ทัพไทยเบฟผนึกกำลังโชว์ศักยภาพความแข็งแกร่ง สุรา – เบียร์ – เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ – อาหาร และความพร้อมด้านบุคลากรตอกย้ำการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยความมั่นใจในเป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรระดับโลกตามวิสัยทัศน์ 2020
ระยะเวลา 2 ปีที่เหลือของเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ไทยกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายในการก้าวข้ามวิสัยทัศน์ 2020 ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายให้ทุกกลุ่มธุรกิจต้องพยายามเร่งเครื่องสร้างการเติบโต ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นำโดย
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมผู้บริหารประกาศความสำเร็จในสายธุรกิจเครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ อาหาร และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
“ปีที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีของความภาคภูมิใจ ที่ไทยเบฟได้รวมธุรกิจเบียร์อันดับหนึ่งของประเทศเวียดนาม และสุราอันดับหนึ่งของประเทศเมียนมาเข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัทของเราทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดภูมิภาคหนึ่งของโลก เข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัทของเรา ผลงานในปีที่ผ่านมาเป็นการตอกย้ำความสำเร็จอันเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ 2020” ฐาปนกล่าวถึงดีลใหญ่ในกลุ่มธุรกิจแอลกอฮออล์
สำหรับดีลประวัติศาสตร์ของช้างไทยที่เขย่าวงการเบียร์และสุราต่างประเทศเริ่มต้นขึ้นหลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยสามารถปิดดีลซื้อหุ้น 53.56% ของ
ไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอลล์ คอปอเรชั่น (ซาเบโก) ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยเงิน 1.56 แสนล้านบาท ส่งผลให้ไทยเบฟก้าวสู่ผู้นำเบียร์ในภูมิภาค โดยมีปริมาณเบียร์รวม 6.4 พันล้านลิตรหรือครองสัดส่วน 17% จากทั้งหมด 9 พันล้านลิตรในปี 2560 และเมื่อนำส่วนแบ่งการตลาดมารวมกับเบียร์ช้างจะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดรวมที่ 26%
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเดินหน้าตามแผนธุรกิจเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ Tapper เบียร์แอลกอฮอลล์สูงที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเตรียมเปิดตัว Federbräu Weissbier พรีเมียมสไตล์เยอรมัน ซึ่งในปีหน้าฐาปนจะเข้ามานั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดธุรกิจเบียร์ด้วยตัวเองและโฆษิต สุขสิงห์ นั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย
นอกจากนั้น ไทยเบฟยังสร้างปรากฏการณ์ในกลุ่มธุรกิจสุรา ด้วยการซื้อหุ้น 75% ของ
Grand Royal Group ผู้ผลิตและจำหน่ายสุรา Grand Royal Whisky ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในเมียนมา โดยใช้เงินซื้อกิจการ 2.5 หมื่นล้านบาท และยังเข้าร่วมลงทุน 51% ในกลุ่ม
Asiaeuro International Beverage ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มต่างๆ โดยเฉพาะสุราพรีเมียมจากสก็อตแลนด์ และฝรั่งเศส
ขณะที่บริษัทยังพัฒนาสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดสุราพร้อมดื่มสำหรับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ เช่น สตาร์ คูลเลอร์ และคูลอฟ แมกซ์ เซเว่น รวมถึงการส่งออกสุรารวงข้าวซิลเวอร์ ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ไปยังประเทศเวียดนาม และเกาหลีใต้ นับเป็นการยกระดับสินค้าตรารวงข้าว โดยเป็นสุราแบรนด์แรกของไทยที่รุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
ด้านธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (F&N) มุ่งเน้นการดำเนินงาน 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนตลาดด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำและสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ในเครือ โดยมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงการขยายช่องทางการดำเนินธุรกิจและผลักดันสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยเบฟเวอเรจในภาพรวม
ส่วนธุรกิจอาหารที่บริษัทได้ปิดดีลซื้อกิจการร้านเคเอฟซีในประเทศไทย 252 สาขา จำนวนเงิน 1.14 หมื่นล้านบาทในนามบริษัท The QSR of Asia และการร่วมลงทุน 76% ในกลุ่มร้านอาหารไทยของ บริษัท สไปซี่ ออฟ เอเชีย จำนวนเงิน 115 ล้านบาท ประกอบธุรกิจร้านอาหารไทย 4 แบรนด์ ประกอบด้วย คาเฟชิลลี่, ชิลลี่ ไทย เรสเตอรองท์, อีท พอท, พอท มินิสทรี และดีลซื้อกิจการร้านเคเอฟซีในประเทศไทย 252 สาขา จำนวนเงิน 1.14 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งรักษาตำแหน่งผู้นำด้านธุรกิจอาหารญี่ปุ่นของกลุ่มโออิชิไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง และเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนาระบบและการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนของบริษัทในภาพรวมสามารถเดินหน้าได้ตามแผนงานที่วางไว้ โดยบริษัทสามารถเปิดศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาคตามตำแหน่งยุทธศาสตร์ และการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความชำนาญทางบริหารจัดการทางด้าน cold chain ในระดับโลกดำเนินการพัฒนาโครงข่ายการกระจายสินค้าทางด้าน cold chain เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอาหารของบริษัท
นอกจากนี้ ไทยเบฟยังสามารถนำเทคโนโลยีที่บริษัทได้ดำเนินการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมามาขยายผลและต่อยอดให้กับพันธมิตรและคู่ค้าของบริษัทเพื่อประโยชน์ที่สูงสุด โดยมีโครงการ digital transformation เป็นแกนกลางในการผลักดันศักยภาพของพนักงานและคู่ค้าให้เข้าถึงและสามารถที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำในการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างครบวงจร ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
ภายใต้วิสัยทัศน์ 2020 การขับเคลื่อนองค์กรสู่กลุ่มบริษัทชั้นนำของอาเซียนตามนิยาม
“โอกาสที่ไร้ขีดจำกัด” หรือ
Limitless Opportunities ทั้งการเติบโตในสายอาชีพ การสร้างความสัมพันธ์ และการสร้างประโยชน์เพื่อสังคม พร้อมเพิ่มจำนวนพนักงานจาก43,000 คนเป็น 59,000 คนสอดคล้องกับการขยายกิจการทั้งในไทย เวียดนาม และเมียนมาในช่วงปีที่ผ่านมา
กลุ่มไทยเบฟยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับรางวัลการันตีความสามารถและความสำเร็จในเวทีนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น Asia Best Employer Brand Awards 2018 ที่สิงค์โปร์ 3 รางวัล คือ Best Employer Brand Dream Employer of the Year และ Award for Talent Management ซึ่งสอดคล้องกับการได้ 100 คะแนนเต็มด้าน Human Capital Development ในการประเมิน DJSI Sustainability Index 2018
“ปีนี้ ไทยเบฟ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี DJSI World ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets หรือกลุ่มตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 3 และยังตอกย้ำความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ด้วยการถูกคัดเลือกขึ้นมาเป็นที่ 1 ของโลก ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของไทยเบฟ และสะท้อนให้เห็นว่าไทยเบฟ มุ่งมั่นเพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กรที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำทางด้านเครื่องดื่มครบวงจรของอาเซียน พร้อมจะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่ใส่ใจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก”
5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ 2020
1.
Growth เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายการเป็นบริษัทเครื่องดื่มขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มั่นคง ยั่งยืน และสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น
2.
Diversify ผลิตภัณฑ์และตลาดมีความหลากหลาย ด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์และรายได้จากการขายสินค้าในต่างประเทศ
3.
Brand ตราสินค้าโดนใจทั้ง 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุรา เบียร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮออลล์
4.
Reach การกระจายสินค้า ด้วยการจัดการซัพพลายเชนที่เป็นเลิศของบริษัทและสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งหาพันธมิตรเพื่อร่วมกันกระจายสินค้า
5.
Professionalism พัฒนาความสามารถของบุคลากรสู่ความเป็นมืออาชีพ และทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานระหว่างกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในระยะยาว