ลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ดันไทยสู่สวรรค์ช็อปปิ้ง - Forbes Thailand

ลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ดันไทยสู่สวรรค์ช็อปปิ้ง

สมาคมศูนย์การค้าไทยยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการช็อปปิ้งในอาเซียนและเป็นจุดหมายปลายทางการช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกอย่างเต็มตัว

แม้ว่าสมาคมฯ เดินหน้าเรียกร้องมากว่า 3 ปีแล้วและยังไม่คำตอบจากรัฐบาล สมาคมฯก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะเดินหน้าต่อไป โดย วัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย หวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเห็นใจ ยอมอนุมัติการลดภาษีดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากการลดภาษีสินค้านำเข้าฟุ่มเฟือยถือเป็น “จิ๊กซอ” ตัวสุดท้าย ที่จะทำให้เมืองไทยกลายเป็นสวรรค์ของการช็อปปิ้งโดยสมบูรณ์ สามารถแข่งขันเคียงบ่าเคียงไหล่กับเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง วัลยาบอกว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในทุกๆ ด้านที่จะเป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งในภูมิภาค เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคอยู่แล้ว มีสถานที่ช็อปปิ้งมากมายและหลากหลายตอบสนองกับนักท่องเที่ยวในวงกว้าง รวมไปถึงสถานที่ช็อปปิ้งเหล่านั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระจายตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆและเมืองชายแดนทั่วประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ การเดินทางที่สะดวกและความหลากหลายของความบันเทิง ยังถือเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กที่ทำให้เมืองไทยโดดเด่นขึ้นไปอีก ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกของไทยทำรายได้ให้กับเศรษฐกิจอย่างมหาศาลอยู่ในอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม คิดเป็น 16% ของจีดีพีของประเทศ กัลยามองว่า หากรัฐลดภาษีสินค้านำเข้าฟุ่มเฟือย จะส่งผลให้มีการจับจ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีกับเศรษฐกิจตามมา ซึ่งไม่เพียงแต่ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังดึงดูดนักช็อปคนไทยให้มีการจับจ่ายภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เธอบอกว่า ในปีหนึ่งๆ มีคนไทยเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศคิดเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1.7 แสนล้านบาท และราว 5 หมื่นล้านบาทจากเงินทั้งหมดนี้ใช้ไปกับการช็อปปิ้ง ปัจจุบันศูนย์การค้าในไทยทั้งหมดมีพื้นที่ Retail GFA (Gross Floor Area) ทั้งหมดราว 18 ล้านตารางเมตร โดย 7.6 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็น 42% ของทั้งหมด เป็นพื้นที่รวมที่บริหารโดย 12 สมาชิกในสมาคมศูนย์การค้าไทย ซึ่งบริหารศูนย์การค้า 91 สาขา ในปี 2560 สมาคมมองว่า พื้นที่ Retail GFA รวมของบรรดาสมาชิกในสมาคมจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านตารางเมตรและมีศูนย์การค้าเพิ่มเป็น 94 สาขา เนื่องจากมีการลงทุนในโครงการใหม่ๆและปรับปรุงพื้นที่ของเดิม ด้วยงบลงทุนราว 7 หมื่นล้านบาทจนถึงปีหน้า กัลยาบอกว่า ในอดีตบางปีการลงทุนของสมาชิกของสมาคมฯสูงถึง 1 แสนล้านบาท เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกและความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้น วัลยาบอกว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของกลุ่มสมาชิกในสมาคมมีแนวโน้มลดน้อยลง เป็น 7-13% จากเดิมที่ผ่านมาในบางปีอยู่ที่ 12-16% การลดลงนี้ ยังส่งผลให้การคืนทุนมีระยะเวลานานขึ้นจากเดิม 4-5 ปี เพิ่มเป็น 6-7 ปี เธอบอกว่า หากรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วย โดยอนุมัติมาตรการลดภาษีสินค้านำเข้าฟุ่มเฟือย หรือส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการจับจ่ายมากขึ้น ก็จะทำให้สถานการณ์การคืนทุนของศูนย์การค้าของสมาชิกดีขึ้น  อย่างเช่น หากกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจับจ่ายเพิ่มอีก 100 บาท จากเดิมมี 1.2 พันบาทเพื่อการช็อบปิ้ง จากใช้จ่ายทั้งหมดต่อวันต่อหัวอยู่ที่ 5 พันบาท นั่นก็หมายความว่า จะมีเงินอัดฉีดเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยราว 3 หมื่นล้านบาท เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบถึง 30 ล้านคนในปีที่ผ่านมาเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย วัลยา จิราธิวัฒน์