"ไทยยูเนี่ยน" ผ่อนคันเร่งเทกโอเวอร์ หันทำตลาดในประเทศ ลดเสี่ยงการค้าโลกผันผวน - Forbes Thailand

"ไทยยูเนี่ยน" ผ่อนคันเร่งเทกโอเวอร์ หันทำตลาดในประเทศ ลดเสี่ยงการค้าโลกผันผวน

ไทยยูเนี่ยน ชะลอควบรวมกิจการต่างประเทศ เพิ่มน้ำหนักยอดขายในไทย ซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัทธรรมชาติซีฟู้ดผลักดันอีคอมเมิร์ซคิวเฟรชเจาะลูกค้ารายย่อย ชี้ปัจจัยลบค่าเงินทำพิษตลาดนอก ปลายปีเตรียมเปิด IPO ‘ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์

ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า การดำเนินงานของไทยยูเนี่ยนปีนี้จะเน้นใน 3 ด้าน คือ หนึ่ง เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจหลักของบริษัทในเครือมากกว่าการควบรวมกิจการอย่างที่ผ่านมา สอง การควบคุมกระแสเงินสด ลดอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) และสาม มุ่งมั่นในธุรกิจใหม่ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

โดยยอดขาย TU ทั้งเครือในปี 2562 คาดหวังการเติบโต 5% จากยอดขายปีก่อนที่ทำได้ 1.37 แสนล้านบาท และคาดหวังให้กำไรสุทธิกลับมาในระดับปกติ 5-6 พันล้านบาท หลังจากปีก่อนกำไรสุทธิได้ลดลงเหลือ 3.26 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ไตรมาส 1/62 TU รายงานว่าบริษัทมียอดขาย 2.94 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) และมีกำไรสุทธิ 1.27 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.5%

 

รุกตลาดรายย่อย - SMEs

ในเชิงการตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งจะเน้นการขายในไทยเป็นสัดส่วนสูงขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางที่ดำเนินมาต่อเนื่อง 3 ปี ทำให้สัดส่วนการขายธุรกิจอาหารแช่แข็งซึ่งประกอบด้วย กุ้ง แซลมอน และกุ้งล็อบสเตอร์ ภายในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 15-20% ในขณะนี้

เรากำลังกลับมามองในทวีปเอเชียและไทยมากขึ้น เรามีการลงทุนมาแล้วทั่วโลก การกลับมาในบ้านก็จะง่ายขึ้น ประกอบกับกระแสอาหารแช่แข็งและแช่เย็นเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในประเทศด้วยฤทธิรงค์กล่าว

ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ฐานการตลาดในประเทศของไทยยูเนี่ยนเน้นการค้า B2B จัดส่งให้กับเชนร้านอาหารรายใหญ่ 9 ใน 10 รายของไทย รวมถึงจัดส่งแก่ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีแผนกขายอาหารทะเล

TU ยังเพิ่มการขายแบบ B2C ให้กับผู้บริโภครายย่อยโดยตรงด้วย ผ่านการเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 25% ใน บริษัท ธรรมชาติซีฟู้ด รีเทล จำกัด เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2561 มูลค่าลงทุน 37 ล้านบาท เพื่อเปิดช่องทางการขายรูปแบบเคาน์เตอร์จำหน่ายอาหารทะเล และบาร์อาหาร-เครื่องดื่มแบรนด์ The Dock Seafood Bar, The Lobster Lab และ Ocean Bar จำหน่ายในพื้นที่รีเทลของศูนย์การค้าต่างๆ

ฤทธิรงค์เปิดเผยว่า ภายในปี 2562 บริษัทจะมีการลงทุนเพิ่มในธรรมชาติซีฟู้ด โดยต้องการเพิ่มสัดส่วนหุ้นอีก 40% รวมเป็น 65% แต่ธรรมชาติซีฟู้ดจะยังคงมีผู้บริหารชุดเดิมต่อไป

คิวเฟรช แบรนด์ขายอาหารทะเลออนไลน์ทั้งแบบแช่แข็งและแบบปรุงสุกให้กับผู้บริโภครายย่อย โดยเป็นกิจการภายใต้เครือไทยยูเนี่ยน

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังเปิดขายอาหารทะเลแช่แข็งแบบอี-คอมเมิร์ซผ่านแบรนด์คิวเฟรช หลังจากดำเนินการขายในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมากว่า 1 ปี สามารถสร้างยอดขายได้ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน โดยคาดหวังให้คิวเฟรชเจาะตลาดร้านอาหารและร้านค้าขนาดเล็กที่ต้องการจัดซื้อวัตถุดิบในปริมาณไม่มาก หันมาใช้บริการค้าออนไลน์แทนการเดินทางไปเลือกซื้อที่ตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต

 

มองตลาดโลกค่าเงินบาทแข็งทำพิษ

ฤทธิรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมตลาดอาหารทะเลระดับโลก ในแง่การบริโภคเชื่อว่าอยู่ในทิศทางที่ดีเนื่องจากกระแสการบริโภคมีแนวโน้มลดดีมานด์เนื้อสัตว์ใหญ่และหันมารับประทานอาหารทะเลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เขากังวลใจคือ กรณีค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันยากขึ้น โดยระบุว่าค่าเงินบาทไทยแข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งขันราว 12-15% ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทยอยู่ที่ระดับ 30-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ผมมองว่าค่าเงินที่เหมาะสมกับการส่งออกอยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การที่ค่าเงินบาทแข็งทำให้สินค้าเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจตรงนี้ คิดว่าเมืองไทยต้องไม่ทิ้งการส่งออก และต้องผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อดึงคนเข้ามาบริโภคภายในประเทศ นักท่องเที่ยว 30-40 ล้านคนที่เข้ามาคือครึ่งหนึ่งของประชากรคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นส่วนที่สำคัญฤทธิรงค์กล่าว

บูธไทยยูเนี่ยนในงานแสดงสินค้าอาหารทะเล Brussels Seafood Expo 2019 ระหว่างวันที่ 7-9 พ.ค. 2562 ณ ประเทศเบลเยียม

สำหรับปัจจัยบวกในตลาดโลก แม่ทัพกลุ่มอาหารแช่แข็งของ TU มองว่า ประเทศไทยน่าจะได้อานิสงส์จาก สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา หลังจากสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 5.7 พันรายการ จากภาษี 10% ขึ้นเป็น 25% ซึ่งครอบคลุมถึงอาหารทะเลด้วย จึงคาดว่าคำสั่งซื้ออาหารทะเลของลูกค้าในสหรัฐฯ จะเทไปยังประเทศอื่น ขึ้นอยู่กับนโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทยและสหรัฐฯ จะตอบสนองโอกาสได้ทันท่วงทีหรือไม่

 

เตรียมแยกบริษัทลูก TFM เปิด IPO

ด้านการบริหารทางการเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (TFM) บริษัทลูกในเครือซึ่งทำธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ กำลังเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทที่อนุมัติแผนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ฤทธิรงค์กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนดังกล่าวว่า TFM เตรียมยื่นไฟลิ่งภายในเดือนมิถุนายนนี้และคาดว่าจะเปิด IPO ได้ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562

ทั้งนี้ TFM แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจะเสนอขาย IPO ทั้งหมด 109.3 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมที่ TU ถือในบริษัท 19.3 ล้านหุ้น

ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์นั้น ปัจจุบันมียอดขายภายในประเทศเป็นหลัก สัดส่วน 80-90% ส่วนที่เหลือเป็นยอดขายต่างประเทศ ซึ่งบริษัทมีวิสัยทัศน์การขยายโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำสู่ประเทศอินโดนีเซีย คาดการณ์เม็ดเงินลงทุน 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำลังผลิต 3 หมื่นตันต่อปี

เราเลือกที่จะ spin off เพราะบริษัทแม่คือ TU การจะเติบโตดับเบิ้ลคงเป็นไปไม่ได้ แต่ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์มีศักยภาพการเติบโตที่ดีกว่า โดยทำรายได้ปีละ 4-5 พันล้านบาท เป็นผู้ขายอันดับ 2 ในตลาดอาหารกุ้งของไทย และอันดับ 1 ตลาดอาหารปลาฤทธิรงค์กล่าว