“แซดทีอี” หวนบุกตลาดไทย รับธุรกิจสมาร์ทโฟนรุ่ง - Forbes Thailand

“แซดทีอี” หวนบุกตลาดไทย รับธุรกิจสมาร์ทโฟนรุ่ง

แซดทีอี คอร์ปอเรชัน (ZTE) หวนบุกตลาดสมาร์ทโฟนไทยอีกครั้ง หลังตลาดเติบโตต่อเนื่องตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จากพฤติกรรมผู้บริโภคใช้ซื้อสินค้าและบริการในช่วงโควิด พร้อมผนึก 2 ผู้แทนจำหน่าย ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5 ภายใน 3 ปี

ชอว์น เผย์ ผู้จัดการทั่วไป โทรศัพท์มือถือประจำประเทศไทย แซดทีอี คอร์ปอเรชัน เปิดเผยว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา ธุรกิจเพื่อผู้บริโภค (Consumer Business) ของบริษัทฯ ทั้งโลก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 กิจการหลัก ประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวกับผู้ให้บริการเครือข่าย (Operator Network) และธุรกิจเพื่อองค์กรรวมทั้งภาครัฐ เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาถึง 60% และทำรายได้จากการส่งผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศเติบโตได้เพิ่มขึ้นมากถึง 50% “จากแนวโน้มการขยายตัวดังกล่าว บริษัทฯ จึงมีนโยบายขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ ZTE มองเห็นโอกาสและศักยภาพสำหรับสมาร์ทโฟนที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันแบบ นิวนอร์มอล” ชอว์นกล่าว สำหรับประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจและ ZTE ให้ความสำคัญ การเข้ามาเปิดตลาดในครั้งนี้ เนื่องจากมองเห็นว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะที่การสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนผู้ใช้งานอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่เติบโตเฉลี่ย 15% ทุกปี และสัดส่วนผู้ใช้งานซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือมีมากถึง 70% นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยต่างจัดแคมเปญส่งเสริมการตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคสนใจใช้บริการบนเครือข่าย 5G จึงทำให้สมาร์ทโฟน 5G คุณภาพดี ในราคาที่เอื้อมถึงง่ายเป็นที่ต้องการในขณะนี้ ทั้งกลุ่มผู้เริ่มใช้สมาร์ทโฟนก็เป็นเซ็กเมนต์ที่ยังมีความต้องการอยู่มาก ไอดีซี เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจสมาร์ทโฟนในประเทศไทย ปี 2564 พบว่า มีการจำหน่ายสมาร์ทโฟนไปกว่า 20.9 ล้านเครื่อง เติบโตจากปีก่อนหน้าร้อยละ 20.9 ถือเป็นประเทศที่มีการใช้งานสมาร์ทโฟนสูงสุดในภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 ขณะที่ปีนี้ ไอดีซีคาดว่าตลาดสมาร์ทโฟนจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง และเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิด

ชูกลยุทธ์ผนึกพันธมิตรขยายธุรกิจ

ชอว์น กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของสมาร์ทโฟน ZTE ในประเทศไทยมาพร้อมกับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ที่จะผนึกกำลังกับแบรนด์สมาร์ทโฟนของบริษัทในเครือ ทั้ง ZTE นูเบีย (Nubia) และ Redmagic รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอีโคซิสเต็มของ ZTE เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย พร้อมแผนการตลาดที่มีกลยุทธ์เพื่อสร้างแบรนด์ผ่านการสื่อสารการตลาดและการประชาสัมพันธ์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ ZTE ยังให้ความสำคัญกับการจัดจำหน่ายและช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งจะใช้การบริหารช่องทางแบบ Omni-Channel โดยได้เป็นพันธมิตรผู้จัดจำหน่าย 2 ราย คือ บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท วายเอ เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ในกลุ่ม เบญจจินดา ให้ร่วมกันช่วยกระจายสมาร์ทโฟน ZTE ครอบคลุมทุกช่องทางทั่วประเทศ โดย ZTE ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟน 2% ในปี 2565 นี้ และจะเพิ่มเป็น 5% ภายใน 3 ปีจากนี้ สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนให้กับ ZTE ทาง วีเอสที อีซีเอสจะดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันตก กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจัดจำหน่ายผ่านทั้งช่องทางหน้าร้านดีลเลอร์และช่องทางออนไลน์ในพื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบันบริษัทฯ มีดีลเลอร์ที่เป็นพันธมิตรในพื้นที่รับผิดชอบกว่า 7,000 ราย กลยุทธ์ของบริษัทฯ คือให้ความสำคัญกับการสร้างทีมงานผู้เชี่ยวชาญเพื่อโฟกัสการเติบโตของธุรกิจสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ และพยายามพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้าน ปภาพรต ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วายเอ เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ YAS ในกลุ่มเบญจจินดา กล่าวว่า YAS ได้รับการแต่งตั้งให้จัดจำหน่ายและจัดส่งสมาร์ทโฟนให้กับ ZTE ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล รับผิดชอบทั้งการจัดจำหน่ายให้กับหน้าร้านขายโทรศัพท์มือถือและช่องทางออนไลน์ในพื้นที่ดังกล่าว รวมจำนวนพันธมิตรช่องทางจัดจำหน่ายในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 3,500 ราย อ่านเพิ่มเติม: “iPrice Group” ระดมทุนกว่า 5 ล้านเหรียญ ขยายแพลตฟอร์มดิจิทัล

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine