Janus Henderson Global Life Sciences Fund กองทุนรวมตราสารทุนวิเคราะห์ความโดดเด่นและความเสี่ยงของ ธุรกิจยา และ เวชภัณฑ์ ในอนาคต ชี้ “สังคมผู้สูงอายุ” และ 4 โรคหลักของมนุษย์ทำให้ธุรกิจสุขภาพน่าสนใจ ขณะที่การลงทุนระยะสั้นอาจเผชิญความผันผวนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2020
Jennifer Nicholas ผู้จัดการกองทุน
Janus Henderson Global Life Sciences Fund เปิดมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจสุขภาพซึ่งเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าลงทุน ทั้งนี้ กองทุน Janus Henderson Global Life Sciences จะลงทุนในสหรัฐฯ 60-80% ดังนั้นจะเป็นการวิเคราะห์ธุรกิจนี้ในสหรัฐฯ เป็นหลัก
เธออธิบายพื้นฐาน ธุรกิจยา ว่ามีกำแพงการเข้าตลาดที่สูงมาก เนื่องจาก 90% ของการผลิตยานั้นมักจะไม่สำเร็จไปจนถึงปลายทางขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือผ่านการรับรองจาก FDA และยา 10% ที่ได้รับการรับรองก็ยังมีโอกาสถึง 90% ที่จะไม่ติดตลาดอีกเช่นกัน
ด้วยธรรมชาติตลาดเช่นนี้ทำให้ธุรกิจสุขภาพเป็นตลาดที่มีความแตกต่างสูงที่สุดระหว่างหุ้นกลุ่ม Top 5 และกลุ่ม Bottom 5 โดยมีค่าเฉลี่ยความแตกต่างของราคาหุ้นสองกลุ่มนี้ที่ 275% ในช่วงปี 2008-2018 และในขณะที่ราคาหุ้นเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจสุขภาพทั้งหมดขึ้นลงตั้งแต่ -25% ถึง +50% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Top 5 นั้นทำราคาสูงขึ้นต่อปีตั้งแต่ +75% ถึงมากกว่า +300%
ดังนั้น การวิเคราะห์หุ้นในธุรกิจสุขภาพจึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจพื้นฐานของยา สามารถวิเคราะห์ได้ว่ายาตัวใดที่มีโอกาสได้รับการรับรองและมีโอกาสในเชิงพาณิชย์ด้วย ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทเจ้าของยาเป็นไปในทางบวก โดย Janus Henderson มีทีมงานเพื่อประเมินความเสี่ยงเหล่านี้โดยใช้หลัก 3P ในการประเมิน คือการศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของยาผ่าน Physicians-แพทย์ Patients-คนไข้ และ Payers-ผู้จ่ายค่ารักษานั่นคือบริษัทประกันสุขภาพ
4 โรคหลักและสังคมสูงวัย
ด้านโอกาสของธุรกิจนี้ย่อมมาพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุ
ประชากรในวัยมากกว่า 65 ปีจะต้องการยาและเวชภัณฑ์มากขึ้น 3 เท่าของประชากรในวัยต่ำกว่า 65 ปี โดยในสหรัฐฯ เจนเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์กำลังเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณเพิ่มขึ้นซึ่งจะเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป
Nicholas กล่าวต่อว่า กองทุนฯ ของเธอจึงมองหากิจการที่กำลังสร้างนวัตกรรมการรักษาที่เหมาะสมกับตลาดผู้สูงอายุในระดับโลก ซึ่งมี 4 โรคหลักที่ประชากรโลกใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลสูง คือ
1.โรคมะเร็ง มีการใช้จ่ายรวมทั้งโลก 1.16 ล้านล้านเหรียญต่อปี - ประชากร 38% จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง และคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านคนภายใน 2 ทศวรรษ
2.โรคหัวใจและหลอดเลือด มีการใช้จ่ายรวมทั้งโลก 8.63 แสนล้านเหรียญต่อปี – โดยมีประชากรที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจปีละ 17.9 ล้านคน เฉพาะในสหรัฐฯ มีประชากร 47% ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
3.โรคเบาหวาน มีการใช้จ่ายรวมทั้งโลก 8.25 แสนล้านเหรียญต่อปี - เมื่อปี 2014 ประชากรโลกถึง 422 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน เฉพาะในสหรัฐฯ มีประชากร 9.3% ที่เป็นโรคเบาหวานและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดกันว่าหากการเติบโตไม่ชะลอลง 1 ใน 3 ของคนอเมริกันจะเป็นโรคเบาหวานภายในปี 2050
4.โรคทางพันธุกรรม – โรคที่เกิดจากพันธุกรรมมีมากกว่า 7,000 โรค แต่มีน้อยกว่า 5% ที่มีหนทางรักษาแล้ว นวัตกรรมเพื่อทำความเข้าใจพันธุกรรมจึงสำคัญต่อการพัฒนายาหรือการักษาอย่างมาก โรคเหล่านี้ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ
ความผันผวนระยะสั้นจากการเลือกตั้ง 2020
แม้ว่าในระยะยาวแล้ว ธุรกิจยา มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่มีความผันผวนระยะสั้นเนื่องจากปี 2020 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในสหรัฐฯ ซึ่งแคนดิเดตทุกรายมีนโยบายสาธารณสุข โดยเฉพาะข้อเสนอหนึ่งจาก
Bernie Sanders สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต คือ
“Medicare For All” อาจสะเทือนวงการยาสหรัฐฯ ได้
ข้อเสนอนี้ต้องการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ โดยให้รัฐบาลเป็นผู้บริหารระบบการรักษาพยาบาลทั้งหมดในลักษณะสวัสดิการสังคม จากปัจจุบันที่อยู่ในมือบริษัทประกันสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม Janus Henderson มองว่า
โอกาสที่ Medicare For All จะเกิดขึ้นจริงนั้นเป็นไปได้น้อย เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นกับการสาธารณสุขอีก 3-4 เท่า อีกทั้งประชาชน 155 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วจะเสียประโยชน์ รวมไปถึงโรงพยาบาลบางแห่งที่ได้กำไรต่ำจะประสบความยากลำบากในการแข่งขันเมื่อบริษัทประกันสุขภาพที่เคยให้เงินสนับสนุน (subsidize) ถอนตัวออกไปจากนโยบายนี้
โดยรวมแล้ว Janus Henderson จึงประเมินว่า 3 ใน 4 ของชาวอเมริกันจะต้องการให้สภาครองเกรสลดค่าใช้จ่ายในระบบประกันสุขภาพมากกว่าสร้างระบบใหม่โดยรัฐบาลขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนในธุรกิจยาต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดการเลือกตั้งสหรัฐฯ และแนวนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อไป