"กมลรัตน์ แพเพชรทอง" เดินหน้า "แดรี่ โปรดักส์" สู่พันล้านกิจการจากดินแดนด้ามขวานไทย - Forbes Thailand

"กมลรัตน์ แพเพชรทอง" เดินหน้า "แดรี่ โปรดักส์" สู่พันล้านกิจการจากดินแดนด้ามขวานไทย

"กมลรัตน์ แพเพชรทอง" นักธุรกิจหญิงตัวเล็กๆ จากดินแดนด้ามขวาน มุ่งฝ่าฟันและเอาชนะทุกอุปสรรคด้วยความจริงใจ โดยใช้เวลาเพียง 10 ปี ในการนำบริษัท คชเชอร์ โกลบอล ฟู้ด น้องใหม่ในวงการแดรี่ โปรดักส์ ก้าวสู่รายได้ 1,000 ล้านบาท พร้อมกับแผนพุ่งชนเป้าหมายต่อไปขึ้นอันดับ 1 ใน 5 ของผู้นำตลาด

เส้นทางธุรกิจของ กมลรัตน์ หรือในวงการ มักจะเรียกว่า “แอน คชเชอร์” เริ่มต้นด้วยความยากลำบากอย่างที่สุด นั่นคือการบริหารกิจการครอบครัว ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรในจังหวัดสตูล เมื่อ 11 ปีก่อน ที่ต้องประสบพบเจอทั้งสภาพแวดล้อมที่เรียกได้ว่าเป็นแดนสนธยา แดนอิทธิพล ขณะที่ต้องทำงานคุมลูกน้อง ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชายและอยู่ในเขตชายแดน ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ สิ่งที่ทำให้ผ่านมาได้ คือ ใจล้วนๆ “เราอยากได้ใจใคร ต้องให้ใจกับเขา” นั่นคือสิ่งที่เธอมุ่งมั่นและตั้งปณิธานว่าจะเข้าไปช่วยดำเนินธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จให้ได้ หลังจากเรียนจบออกมาเป็นเภสัชกรเปิดร้านขายยาเพียง 1 ปี แม้จะมีความท้าทายมากแค่ไหนก็ตาม แต่ด้วยใจที่สู้ไม่ถอย จึงสามารถเอาชนะใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานได้ ทำให้ธุรกิจครอบครัวเดินหน้าต่อไป จนปี 2555 เมื่อธุรกิจครอบครัวมั่นคง เธอจึงมีแนวคิดที่อยากสร้างธุรกิจของตัวเอง

กุญแจความสำเร็จ “ทำสินค้าให้พูดได้”

หลังจากเห็นโอกาสในธุรกิจนำเข้า จากการไปช่วยกิจการครอบครัว ปลายปี 2555 กมลรัตน์ จึงตั้งบริษัทของตัวเอง โดยใช้ชื่อบริษัท คชเชอร์ โกลบอล ฟู้ด ซึ่งตั้งตามชื่อลูกชายคนโต ทำธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบในกลุ่มผลิตภัณฑ์นม หรือ แดรี่ โปรดักส์ รวมถึงผงชา โกโก้ จากที่มีพื้นฐานจากการเรียนจบคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงมีความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบเป็นอย่างดี และสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุด คือ คุณภาพ “การทำธุรกิจในช่วงแรก ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร เนื่องจากตลาดแดรี่ โปรดักส์ เป็นตลาดที่ยาก เป็นตลาดปราบเซียน แต่สิ่งที่ทำให้เราเดินหน้าไม่ถอย คือ ใจที่มุ่งมั่น และสรรหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีความจริงใจกับลูกค้าในการนำเสนอสินค้าที่ดีที่สุด ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และผลักดันให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว” กมลรัตน์ ใช้เวลาถึง 3 ปี จึงจะสร้างฐานลูกค้าได้ ซึ่งยังคงเป็นโรงงานขนาดเล็ก แต่ค่อยๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ กลยุทธ์หลัก คือการทำให้ “สินค้าพูดได้” หมายถึงการคัดสรรวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ จนสินค้าสามารถบ่งบอกคุณลักษณะของตัวเองได้ และลูกค้ามีความเชื่อมั่น ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของคชเชอร์ฯ ด้วยพื้นฐานการเป็นเภสัชกรมาก่อน จึงความสำคัญกับวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ผนวกกับความจริงใจในการดำเนินธุรกิจกับลูกค้า จากค่อยๆ เติบโต ช่วงโควิดที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตแบบทวีคูณ หลังจากสร้างฐานธุรกิจได้ ในปี 2559 รายได้ของคชเชอร์ฯ เริ่มเติบโตแบบทวีคูณ และมาเติบโตแบบก้าวกระโดดในปี 2562 ที่รายได้กระโดดไปถึง 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด แต่บริษัทเดินหน้าตามแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง นั่นคือ นมกล่องยูเอชที EAST FIELD ผลิตภัณฑ์นมจืดจากนมโคแท้ 100% และนมแลคโตสฟรี รับกระแสการดูแลสุขภาพ และเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

ทะยานสู่รายได้ 1,000 ล้านบาท

แม้จะเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดเข้มข้น แต่เมื่อวางแผนธุรกิจแล้วต้องเดินหน้าต่อ ผลิตภัณฑ์นมยูเอชที EAST FIELD จึงออกสู่ตลาดในปี 2564 และถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี จากยอดขายในปีแรก 50 ล้านบาท จากการเป็นสินค้าที่เข้าไปตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ “เราไม่ได้มองว่าโควิดเป็นปัญหา ปัญหามีอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าจะหาวิธีจัดการปัญหานั้นอย่างไร สิ่งสำคัญ คือเราทำให้สินค้าพูดได้ บ่งบอกถึงคุณภาพของสินค้า ซึ่งตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ รวมถึงในแง่ของแคมเปญสื่อสารการตลาด สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เรียลที่สุด ทำให้คนรุ่นใหม่จับต้องได้” กมลรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดแดรี่ โปรดักส์ มีมูลค่านับแสนล้านบาท และยังคงเติบโตต่อเนื่อง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริโภคในชีวิตประจำวัน ที่ผ่านมา คู่แข่งไม่มากนัก เพราะถือเป็นตลาดที่ยาก สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างคชเชอร์ฯ เราก็ต้องเข้าไปแข่งขันในตลาดที่ยาก เพราะถ้าง่ายคนอื่นก็ทำไปหมดแล้ว อย่างตลาดนมจืด ถือเป็นตลาดปราบเซียนเช่นเดียวกัน แต่บริษัทพยายามทำสิ่งที่ยากให้ง่าย โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุด จากสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นในประเทศเพื่อให้สินค้าขายตัวมันเอง เน้นทำการตลาดสินค้าพูดได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ “สำหรับเป้าหมาย เราต้องการเป็น 1 ใน 5 ของผู้นำตลาดนมยูเอชที ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยมุ่งทำตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ขยายช่องทางทางจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด และร้านค้าทั่วไป เพื่อสร้างแบรนด์ EAST FIELD ให้แข็งแกร่งกับตลาดในประเทศ และมีแผนส่งออกไปต่างประเทศด้วย” ปัจจุบัน สัดส่วนยอดขายของคชเชอร์ โกลบอล ฟู้ด มาจากกลุ่มวัตถุดิบผลิตภัณฑ์แดรี่ โปรดักส์ เช่น นมผง นมผงขาดมันเนย เวย์โปรตีน ผงชาเขียว และโกโก้ เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนมยูเอชที นมอัดเม็ด และสินค้าตามกระแส ที่นำเข้าจากเกาหลี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย โดยมีสินค้ามากกว่า 40 รายการ และมีแผนเพิ่มเป็น 100 รายการ “เราตั้งเป้าหมายรายได้ในปีนี้ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อนที่มีรายได้ 500 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 2-3 ปีจากนี้ รายได้จะแตะ 2,000 ล้านบาท ที่มั่นใจเพราะตลาดนี้ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ ถ้ารักษามาตรฐานได้ มีแต่โตกับโต” กมลรัตน์กล่าวอย่างมั่นใจ

สร้างองค์กรให้เติบโตตาม

นอกจากเป้าหมายในทางธุรกิจ สิ่งสำคัญ คือการสร้างองค์กรให้เติบโต ซึ่งกมลรัตน์ ให้ความสำคัญกับทีมงาน บริหารเหมือนคนครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข องค์กรจะพัฒนาเพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันทีมงานส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ จากวันแรกมีทีมงานอยู่ 3 คน วันนี้มีพนักงานมากกว่า 60 คน ที่พร้อมจะสร้างการเติบโตของบริษัทไปด้วยกัน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือการเป็นผู้นำ 1 ใน 5 ของตลาดแดรี่ โปรดักส์ในประเทศไทย ด้านชีวิตส่วนตัว กมลรัตน์ เป็นคุณแม่ลูกสี่ที่ยังคงให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับแรก เพราะอยากเห็นเขาเติบโตในทุกช่วงของชีวิต ซึ่งการทำงานหนักในวันนี้ก็เพื่อสร้างกิจการของครอบครัวให้เติบโต “เราทำงานด้วยใจเป็นสุข เห็นรอยยิ้มของลูกก็ชื่นใจ เช่นเดียวกับพนักงาน เราส่งเสริมให้เขาทำงานด้วยความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเสียงหัวเราะ สิ่งอื่นๆ ก็จะตามมา เราเชื่อในศักยภาพของทุกคนที่จะพัฒนาตัวเองและพัฒนาองค์กรไปพร้อมๆ กัน” กมลรัตน์กล่าวทิ้งท้าย ด้วยสายตาที่มุ่งมั่นกับเป้าหมายที่จะก้าวไปให้ถึงในเร็ววัน อ่านเพิ่มเติม: ติดสปีด & รู้จริงโลกการลงทุน หนทางความมั่งคั่งตามสไตล์ “พสุ ลิปตพัลลภ”

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine