บริษัท ฟิลิปส์ ไลท์ติ้ง เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ซิกนิฟาย ตามข้อตกลงแยกบริษัท วางแนวทางพัฒนานวัตกรรมด้วย IoT เข้าสู่ยุคจำหน่ายระบบแสงสว่างและบริการ ซิกนิฟายในไทยหันหัวเรือเน้นหนักลูกค้าโครงการ
เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นของ บริษัท
ฟิลิปส์ ไลท์ติ้ง ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการเป็น บริษัท
ซิกนิฟาย (Signify)
โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการแยกตัวของบริษัท ฟิลิปส์ ไลท์ติ้ง ซึ่งจัดจำหน่ายหลอดไฟ โคมไฟ และอุปกรณ์แสงสว่าง ออกจากบริษัทแม่คือ
รอยัล ฟิลิปส์ ที่จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเมื่อปี 2559 และตามข้อตกลงการแยกบริษัท ฟิลิปส์ ไลท์ติ้ง จะต้องเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ภายใน 18 เดือน นำมาสู่การเปลี่ยนชื่อเป็นซิกนิฟาย และฟิลิปส์ ไลท์ติ้งในทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงชื่อเป็นซิกนิฟายทั้งหมดภายในต้นปี 2562
อย่างไรก็ดี ซิกนิฟายยังมีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement) อยู่กับรอยัล ฟิลิปส์ ทำให้สินค้าเกี่ยวกับแสงสว่างของซิกนิฟายจะยังใช้แบรนด์ “ฟิลิปส์ (Philips)” เช่นเดิม
IoT ผลักดันนวัตกรรมระบบแสงสว่าง
เฉลิมพงษ์กล่าวต่อว่า การแยกบริษัทจากกันนี้จะทำให้ซิกนิฟายมีทิศทางการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น โดยเทรนด์ระดับโลกในด้านแสงสว่างกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นยุคที่หลอดไฟแบบปกติ (Conventional) กำลังจะหมดไป เพราะหลอดไฟแอลอีดี (LED) เข้ามาแทนที่ ในขณะที่ยุคแห่งการหลอมรวมระบบแสงสว่างและการบริการกำลังเริ่มต้นขึ้น
ระบบแสงสว่างดังกล่าวเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แสงสว่างในบ้านจึงสามารถเชื่อมต่อถึงกันและนำมาสร้างระบบนวัตกรรมได้มากมายกว่าเดิม
เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า ฟิลิปส์ ไลท์ติ้ง หรือ ซิกนิฟาย กำลังมุ่งไปสู่การจำหน่ายระบบและบริการด้านแสงสว่างจากเทคโนโลยี IoT ซึ่งเชื่อว่าจะเข้าไปมีส่วนในทุกธุรกิจ ทั้งระบบแสงสว่างภายนอกอาคาร เช่น ไฟถนน และระบบแสงสว่างภายในอาคาร ตั้งแต่ระดับบ้านเรือน อาคาร ร้านค้า โรงงาน ล้วนนำ IoT มาปรับใช้ได้หมด
“ตลาดไลท์ติ้งไทยปีนี้คาดว่ามีมูลค่าราว 2.6 หมื่นล้านบาท แต่นี่จะรวมเฉพาะหลอดไฟ โคมไฟ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง
ยังไม่มีใครประเมินได้ว่าระบบแสงสว่างที่ใช้ IoT จะมีมูลค่าเท่าไหร่ เพราะเป็นระบบที่ on top เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเดิม การออกแบบระบบขึ้นอยู่กับลูกค้าจะจินตนาการให้นำแสงสว่างและ IoT มาทำอะไรได้บ้าง และยังมีค่าบริการดูแลรักษาที่เราจะได้เสริมเข้ามาอีกด้วย” เฉลิมพงษ์กล่าว
ยกตัวอย่างระบบแสงสว่าง IoT ที่เกิดขึ้นแล้วในไทยเช่น ระบบไฟถนนที่เชื่อมต่อกับการควบคุมส่วนกลาง สั่งเปิด-ปิดระยะไกล สามารถตรวจสอบได้อัตโนมัติว่าดวงไฟแต่ละดวงยังทำงานปกติอยู่หรือไม่ และกินไฟเท่าไหร่
หรือที่ซิกนิฟายกำลังพิจารณานำระบบจากต่างประเทศมาใช้ เช่น ระบบแสงสว่างที่จับการเคลื่อนไหวของคนและบันทึกข้อมูลได้ ซึ่งมีประโยชน์กับกลุ่มรีเทล เพราะจะสามารถนำข้อมูลรูปแบบการเดินห้างสรรพสินค้าของลูกค้ามาใช้วิเคราะห์วิธีจัดสรรพื้นที่และการติดป้ายโฆษณาต่างๆ
ซึ่งอุปกรณ์แสงสว่างที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้นั้น แบรนด์ฟิลิปส์ได้วางจำหน่ายสินค้าสำหรับใช้ในบ้านไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2561 คือสินค้ากลุ่ม
ฟิลิปส์ ฮิว (Philips Hue) แต่แนวทางธุรกิจการวางระบบแสงสว่าง IoT ดังกล่าว ซิกนิฟายไทยจะต้องรุกเข้าไปในกลุ่มลูกค้าโครงการ จำหน่ายแบบ B2B มากขึ้น จากเดิมที่รายได้บริษัทส่วนใหญ่มาจากลูกค้ารายย่อย
“ปีนี้สิ่งที่เราจะทำคือให้คนเข้าใจก่อนว่าระบบแสงสว่าง IoT คืออะไร รู้ว่าไม่ใช่เทคโนโลยีที่มีไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่มีประโยชน์จริง โดยจะมีการทำเวิร์กชอป มีสัมมนา โดยเฉพาะกับกลุ่มนักออกแบบเพราะพวกเขาคือผู้นำเทรนด์เรื่องเหล่านี้” เฉลิมพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ เอ็มดีซิกนิฟายไทยทิ้งท้ายว่า ซิกนิฟายไม่ได้จะก้าวขึ้นเป็นผู้วางระบบออโตเมชันภายในอาคารเอง แต่มีการร่วมมือกับผู้พัฒนาระบบชั้นนำของโลก เช่น ซิสโก้ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์แสงสว่างแบรนด์ฟิลิปส์จะสามารถใช้ได้กับระบบจัดการอาคารส่วนใหญ่