ปรับธุรกิจรับยุคสมัยใหม่ เมืองไทยประกันชีวิต เปิดกลยุทธ์ปี 2562 เจาะทุกไลฟ์สไตล์คนไทย ตั้งเป้าเบี้ยใหม่เพิ่มขึ้น 26% ให้เเตะ 2.8 หมื่นล้านบาท ขยายตีตลาดอาเซียน
สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการเเละประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตของไทยในปีที่ผ่านมา พร้อมเเผนธุรกิจปี 2562 ว่า ปัจจุบันคนไทยทำประกันชีวิต หรือมีกรมธรรม์อยู่เพียง 39% เท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อ GDP ทั้งประเทศที่ 4% โดยในต่างประเทศคิดเป็น 7% ของ GDP ดังนั้นธุรกิจประกันชีวิตในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
โดยผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 มีเบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 94,467 ล้านบาท เป็นเบี้ยประกันภัยรับใหม่ 22,773 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยปีต่อไปอยู่ที่ 71,694 ล้านบาท เเบ่งเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันภัยประเภทคุ้มครองอยู่ที่ 63% และออมทรัพย์อยู่ที่ 37% ซึ่งกรมธรรม์ประเภทยูนิต ลิงค์และยูนิเวอร์แซล ไลฟ์ มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 246% ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 40%
ช่องทางขายกว่า 57% ยังคงมาจากช่องทาง face-to-face และจำนวนกว่า 47% มาจากคอลเซ็นเตอร์ แต่เริ่มเห็นการเติบโตมาจากช่องทางดิจิทัลกว่า 23%
โดยสามารถทำกำไรสูงขึ้น มากกว่าปี 2560 ที่มีกำไรที่ 8,600 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท ในปี 2561 ส่งผลให้สินทรัพย์มีการเติบโตอยู่ที่ 480,000 ล้านบาท ณ สิ้นปีที่ผ่านมา
สำหรับในปี 2562 เมืองไทยประกันชีวิต ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยใหม่เติบโต 26% โดยยังคงรักษาสัดส่วนเบี้ยประกันภัยประเภทคุ้มครองไว้เป็นหลักที่ 63% ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงตั้งเป้าเติบโต 76% และเบี้ยประกันภัยยูนิตลิงค์กับยูนิเวอร์แซล ไลฟ์ เติบโต 96%
“รูปแบบการดำเนินธุรกิจสำหรับยุคนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นยุคที่ท้าทายองค์กรเป็นอย่างมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวในมุมนโยบายเชิงกลยุทธ์ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหาร ไปจนถึงบุคลากรทุกหน่วยงาน จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิด และวิธีการทำงานใหม่ทั้งหมด (Disruptive Ourselves) กล้าที่จะลองผิดลองถูก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้อยู่เสมอ”
ชูกลยุทธ์เข้าถึงไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่
เมื่อตลาดผู้บริโภคเปลี่ยนไป กลยุทธ์การทำธุรกิจเเละการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย นำไปสู่แผนปี 2562 ภายใต้กลยุทธ์ “MTL Everyday Life Partner” สนองความต่างในทุกไลฟ์สไตล์ทั้งสุขภาพ การลงทุนเเละการใช้ชีวิตประจำวัน
“ปีนี้เมืองไทยประกันชีวิต จะเดินหน้าออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ผ่านนวัตกรรม และแนวคิดแบบ “Outside In” ตอบโจทย์ความต้องการในรูปแบบที่มีความเฉพาะตัว และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากยิ่งขึ้น เข้าถึงความต้องการส่วนบุคคล พร้อมการวิเคราะห์เเละนำ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาว” สาระกล่าว
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ "เบาหวานเบทเทอร์แคร์" ที่เป็นแบบประกันภัยสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 "สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ แบบอีลิท เฮลท์" เเละประกันชีวิตควบการลงทุน "mDesign"แบบประกันภัยที่รวมประกันชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวมเข้าไว้ด้วยกัน และบริการ "MTL Smile Service" ที่ในปี 2561 ลงทุนไปกว่า 30 ล้านบาทและปีนี้ตั้งเป้าจะลงทุนเพิ่มอีก 30 ล้านบาท
ซีอีโอเมืองไทยประกันชีวิต กล่าวอีกว่า ลูกค้าสมัยนี้มีความต้องการเฉพาะตัว รูปแบบการขายจึงต้องทำเเบบไฮบริด ควบคู่ทั้งฝ่ายตัวเเทนเเละการขายดิจิทัล ดังนั้นธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับตัวอย่างมาก โดยช่องทางเดิมอย่างผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางการเงินก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเเละครบถ้วนกับลูกค้า ขณะที่ก็จำเป็นต้องขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น KPlus, Line Pay , Shopee และเว็บขายประกันออนไลน์อย่าง gettgo
รวมถึงพันธมิตรในกลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพด้าน Insure Tech หรือ Health Tech ที่มาจาก Fuchsia Innovation Centre และ Fuchsia Venture Capital ซึ่งจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ มาช่วยรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเข้าถึง
รุกอาเซียน ตีตลาดเสรีเมียนมา
สำหรับการตั้งบริษัทในประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นการดำเนินตามเป้าหมายที่ต้องการให้ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต เป็นบริษัทระดับภูมิภาค (regional company)
“เมื่อ 4 ปีที่แล้ว MTL ได้รุกเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเเถบ CLMV เพราะมีจำนวนประชากรที่มีอยู่ประมาณ 300 ล้านคน ถือเป็นโอกาสมหาศาลในการขยายตลาด” สาระกล่าว
Jan Arend Wes รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังเจรจากับพันธมิตรในท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดที่น่าสนใจอย่าง “เมียนมา” เนื่องจากเมื่อต้นปี 2562 รัฐบาลเมียนมาประกาศเปิดเสรีการลงทุน โดยให้บริษัทต่างชาติที่สนใจเข้าไปลงทุนสามารถทำการเปิดบริษัทได้ โดยคาดว่ากระบวนการยื่นเอกสารเเละข้อตกลงต่างๆ จะเเล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
“เราเปิดสำนักงานผู้เเทนในเมียนมา 5 ปีเเล้ว โดยมีคู่เเข่งเป็นบริษัทประกันชีวิตท้องถิ่นราว 12 บริษัท ที่ยังคงเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกัน ทั้งด้านรูปแบบเเละราคา เเต่คาดว่าหลังจากการเปิดตลาดเสรี ภาครัฐจะปล่อยให้มีการเเข่งขันด้านผลิตภัณฑ์เเละปรับเปลี่ยนราคาเบี้ยประกันให้หลายหลาย เเละเข้ากับไลฟ์สไตล์บุคคลมากขึ้น”
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเเผนที่จะขยายตลาดไปยัง “อินโดนีเซีย” เเละ “ฟิลิปปินส์” โดยกำลังมองหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจท้องถิ่น เเต่อาจทำได้ยากกว่าประเทศในอาเซียนอื่นๆ เนื่องจากตลาดประกันชีวิตของทั้งสองประเทศเติบโตเต็มที่เเล้ว
ด้านนิรัตน์ บูชาสุข รองกรรมการผู้จัดการ เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าของบริษัทร่วมทุน Sovannaphum Life Assurance PLC ในกัมพูชา ที่เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แคนาเดีย อินเวสต์เมนต์ โฮลดิ้ง ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ตั้งเเต่ปี 2559 ว่าในปี 2560 มีเบี้ยประกันรับรวมเติบโตอยู่ที่ 33% ส่วนใหญ่มาจากยอดขายประกันชีวิตและไมโครอินชัวรันซ์
ขณะที่บริษัทร่วมทุน MB Ageas Life ในเวียดนาม มีเบี้ยประกันรับรวมเติบโตอยู่ที่ 31% ปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นยอดขายประกันยูนิเวอร์แซลไลฟ์ เเละบริษัทร่วมทุน ST-Muang Thai Insurance ในสปป.ลาว เพิ่งจะเริ่มต้นดำเนินการ เเต่ก็คาดว่าจะได้รับกระเเสตอบรับที่ดี