ราชาปลาทูน่าโลกต้องหาทางต่อยอดให้กับบริษัทด้วย co-products หลังจากขยายตลาดไปทุกทวีปแต่สินค้าอาหารแปรรูปก็ยังได้กำไรบางและเสี่ยงต่อความผันผวน
แท็งก์น้ำมันปลาทูน่าที่กลั่นขั้นต้นจาก จ.สมุทรสาคร ถูกขนส่งข้ามทะเลมายังโรงงานกลั่นน้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์โรงใหม่ของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ในเมือง Rostock ประเทศเยอรมนี
โรงงานที่ลงทุนมูลค่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นี้ เริ่มมีคำสั่งซื้อลอตแรกเข้ามา 250 ตันในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ถือเป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการคิดค้นนวัตกรรมขั้นสูง เป็นครั้งแรกของ TU ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ Thai Union Ingredients
ณ ไตรมาส 1 ปีนี้ TU ยังมีสัดส่วนรายได้หลักมาจากกลุ่มอาหารทะเลบรรจุภาชนะ 46% รองลงมาคือกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น 39% ปิดท้ายคืออาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์ value-added 15%
แต่สัดส่วนนี้อาจเปลี่ยนไปในอนาคต ด้วยวิสัยทัศน์ของ
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ
บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ที่วางไว้ตั้งแต่ 5 ปีก่อน มองภาพไกลว่าบริษัทไม่สามารถขายเฉพาะสินค้าอาหารแปรรูปขั้นต้นได้ หากต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทิศทางของบริษัทระดับโลกที่เคยกว้านซื้อโรงงานและแบรนด์อาหารทะเลไปทั่วโลกมากว่า 2 ทศวรรษจึงปรับทิศทางสู่การคิดค้น “นวัตกรรม” ทําให้ธีรพงศ์เลือกดึงตัว
ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ จาก Mead Johnson Nutrition มารับตําแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรมของ TU ในปี 2557 และเป็นผู้ปลุกปั้นศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนในปีต่อมา
“ตอนผมมาที่นี่เมื่อ 5 ปีก่อน ผมบอกคุณธีรพงศ์ว่าคุณมีมูลค่าตกหล่นในโรงงานอยู่เยอะแยะ” ดร.ธัญญวัฒน์กล่าว
เขาอธิบายถึงผลิตภัณฑ์หลักของ TU คือปลาทูน่า เมื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารจะมีเพียง 50% ของตัวปลาเท่านั้นที่นำไปใช้ได้ ส่วนที่เหลือของปลา เช่น หัวปลา กระดูก น้ำนึ่งปลา จะถูกทิ้งหรือนำไปขายในลักษณะ byproducts เช่น ขายให้กับโรงงานปลาป่น โรงงานน้ำปลา
“คนไทยจะได้ยินคำว่า by-products มาตลอด ซึ่งจริงๆ แปลว่าของเหลือที่มีมูลค่าต่ำกว่าผลิตภัณฑ์หลัก
เราเลยคิดว่าต้องเปลี่ยนมุมมองกับสิ่งนี้ว่าไม่ใช่ byproducts แต่เป็น co-products ซึ่งมีต้นทุนในการผลิต จึงต้องทำให้มีคุณภาพ อย่างปลาทูน่า ส่วนที่เหลือทิ้งเหล่านั้นต้องมาคิดแบบ co-products ว่าจะทำให้มีมูลค่าทัดเทียมหรือมากกว่าเนื้อปลาได้ไหม” ดร.ธัญญวัฒน์กล่าว
โจทย์การคิดค้นนวัตกรรม co-products นั้น เขาเปิดผังพีระมิดการขายทูน่าว่า หากจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำราคา จะต้องแปลงทูน่าจากอาหารปกติเป็นอาหารเสริมทางโภชนาการหรือยาทั้งของสัตว์เลี้ยงหรือมนุษย์
โดยราคาที่ได้จะเพิ่มขึ้น จาก 0.7-2 เหรียญต่อกิโลกรัมในกรณีเป็นอาหารมนุษย์ ขึ้นไปถึงมากกว่า 100 เหรียญต่อกิโลกรัมกรณีนำไปผลิตยา ซึ่งส่วนที่เหลือจากเนื้อปลาทูน่านั้นสามารถนำมาสกัดหรือแปรรูปให้มีคุณค่าทางโภชนาการได้
4 ปีของการคิดค้นนวัตกรรม ปีนี้ TU จึงได้เริ่มต้นออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์แรก คือ
น้ำมันปลาทูน่า ซึ่งกลั่นจากหัวปลาทูน่า และที่ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองที่คาดว่าจะออกจำหน่ายได้เร็วๆ นี้ คือ กระดูกปลาทูน่าบด เสริมแคลเซียม คอลลาเจนจากหนังปลาทูน่า รวมถึงฟีดไคนด์โปรตีน อาหารกุ้งไบโอเทค
หัวปลาทูน่า: ขุมสมบัติใหม่
สำหรับน้ำมันปลาทูน่านั้น ดร.ธัญญวัฒน์อธิบายว่ามีศักยภาพทางการตลาดเนื่องจาก มี DHA ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางสมองของเด็กวัยไม่เกิน 18 เดือนในปริมาณสูงกว่าน้ำมันปลาอื่นๆ
โดยปลาทูน่ามี DHA 2.877 มิลลิกรัมต่อปริมาณปลา 100 กรัม ขณะที่ปลาแมคเคอเรลมี DHA 1.781 มิลลิกรัมต่อปริมาณปลา 100 กรัม ทำให้น้ำมันปลาทูน่ามีคุณค่าสูงกว่าและเป็นที่ต้องการของ
ผู้ผลิตนมผงเด็กทารก เช่น Nestle, FrieslandCampina, Abbott, Mead Johnson, Danone แม้น้ำมันปลาทูน่ามีราคาแพงกว่าน้ำมันปลาชนิดอื่น 5-10 เท่า
ด้าน
Leonardus Coolen กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจ Thai Union Ingredients กล่าวว่า TU มีความได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งรายใหญ่ 4-5 แห่งที่ทำตลาดอยู่เดิม (
Nikkei รายงานว่า เจ้าตลาดน้ำมันปลา ได้แก่
Numega จากออสเตรเลีย
DSM จากเนเธอร์แลนด์ และ
Nissui จากญี่ปุ่น) เ
พราะแม้ TU จะเป็นหน้าใหม่ในตลาดน้ำมันปลาทูน่า แต่เป็นผู้ครองวัตถุดิบต้นทางที่ตรวจสอบย้อนกลับและควบคุมคุณภาพได้ตลอดสายการผลิต โดยโรงงานแปรรูปปลาทูน่าและโรงงานกลั่นน้ำมันดิบปลาทูน่าของบริษัทตั้งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร ก่อนจะส่งมากลั่นเป็นน้ำมันปลาบริสุทธิ์ที่ Rostock
โรงงานน้ำมันปลาบริสุทธิ์แห่งนี้มีกำลังผลิตสูงสุด 5,000 ตันต่อปี ช่วง 5 เดือนแรกมีคำสั่งซื้อแล้ว 250 ตัน วางเป้าหมายปีนี้จะมีคำสั่งซื้อ 1,000 ตัน และเป้าระยะยาวหวังว่าจะสามารถจำหน่ายและผลิตได้เต็มกำลังผลิตภายใน 3-5 ปี ซึ่งจะทำให้ TU มีส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปลาทูน่า 25-30% ในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน TU ยังคงจำหน่ายทั้งน้ำมันปลาทูน่ากลั่นบริสุทธิ์และน้ำมันปลาทูน่าดิบที่กลั่นขั้นต้นในสมุทรสาคร แบ่งสัดส่วนตามปริมาณการขาย 50:50 คาดว่าจะทำรายได้จากทั้งสายการผลิตน้ำมันปลา 15-20 ล้านเหรียญในปี 2562
“ตอนนี้ลูกค้าสั่งปริมาณน้อยเพราะยังอยู่ในขั้นตรวจสอบคุณภาพสินค้าเรา การวัดคุณภาพ DHA ใช้เวลามากเพราะ shelf life ของนมผงยาวได้ถึง 2 ปีกว่าที่เขาจะมั่นใจในน้ำมันปลาทูน่าของ TU ได้” ดร.ธัญญวัฒน์กล่าวเสริม
Coolen กล่าวว่า ราคาน้ำมันปลาทูน่ากลั่นบริสุทธิ์อยู่ที่ราว 12-15 เหรียญต่อกิโลกรัม ราคาน้ำมันปลาทูน่าดิบกลั่นขั้นต้นอยู่ที่ 7-8 เหรียญต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายหัวปลาทูน่าเพื่อทำปลาป่นเป็นอาหารสัตว์ราคาเพียง 11 บาทต่อกิโลกรัม หรือราว 0.31 เหรียญเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าการใช้นวัตกรรมทำให้ TU มีรายได้จาก co-products สูงกว่าเดิมถึง 48 เท่า
นอกจากนี้
ประสิทธิ์ สุจิวรกุล นักวิเคราะห์จาก
บล.บัวหลวง ยังกล่าวด้วยว่าน้ำมันปลาทูน่ามีกำไรขั้นต้นสูง 30% เทียบกับปลาทูน่ากระป๋องที่มีกำไรขั้นต้นเพียง 10%
กองทัพ New S-Curve ของ TU
ดร.ธัญญวัฒน์กล่าวต่อถึงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่อยู่ใน pipeline ที่น่าสนใจคือ
กระดูกปลาทูน่าบดเสริมแคลเซียมในปลากระป๋อง ซึ่งบริษัทได้จดสิทธิบัตรไว้แล้ว 2 รายการ พร้อมงานวิจัยรองรับว่าการรับประทานกระดูกปลาทูน่าช่วยเสริมสร้างแคลเซียมได้
โดย TU ได้เข้าถือหุ้นบริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ทดลองการผลิต แก้โจทย์การบดกระดูกปลาทูน่าให้ละเอียดจนเมื่อใส่ในเนื้อปลากระป๋องแล้วจะไม่รู้สึกถึงสัมผัสอาหารที่เปลี่ยนไป คาดว่าจะออกสู่ตลาดได้เร็วๆ นี้ รวมถึงยังเล็งเห็นโอกาสการผลิตคอลลาเจนจากหนังปลาซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบเสริมโภชนาการในอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง
ไม่เพียงแต่นวัตกรรมจากปลา TU ยังคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้โจทย์ในด้านอื่นๆ ด้วย โดย
ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บมจ.ไทยยูเนี่ยน เปิดเผยว่า บริษัทร่วมกับ
Calysta ผู้ผลิตอาหารสัตว์โปรตีนทางเลือกจากสหรัฐฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารกุ้ง
“ฟีดไคนด์ โปรตีน” ขึ้น โดยโครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความยั่งยืนและทำให้การตรวจสอบย้อนกลับโปร่งใส
อาหารกุ้งฟีดไคนด์ผลิตจากการหมักบ่มก๊าซธรรมชาติจนเกิดโปรตีนเซลล์เดียว ปัจจุบันอยู่ในขั้นทดลองเลี้ยงกับฟาร์มกุ้งของ TU ที่ จ.สตูล เบื้องต้นพบว่ากุ้งที่เลี้ยงด้วยอาหารชนิดนี้มีรสชาติและเนื้อสัมผัสปกติ และมีอัตราแลกเนื้อเท่ากับการเลี้ยงด้วยอาหารกุ้งที่ทำจากปลาป่น
อย่างไรก็ตาม
ยังมีข้อด้อยคือกุ้งจะโตช้ากว่าปกติ 10% และราคาฟีดไคนด์ยังแพงกว่าอาหารกุ้งทั่วไป 14% ดังนั้น TU จะพัฒนาวิจัยต่อไปให้ฟีดไคนด์ โปรตีนมีประสิทธิภาพดีเท่ากับอาหารกุ้งปกติ ก่อนเริ่มทำตลาดอาหารสัตว์น้ำระดับแมส ในระหว่างนี้ฟีดไคนด์จะทำตลาดในกลุ่มกุ้งเลี้ยงสำหรับลูกค้าที่ต้องการการรับประกันว่าเป็นอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ฤทธิรงค์กล่าวว่า ปีนี้ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนมีงบวิจัยและพัฒนา 300 ล้านบาท และเปิดกว้างต่อการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มโปรตีนทุกประเภทเพื่อมุ่งสู่การผลิตสินค้า value-added ซึ่งธีรพงศ์ ชีอีโอของ TU ได้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี 2559 ว่าจะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้าที่มาจากการคิดค้นของศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนเป็น 10% ของรายได้รวมภายในปี 2563
ภาพ: ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป