 ขณะที่การขยายสาขามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าจากจำนวนสาขาเดิมประมาณ 500 สาขา เมื่อวันที่ MTC เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเป็นกว่า 5,000 สาขาครอบคลุมครบทั้ง 800 อำเภอในประเทศไทยทั่วทั้ง 77 จังหวัดในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ MTC ยังเริ่มเข้าไปขยายสาขาในระดับตำบลโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่ได้เข้าไปทำการตลาดมากนัก เช่น ภาคใต้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการให้บริการอย่างมีคุณภาพ ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ 5 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลัก ได้แก่ สินเชื่อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อโฉนด ที่ดิน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การเติบโตของบริษัทจากนี้ยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระดับ 20-25% ต่อปี “เราต้องคนึงถึงความต้องการของลูกค้าก่อน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาให้ตรงกับความต้องการ เช่น ลูกค้าอยากมีโฉนดที่ดินแปลงเล็ก อยากใช้เงิน 10,000-20,000 บาท เราก็สามารถให้สินเชื่อได้ มีอะไรมาเราก็จะพยายามตอบสนองให้รวมทั้งการให้บริการที่รวดเร็ว ซึ่งเราอนุมัติไวภายใน 20 นาที รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและค่าติดตามทวงถามหนี้ก็ต้องสมเหตุสมผล ซึ่งหากบริการดี ลูกค้าก็จะบอกปากต่อปากและมาใช้บริการเอง” ชูชาติ ยกตัวอย่าง พร้อมอธิบายให้เห็นภาพหัวใจสำคัญของความสำเร็จ “อีกบทบาทหนึ่งก็คือ การติดตามทวงถามหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพนักงานให้ความร่วมมือทำงานร่วมกับองค์กรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไร ถ้าเราดูแลเขาดี พนักงานย่อมเต็มใจที่จะทำงานเต็มที่ทั้งการบริการและการติดตามทวงถามหนี้ เป็นหลักตอบแทนง่ายๆ ซึ่งกันและกัน” ด้านปริทัศน์ บุตรชาย ปัจจุบันเข้ามาช่วยดูแลด้านการเงินของเมืองไทย แคปปิตอล โดยควบตำแหน่งดูแลด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งที่นี่จะเรียกว่า Growth Department แสดงความเห็นด้วยกับบิดาและกล่าวเสริมถึงการให้ความสำคัญกับพนักงานจำนวนกว่า 10,000 คนจากสาขาทั้งหมด 5,000 สาขา โดยต้องการให้พนักงานมีความมุ่งมั่นกับภารกิจขององค์กรและสร้างการเติบโตไปพร้อมกับองค์กร “เรื่องที่สำคัญมากคือ เราต้องมั่นใจว่าพนักงานของเรา กินอิ่ม นอนอุ่น เราเชื่อว่า หากพนักงานมีความสุข เขาก็จะบริการลูกค้าอย่างดี เราจึงดูแลพนักงานเหมือนเป็นพาร์ตเนอร์ขององค์กร และบริษัทค่อนข้างมีความโปร่งใสและเป็นธรรม ด้านรายได้และสวัสดิการ เมื่อผลประกอบการดี เราก็ให้ผลตอบแทนแก่พนักงาน ส่วนพนักงานด้วยกันเองก็ดูแลกันอย่างพี่ อย่างน้อง เหล่านี้นำมาซึ่งทีมเวิร์กพร้อมที่จะขยันทุ่มเทให้กับองค์กร” ปริทัศน์ย้ำถึงแนวทางการดูแลพนักงานเพื่อการ เติบโตอย่างยั่งยืน ด้านการดูแลลูกค้าว่า “ถ้าเราเก็บดอกเบี้ยลูกค้าแพงเกินไป ถึงจุดจุดหนึ่งเราก็จะอยู่ไม่ได้เอง เพราะหากลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ก็กลายเป็นหนี้เสีย ส่งผลเสียต่อองค์กร เราเชื่อว่า ความยั่งยืนของธุรกิจ คือ ลูกค้าต้องอยู่ได้สามารถชำระหนี้คืนได้ จุดนี้จะเป็นจุดที่สมดุลที่สุด” “ความสำเร็จของ MTC เรารู้ว่าเราเติบโตมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรและเรามองว่ายังสามารถต่อยอดการเติบโตได้ ในอนาคต คนรุ่นใหม่จะเข้ามาเป็นลูกค้า MTC มากขึ้น เราต้องเตรียมความพร้อม ต้องอิงกับดิจิทัลมากขึ้น จึงอยากเปิดมิติใหม่ ทำอะไรเพิ่มเติม และเริ่มสรรหาคนรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อเตรียมพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ๆ ในอนาคต ขณะที่องค์กรเองก็ต้องทรานส์ฟอร์มด้วยเช่นเดียวกัน” ปริทัศน์กล่าวทิ้งท้ายเรื่อง: จุฑามาศ ศรีสวัสดิ์ ภาพ: กิตตินันท์ สังขนิยม
อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร ForbesLife Thailand ฉบับพิเศษ ฉบับเดือนธันวาคม 2563