เพราะเห็นเทรนด์การกินขนมหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของไข่เค็มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มมิลเลนเนียล ทำให้สองหนุ่มจากสิงคโปร์ Christopher Hwang และ Jonathan Shen พัฒนาขนมขบเคี้ยวมันฝรั่งทอดกรอบคลุกไข่เค็มแบรนด์ The Golden Duck วางขายครั้งแรกในปี 2015 ก่อนกระแสตอบรับที่ดีจะทำให้พวกเขาขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ และล่าสุดกับการบุกตลาดไทยด้วย
“เราเริ่มธุรกิจตั้งแต่ปี 2015 ด้วยเงินทุนน้อยมาก ใช้ห้องครัวเล็กๆ หั่นและทอดมันฝรั่งวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ได้สินค้า 50 ถุง แล้วนำไปตั้งโต๊ะขายที่ห้าง Suntec City ซึ่งสินค้าหมดตั้งแต่ช่วงเที่ยง ทำให้เรารู้ว่าเราต้องไปได้ไกลกว่านี้แน่” Hwang กล่าวถึงช่วงแรกของการทำธุรกิจที่แม้ทั้งเขาและ Shen จะไม่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้ แต่จุดที่ประสบความสำเร็จเล็กๆ ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการศึกษาด้านกฎหมายเพื่อทุ่มความสนใจให้กับ The Golden Duck
โดยปัจจุบัน Hwang ดำรงตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร ขณะที่ Shen ผู้เคยอยู่ในแวดวงอีเวนท์และดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและผู้บริหารผลิตภัณฑ์
สินค้าของแบรนด์นี้ในช่วงแรกนอกจากมันฝรั่งทอดกรอบคลุกไข่เค็มแล้ว พวกเขายังพัฒนาเมนูหนังปลากรอบคลุกไข่เค็ม ซึ่งถือเป็นรายแรกที่หยิบวัตถุดิบอย่าง “หนังปลา” มาใช้ในการทำขนมขบเคี้ยว
ยอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็วภายในปีนั้นไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขาต้องขยายกำลังการผลิตจากห้องครัวมาสู่โรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่พวกเขายังเปิดร้านขายสินค้าของตัวเอง และขยับเข้าไปขายในเซเว่นอีเลฟเว่นสิงคโปร์อย่างจริงจังในปี 2016
“การเซ็นสัญญากับเซเว่นอีเลฟเว่นทำให้เราขยายการเติบโตได้ จนในปี 2017 เราก็สามารถวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นในสิงคโปร์ จนเราเห็นนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงซื้อขนมของเรากลับ ทำให้เราตัดสินใจไปลองบุกตลาดนี้” Hwang ระบุ
กระแสตอบรับที่ดีเกินคาดในฮ่องกงการันตีด้วยยอดขายอันดับหนึ่งในเซเว่นอีเลฟเว่นฮ่องกงในช่วงตรุษจีนปี 2018-2019 พวกเขาจึงต่อยอดธุรกิจขยายตลาดต่างประเทศสู่ฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ไต้หวัน และล่าสุดคือประเทศไทย ทั้งยังขายผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ปัจจุบันสินค้าของ The Golden Duck เพิ่มมาจากเดิมอีก 2 เมนู คือ สาหร่ายเทมปุระทอดกรอบรสปูไข่เค็ม และสาหร่ายเทมปุระทอดกรอบคลุกปูผัดพริก โดยในปี 2018 บริษัทมียอดขายทะลุไปที่ 2.8 ล้านซอง ครองมาร์เก็ตแชร์ 6.8% เป็นอันดับ 1 ในตลาดขนมขบเคี้ยวสิงคโปร์ ซึ่งทำให้พวกเขาภาคภูมิใจที่สามารถมายืนเทียบเคียงกับแบรนด์ระดับโลกได้
“เราเชื่อในเรื่องศาสตร์แห่งขนม (Snackology) และอยากให้เกิดมิติใหม่ในวงการขนม เรามีทีมเชฟที่ทุ่มเทในการเสาะหารสชาติ เราใช้วัตถุดิบทุกอย่างที่เป็นของจริงและมีคุณภาพ อย่างรสชาติปูผัดพริกซึ่งเป็นเมนูดังของสิงคโปร์ เรามีการทดลองกว่า 50 ครั้ง และเราใส่เนื้อปูจริงๆ ลงไปด้วยเพื่อให้ได้รสชาติเข้มข้นพร้อมเนื้อสัมผัสแปลกใหม่” Hwang กล่าว และว่า “เราเชื่อในนวัตกรรม ซึ่งตอนนี้นวัตกรรมไม่ได้อยู่ที่ Apple หรือ Dyson เท่านั้น แต่ยังถึงเวลาของสแน็กแล้วด้วย”
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้พวกเขาได้รับความสนใจจากคนดังและสื่อต่างๆ และยังมีรายชื่ออยู่ใน Forbes 30 Under 30 Asia ประจำปี 2017 หรือการคัดเลือกหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชียโดยนิตยสาร Forbes ซึ่งขณะนั้น Hwang และ Shen อายุ 29 และ 27 ปีตามลำดับ
บุกตลาดไทยเจาะกลุ่มพรีเมี่ยม
จากต้นปี 2019 ที่เข้าไปบุกตลาดไต้หวัน ปัจจุบันพวกเขาขยายตลาดเข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มวางขายทั้ง 4 รสชาติตั้งแต่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา
“ไทยเป็นตลาดขนมขบเคี้ยวที่ใหญ่ เราเล็งเห็นว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนในกลุ่มธุรกิจสแน็กฟู้ดที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตขึ้น 1.2% (ตั้งแต่ปี 2019-2023) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งสอดคล้องกับโปรดักต์ของเราที่เป็นสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยม” Hwang กล่าว
ขณะที่ Shen มองว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า อีกทั้งก่อนหน้านี้พวกเขาเห็นนักท่องเที่ยวไทยมาเที่ยวสิงคโปร์แล้วซื้อขนมของเขากลับ ดังนั้น ประเทศไทยจึงถือเป็น strategic country ที่พวกเขาไม่อาจมองข้าม
แต่ด้วยราคาที่วางจำหน่ายในไทยซองละ 195 บาท ทำให้พวกเขาจะใช้แผนธุรกิจและแผนการจัดจำหน่ายในไทยต่างจากสิงคโปร์
“ในไทยจะจัดจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ได้แก่ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และริมปิงซูเปอร์มาร์เก็ต (จ.เชียงใหม่) โดยให้ความสำคัญกับการลงสินค้าในสาขาพรีเมี่ยมเป็นหลัก” Shen ระบุ
“อย่างไรก็ตาม เรากำลังศึกษาถึงพฤติกรรมของลูกค้าและความเป็นไปได้ถึงการขยายเข้าไปจำหน่ายในมินิมาร์ท ซึ่งอาจต้องทำให้ซองมีขนาดเล็กลงเพื่อทำให้ราคาลดลงไปด้วย เนื่องจากลูกค้าที่เข้ามินิมาร์ทอาจยังไม่ตอบรับกับราคาของขนาดซองปัจจุบัน” Shen กล่าว
กระนั้น ราคาที่สูงทำให้ต้องตั้งคำถามว่าผู้บริโภคชาวไทยจะตอบรับกับราคานี้ได้หรือไม่ แต่พวกเขาไม่มีความกังวลเนื่องจากมองว่า “สำหรับคนที่ชอบกินขนม ราคาไม่ใช่ข้อจำกัดของการซื้อ และด้วยรสชาติและคุณภาพของสินค้าเรา เชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าซื้อขนมของเรา” Hwang กล่าว
นอกจากนี้ จากกระแสตอบรับในไทยที่ดี ทั้งยังมีลูกค้าติดต่อเข้ามาผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้พวกเขายังวางแผนจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง Lazada เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าชาวไทยได้ทั่วทั้งประเทศ
“ผลตอบรับดังกล่าวมาจากการที่เราสามารถกระจายสินค้าได้ครอบคลุมถึง 20 สาขา (กรุงเทพฯ 18 สาขา, เชียงใหม่ 2 สาขา) รวมถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์และการทำคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้สามารถสร้างการรับรู้และสร้างแบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปีแรกของการเข้ามาทำตลาดไทยจะสามารถทำรายได้ราว 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเท่าๆ กับรายได้ของตลาดสิงคโปร์ในปีแรก” Shen กล่าว
ทั้งนี้ โรงงานผลิตของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.3 ล้านถุง/เดือน บริษัทมีพนักงานกว่า 200 คน ขณะที่ยอดขายในปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 300,000 ซอง โดยมีสัดส่วนยอดขายระหว่างในสิงคโปร์และการส่งออกไปต่างประเทศอย่างละครึ่ง
“ภายในปีนี้นอกจากเปิดตัว 2 รสชาติใหม่ในตระกูลหม่าล่าแล้ว ในเดือนธันวาคมเรายังมีแผนขยายตลาดไปที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หลังเห็นขนมของเราวางขายที่นั่นในราคาสูงถึง 18 ดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยจะวางขายในห้าง Woolworth ซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย” Shen กล่าวทิ้งท้าย
Forbes Facts
- ช่องทางอี-คอมเมิร์ซ 3 ตลาดแรกที่ The Golden Duck มียอดขายสูงที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และแคนาดา
- สำหรับสถานการณ์ประท้วงในฮ่องกงที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง พวกเขาระบุว่าได้รับผลกระทบ จึงทำให้หันมาโฟกัสในตลาดไต้หวัน ออสเตรเลีย ไทย และจีน
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine