“ไทยประกันชีวิต” ทรานส์ฟอร์มเข้าตลาดหุ้นไทย Step Up สู่โลกใบใหญ่กว่าเดิม - Forbes Thailand

“ไทยประกันชีวิต” ทรานส์ฟอร์มเข้าตลาดหุ้นไทย Step Up สู่โลกใบใหญ่กว่าเดิม

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Jul 2022 | 08:00 PM
READ 2077

ก้าวสำคัญของบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของคนไทยที่ตัดสินใจนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมขึ้นแท่น IPO น้องใหม่บิ๊กไซซ์แห่งปีที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ด้วยอายุธุรกิจที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนานเข้าสู่ปีที่ 80 และสามารถยืนหยัดติดอันดับบริษัทอันดับต้นๆ ของวงการประกันชีวิตในวันนี้

การระดมทุนของบริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่ของไทยเป็นเพียงหนึ่งในแผนการติดปีกบินให้ธุรกิจประกันชีวิตเข้าสู่โลกใหม่ โลกดิจิทัลที่ใหญ่กว่าเดิม ซึ่งถือเป็นช่วงจังหวะเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้การนำทัพของ ไชย ไชยวรรณ ทายาทรุ่นที่ 2 กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจนำไทยประกันชีวิตแต่งตัวเข้าตลาดหุ้น โดยปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการยื่นไฟลิ่งหรือแบบเสนอข้อมูลการขอจดทะเบียนของบริษัทฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 2,384,318,900 หุ้น หรือไม่เกิน 20.6% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด แบ่งเป็นส่วนของหุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 1,000,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 8.6% และหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนไม่เกิน 1,384,318,900 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 11.9% นอกจากนั้นหากมีผู้จองซื้อจำนวนมากกว่าหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมด อาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (ทำ Greenshoe Option) ให้แก่ผู้ลงทุนจำนวนไม่เกิน 322,547,900 หุ้น หรือไม่เกิน 13.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินคือ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
ไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
“การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทุกองค์กรต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงใน VUCA World (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) ไทยประกันชีวิตเองก็ต้องปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน” ไชยกล่าวถึงการนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเงินทุน เอื้อประโยชน์ต่อการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต และเสริมศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านองค์กร พร้อมรองรับวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน ขณะที่วางแผนการดำเนินงานเปลี่ยนผ่านองค์กร 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตอันมั่นคง (Transforming Tomorrow) ซึ่งบริษัทฯ ได้ปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจทุกด้าน และกำหนด Business Purpose เป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล หรือ Life Solutions Provide ส่วนช่วงที่สอง คือ การก้าวสู่อนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืน (Sustainable Tomorrow) เพื่อพร้อมรับมือกับ Business Landscape ของธุรกิจประกันชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างความเข้มแข็งของเงินกองทุน และมองหาโอกาสในการขยายตลาดในอนาคต นอกจากนั้นไทยประกันชีวิตยังดำเนินธุรกิจผ่านกลยุทธ์หลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนองค์กรสู่ Data Driven Company ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรที่ดำเนินงานด้วยเทคโนโลยีใหม่ การสร้างนวัตกรรมใหม่จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์ด้วย Big Data ของฐานลูกค้ากว่า 4.5 ล้านกรมธรรม์ นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะตอบสนองความต้องการของผู้เอาประกันแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) ในทุกช่วงของชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกการใช้ชีวิต (Lifestyle) ด้านช่องทางขายจะเห็นสิ่งใหม่ๆ ในปีนี้และปีหน้า คือ การรุกเข้าสู่ช่องทางขายผ่าน E-Commerce นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนความคุ้มครองให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เอาประกันแต่ละราย นอกเหนือจากช่องทางขายผ่านตัวแทนที่แข็งแกร่งกว่า 63,000 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 25% ของจำนวนตัวแทนในประเทศไทย การขายผ่าน Telesales การขายผ่านธนาคารหรือ Bancassurance 4 แห่ง ที่มีสาขาให้บริการรวมถึง 740 แห่งทั่วประเทศ และยังมีพันธมิตรต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น ลีสซิงและเช่าซื้อ บริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค เพราะฉะนั้นบริษัทฯ มีความยืดหยุ่นมากด้านช่องทางขาย และยังเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายด้วย ส่วนด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งภายในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทฯ มีกลยุทธ์ในการรักษาความเป็นผู้นำตลาดด้วยการพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม และมองหาโอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งในปัจจุบันไทยประกันชีวิตได้ถือหุ้นลงทุนใน CB Life Insurance ของเมียนมา  

- ยกระดับประกันมหาชน -

แม้ที่ผ่านมาภาพไทยประกันชีวิตจะถือหุ้นใหญ่โดยตระกูล “ไชยวรรณ” แต่ไชยยืนยันว่าการดำเนินธุรกิจไม่ได้เป็นธุรกิจครอบครัว ภายใต้ทีมผู้บริหารมืออาชีพที่แข็งแกร่งทั้งไทยและต่างประเทศร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรด้วยความสามารถและประสบการณ์ในธุรกิจประกันชีวิตที่เข้ามาบริหารงานอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงวันนี้ได้สร้างทีมผู้บริหารที่เป็น Global Citizen เพื่อให้พร้อมต่อการขยายธุรกิจในอนาคต ดังนั้นการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงยิ่งเป็นแรงส่งให้ไทยประกันชีวิตต้องดำเนินธุรกิจบนหลักธรรมาภิบาล (Corporate Governance) อย่างเคร่งครัด และสามารถยกระดับความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพราะมีหน่วยงานกำกับดูแล 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำหรับฐานะการเงินของไทยประกันชีวิต ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio หรือ CAR) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 355.22 สูงกว่าเกณฑ์กำหนดของ คปภ. โดยผลดำเนินงานของไทยประกันชีวิตในปี 2564 บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 1.03 หมื่นล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 7.27 หมื่นล้านบาท อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ (ต่ออายุ) ร้อยละ 88.6 เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว 7.43 พันล้านบาท และเบี้ยประกันภัยรับรวม 9.05 หมื่นล้านบาท ด้านผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2554-2563 อยู่ที่ 4.3% ต่อปี ด้วยกลยุทธ์การจัดการที่สามารถบรรลุผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว ส่วนในปีที่แล้วบริษัทฯ สามารถรักษาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจได้แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากมีการเตรียมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญบริษัทฯ ไม่ได้มีการรับประกันภัย COVID-19 เจอ จ่าย จบ จึงทำให้ไม่มีภาระจ่ายค่าสินไหมสูง ประกอบกับประชาชนหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล จึงทำให้อัตราส่วนการสูญเสีย (Loss Ratio) ที่เกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาล “ลดลง” จากร้อยละ 5.8 ในปี2562 เป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2564 นอกจากนั้นไทยประกันชีวิตยังมีพอร์ตเบี้ยประกันภัยรับใหม่สูงสุดในปี 2564 คือ ประกันสะสมทรัพย์ สัดส่วนร้อยละ 55.1 ของเบี้ยปีแรก ขณะที่ประกันสุขภาพ ประกันชีวิตประเภทตลอดชีพ และประกันชีวิตประเภทควบการลงทุนมีสัดส่วนร้อยละ 13.6 ร้อยละ 12.3 และร้อยละ 7.3 ตามลำดับ โดยพบว่าประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน และประกันสุขภาพมีการเติบโตเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มมองหาทางเลือกในการออมเงิน การลงทุนในรูปแบบอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการมองหาหลักประกันด้านสุขภาพและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ขณะที่ในปี 2565 ไทยประกันชีวิตกำหนดเป้าหมายเบี้ยรับจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิต เน้นขายประกันชีวิตควบการลงทุน ประกันออมทรัพย์ที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล และสัญญาเพิ่มเติมประเภทต่างๆ สำหรับภาพรวมตลาดประกันชีวิตปีนี้ ไชยมองว่ายังสามารถเติบโตเป็นบวกได้ และมองไปในข้างหน้าก็ยังเห็นการกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมประกันชีวิต ด้วยปัจจัยบวกทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีแต่แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลมีแต่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการประกันสุขภาพสูงขึ้น เพื่อหวังช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลในอนาคต นอกจากนี้คนไทยยังมีการทำประกันชีวิตในอัตราต่ำมากที่ 3.8% เท่านั้น ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น 7.2% สิงคโปร์ 10.2% สะท้อนว่าตลาดการเติบโตของประกันชีวิตในไทยยังมีมากในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีสัดส่วนคนทำประกันชีวิตอัตราต่ำกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และยิ่งหลังเกิด COVID-19 ที่มีแนวโน้มคงอยู่ในอนาคต ทำให้คนไทยเห็นความจำเป็นของการทำประกันชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าเพื่อออมเงิน ผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ (Silver Age) หรือประกันสุขภาพ ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและสอดรับกับสถานการณ์ โดยแบบประกันที่ได้รับความนิยมสูง เช่น ประกันชีวิตควบการลงทุน (Investment Linked) ประกันสุขภาพคุ้มครองโรคร้ายแรง และประกันชีวิตแบบบำนาญ ด้านความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตก็มีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกำลังซื้อที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวต่ำส่งผลต่อรายได้จากการลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต การปรับเปลี่ยนกฎหมายที่กระทบกับธุรกิจประกันภัย ทั้งมาตรฐานบัญชี IFRS 17 ที่จะใช้ในปี 2567 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะบังคับใช้กลางปี 2565 ซึ่งธุรกิจประกันภัยมีความเกี่ยวโยงกับข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างมาก โดยในอนาคตการพิจารณารับประกันภัย การวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกค้า และการเสนอผลิตภัณฑ์จะเป็น Data Governance มากขึ้น “เราจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์และผลกระทบต่อธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับ Business Purpose คือการเป็น Life Solutions Provider และ Brand Purpose คือการเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางใจ (Trusted) ได้รับการชื่นชม (Admired) และเป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจ (Inspire)” ไชยกล่าวทิ้งท้าย   เรื่อง: วิไล อักขระสมชีพ  ภาพ: บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับพิเศษ WEALTH MANAGEMENT & INVESTING 2022 และบทความทางด้านธุรกิจฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine