“เลิร์น คอร์ปอเรชั่น” จากโรงเรียนกวดวิชา สู่ Edtech พันล้าน - Forbes Thailand

“เลิร์น คอร์ปอเรชั่น” จากโรงเรียนกวดวิชา สู่ Edtech พันล้าน

16 ปี แห่งธุรกิจการศึกษาที่เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจของสองผู้ก่อตั้ง สาธร อุพันวัน และ สุธี อัสววิมล ในการนำคุณภาพการศึกษาสู่ผู้ที่ต้องการเรียนรู้เพื่อยกระดับชีวิตให้ดียิ่งขึ้น สาธร พร้อมเดินหน้าพา เลิร์น คอร์ปอเรชั่น เข้าสู่ตลาดทุนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรและดึงดูดบุคลากรคนทำงานให้เข้ามาร่วมงานมากยิ่งขึ้น


“ผมไม่ได้อยากทำโรงเรียนกวดวิชา แต่โรงเรียนกวดวิชาเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ แบบ Lifelong Learning และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเลิร์น คอร์ปอเรชั่นเมื่อ 16 ปีก่อน” สาธร อุพันวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นบริษัท ก่อนที่จะก้าวสู่การเป็นบริษัทมหาชนที่มีรายได้หลักพันล้านบาท

    ธุรกิจของกลุ่มเลิร์น คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินงานมาแล้ว 16 ปี มีจุดเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจของสาทรและผู้ร่วมก่อตั้ง คือ สุธี อัสววิมล กรรมการบริหารบริษัท หรือที่รู้จักกันในนาม พี่โหน่ง OnDemand ที่มีเป้าหมายและความเชื่อเดียวกันว่า “การเรียนรู้ช่วยทำให้ชีวิตคนดีขึ้น” จึงได้ก่อตั้ง เลิร์น คอร์ปอเรชั่นขึ้น โดยมีพันธกิจหลักคือการสร้าง EdTech หรือเทคโนโลยีการเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคน


สร้าง Lifelong Learning Ecosystem


    สาธร กล่าวว่า เริ่มดำเนินธุรกิจด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 200,000 บาท ในการทำโรงเรียนกวดวิชา OnDemand ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วมาก เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาต่างๆ จากผู้เรียนหลักหมื่นคนต่อปี เพิ่มเป็นหลักแสนคนต่อปี ปัจจุบัน โรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ มีประมาณ 40 สาขาทั่วประเทศ มีรายได้ประมาณ 700 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทในอีก 2 ปีข้างหน้า


    ปัจจุบัน เลิร์น คอร์ปอเรชั่น ขยายธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม เป็น Lifelong Learning Ecosystem ครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ 1. Out-School หรือธุรกิจสอนพิเศษและแนะแนวการศึกษา คือกลุ่มพัฒนาทักษะการเรียนรู้วิชาการนอกเหนือจากในห้องเรียนตั้งแต่วัยประถมถึงมัธยม ผลักดันให้วัยเรียนก้าวสู่เป้าหมายและมหาวิทยาลัยในฝัน ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านการเรียนต่อในต่างประเทศกับวัยเรียนและวัยทำงาน

    โดยมีแพลตฟอร์ม Learn Anywhere แอปพลิเคชันเรียนออนไลน์ที่รวบรวมคอนเทนต์จากกลุ่ม Out-School ไว้ในแอปพลิเคชันเดียว ธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ OnDemand และ Ignite by OnDemand ถือเป็นกวดวิชาภาคไทยและภาคอินเตอร์ระดับแนวหน้าของประเทศ

    2. Chain School หรือธุรกิจบริหารโรงเรียนเอกชน คือธุรกิจบริหารและดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยปัจจุบันมีโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม หรือ LSP (LEARN Satit Pattana) อยู่ภายใต้การบริหารงาน โดยใช้เทคโนโลยีและคอร์สเรียนจาก เลิร์น คอร์ปอเรชั่น ควบคู่กับแผนการเรียนตามเป้าหมายรายบุคคลที่ตรงประเด็นเพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมสู่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย และทักษะภาษาอังกฤษมาตรฐาน Cambridge International ทำให้โรงเรียนฯ สามารถเพิ่มจำนวนนักเรียน จากเริ่มต้น 100 คน เป็น 900 คน ในระยะเวลา 3 ปี

    3. Professional & Skills หรือกลุ่มพัฒนาทักษะการทำงานแห่งโลกอนาคตและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ คือธุรกิจที่มุ่งพัฒนาทักษะใหม่แห่งอนาคตให้กับวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะตัวเองให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานโลก โดยธุรกิจกลุ่มนี้ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศกว่า 500 แห่ง ธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ Skooldio และ Degree Plus เป็นต้น
    4. In-School หรือธุรกิจผลิตสื่อและเนื้อหาสนับสนุนการสอนในโรงเรียน คือกลุ่มพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน โดยมี Learn Education ดำเนินงานภายใต้การดูแลของบริษัทฯ ด้วยเทคโนโลยี Online Blended Learning Solution หรือการเรียนการสอนออนไลน์แบบผสมผสานที่สามารถให้ผู้เรียนและผู้สอนบูรณาการการเรียนร่วมกัน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแล้วกว่า 500 โรงเรียนทั่วประเทศ


เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์


สาธร กล่าวว่า ธุรกิจการศึกษามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้เด็กจะเกิดน้อยลง แต่ครอบครัวให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้น ดังนั้นงบประมาณที่ใช้ในการสำหรับเด็ก 1 คน จึงเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ช่วงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายองค์กรหันมาพัฒนาทักษะการศึกษาของคนวัยทำงาน หรือการ Upskill Reskill ทำให้ตลาดนี้เติบโต 4-5 เท่าตัว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เลิร์น คอร์ปอเรชั่น เติบโตมากกว่า 40% ในช่วงที่ผ่านมา

    สำหรับปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวม 1,500 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนประมาณร้อยละ 20 และเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566

    “เป้าหมายของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเราต้องการดึงคนเก่งๆ เข้ามาทำงานด้วย โดยเฉพาะทาเลนต์ด้าน Edtech ทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะทำให้สามารถขยายธุรกิจ Chain School หรือโรงเรียนสาธิตพัฒนาได้เร็วขึ้น”

    สาธร กล่าวว่า ธุรกิจเลิร์น คอร์ปอเรชั่น คนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 900 คน เป็นทีมพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา 100 คน และเป็นทีมพนักงานหลักสูตรการศึกษาอีก 200 คน ซึ่งกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจมี 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ คน โดยเน้นการคัดเลือกและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากร พร้อมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ เพื่อประสิทธิภาพด้านทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาผลิตภัณฑ์

    ด้านต่อมา คือการเรียนรู้ ที่เลิร์น คอร์ปอเรชั่น มีทีม Learning Design Technology หรือทีมออกแบบเทคโนโลยีการเรียนรู้ ทำหน้าที่วัดความสำเร็จผู้เรียนและปรับการเรียนรู้เฉพาะบุคคลได้อย่างตรงจุด ตลอดจนสร้างแรงจูงใจเพื่อผลักดันการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ

    ด้านสุดท้าย คือ เทคโนโลยี ที่ศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของผู้เรียนอย่างละเอียด ก่อนออกแบบและพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพราะเชื่อว่าแพลตฟอร์มที่ดีควรมอบประสบการณ์พร้อมการเรียนรู้ที่ดีและสามารถวัดผลในเชิงคุณภาพได้ด้วย

    “การพัฒนาทั้ง 3 ด้านนี้ เพราะเรามีเป้าหมายต้องการสร้าง Social Impact หรือการสร้างผลลัพท์เพื่อสังคม เพื่อเปลียนแปลงการเรียนรู้และพัฒนาสังคมในวงกว้างด้วยทรัพยากรทั้งหมดที่เรามี ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจของเลิร์น คอร์ปอเรชั่นเข้าถึงผู้ใช้งานกว่า 2.5 ล้านคน ครอบคลุม 77 จังหวัด 500 โรงเรียน และ 500 องค์กรทั่วประเทศ”

    สาธร กล่าวว่า เพราะโจทย์ใหญ่ของเลิร์น คอร์ปอเรชั่น คือการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่การเรียนในระบบเท่านั้น ดังนั้นจุดไหนที่มีปัญหา จะนำเทคโนโลยีเข้าไปเติม ไปช่วยแก้ไขปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาทั้งระบบ ขยายโอกาสทางการศึกษาให้เข้าถึงได้มากที่สุด สุดท้ายจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นได้


อ่านเพิ่มเติม: 5 ปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มปตท. เร่งลงทุน


​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON